Thai-Hindi 29 June 2024

 
prinwut
วันที่  29 มิ.ย. 2567
หมายเลข  48015
อ่าน  279

Thai-Hindi 29 June 2024


- (ในเมื่อทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ได้ฟังบ่อยๆ ว่าควรเจริญกุศล ละอกุศล จะให้เข้าใจว่าอย่างไรในเมื่อทุกอย่างเกิดตามเหตุตามปัจจัยบังคับบัญชาไม่ได้ จะเป็นประโยชน์อย่างไร ถ้าเพียรก็ยังเป็นเรา จะไปอธิบายให้คนอื่นเข้าใจว่าอย่างไร) ทุกคนรีบร้อนจะไปตอบคำถาม จะไปคิดเรื่องต่างๆ จะไปไหน?

- ใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธองค์เป็นบุคคล…) ไม่ได้ถามอย่างนั้น ฟังคำถาม ตอบให้ตรงไม่อย่างนั้นจะไม่เข้าใจธรรม ใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ถามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใครแต่ถามว่าใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า ถ้าตอบไม่ตรงจะเข้าใจธรรมได้อย่างไร ต้องตรง นี่เป็นการที่จะเริ่มหัดคิดไตร่ตรองไม่ใช่คิดเองง่ายๆ

- ดิฉันเริ่มถามว่า ใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ทุกคนคิดละเอียดแล้วตอบเพราะว่าที่ทุกคนไม่เข้าใจธรรมเพราะทุกคนไม่เคยคิดละเอียด เปลี่ยนคำถามไม่ได้ (คุณอาช่าตอบคำถามเหมือนเดิมแต่ไม่ได้ตอบว่า ใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ถ้าถามไม่ตรง ก็ตอบไม่ตรง ใครเป็นพระพุทธเจ้า (ก็ยังตอบแบบเดิมว่าพระพุทธเจ้าเป็นใคร) ถามอีกๆ จนกว่าจะตอบตรง

- ถามให้ใกล้เข้ามาอีกนิด ที่นี่เดี๋ยวนี้ใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ไม่มีใคร) ถูกต้อง เพราะอะไร (ทุกคนที่นี่มีอวิชชามาก) เพราะฉะนั้นเราจะตอบคำถามทุกคำถามเอง หรือว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร (ทุกอย่างที่ถามเพื่อที่จะฟังว่า พระพุทธองค์ตรัสว่าอย่างไร) เพราะฉะนั้นต้องพูดคำของพระพุทธองค์ใช่ไหม

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร (ตรัสว่า มีแต่ธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัยบังคับบัญชาไม่ได้) ไม่ลืมใช่ไหม เพราะฉะนั้นความเพียรมีไหม (มีจริง) ความเพียรเป็นธรรมหรือเปล่า (เป็น) เพียรทำสิ่งที่ไม่ดีก็มี เพียรทำสิ่งที่ดีก็มีใช่ไหม (ใช่) เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าสิ่งไหนดีมีประโยชน์ เพียรไหม (เพียร) เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจอะไรเลยแล้วเพียร ดีไหม (ถ้าไม่เข้าใจแล้วเพียรก็ไม่เข้าใจ) เพราะฉะนั้นควรเพียรอะไรเพื่อเข้าใจ (เพียรเพื่อเข้าใจความจริง) เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสผิดใช่ไหม (ไม่ได้ตรัสผิด) เพราะฉะนั้นเข้าใจหรือยังคำที่ถาม

- (ปัญหาที่คุณอาช่าเจอมาคือ บางคำถามตอบแล้วคนถามไม่พอใจคำตอบ ไม่สามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้เพราะยังไม่เข้าใจ ถ้าจะขอเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดท่านอาจารย์คิดว่าอย่างไร) ดิฉันคิดว่า เป็นการถูกต้องที่เริ่มรู้ว่า ธรรมลึกซึ้งฟังครั้งเดียวแล้วเพียงจำ ไม่พอ

- ตั้งต้นอีก ตั้งต้นอีก ตั้งต้นอีก มีไหมในพระไตรปิฎก (คุณมานิชเห็นด้วยและเข้าใจว่า ควรต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งและมีคำถามว่า บางครั้งฟังเข้าใจ บางครั้งฟังก็ไม่เข้าใจ หนทางเป็นอย่างนี้ใช่ไหม) ถามใคร ใครตอบแล้วเชื่อไหม ใครจะตอบดีที่สุด (พระพุทธองค์เป็นผู้ตอบคำถามได้ดีที่สุด) ถูกต้องเพราะฉะนั้นต้องฟังคำว่า พระองค์ตรัสว่าอย่างไรใช่ไหม แล้วเรารู้คำของพระพุทธเจ้าพอที่จะตอบไหม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 29 มิ.ย. 2567

- เพราะฉะนั้นไม่ต้องคำนึงว่าเราจะตอบใครว่าอะไร แต่หมายความว่าเราต้องฟังคำที่ลึกซึ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังแล้วฟังอีกเพราะเท่าที่ฟังยังไม่ลึกซึ้งจึงต้องฟังอีกแล้วเข้าใจอีก ฟังอีกแล้วเข้าใจอีก นี่คือ ความหมายของตั้งต้นอีกตั้งต้นอีกที่จะเข้าใจขึ้นตามลำดับใช่ไหม

- เพราะฉะนั้นฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะเอาไปตอบคำถามของคนอื่นอย่างนั้นหรือ (ความเข้าใจของตนเองสำคัญกว่าที่จะไปตอบคนอื่น) เพราะฉะนั้นตั้งต้นใหม่ ตั้งต้นอีกๆ ใช่ไหม (ความมั่นคงยังไม่พอและยังยึดว่าจะให้คำตอบคนอื่นอย่างไร ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า ความเข้าใจของตนเองสำคัญกว่า เหมือนเวลาถามท่านอาจารย์แล้วท่านก็ให้กลับมาเข้าใจความจริงเดี๋ยวนี้ เราก็ควรจะเป็นอย่างนี้กับทุกคน เตือนตัวเองและเตือนทุกคนว่า สิ่งที่สำคัญคือเข้าใจสิ่งที่มีจริงตอนนี้ ถ้าตอบแบบนี้คนก็จะคิดว่าไม่อยากตอบซึ่งก็เป็นปัญหา)

- เพราะฉะนั้นเขาต้องการอะไร (ทุกวันมีคนมาถามแล้วตอบไม่ได้ อยากรู้ว่า สมัยนั้นพระพุทธองต์ตอบว่าอย่างไร คิดว่าถ้าให้คำตอบไม่ได้ก็ต้องยุติการสนทนา หาทางที่จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น)

- ความจริงสำคัญที่สุดใช่ไหม คุณอาช่าอ่านพระไตรปิฎกเข้าใจหมดหรือยัง (ไม่เข้าใจทั้งหมด) เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นความจริงอย่างนี้ เราก็บอกคนที่ถามเราได้ พระธรรมลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นขอเชิญทุกคนร่วมกันศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ดีกว่าไหม เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่า ทุกคนต้องเป็นคนตรงจึงจะเข้าใจพระธรรม

- (พิจารณาทุกอย่างแล้ว คำตอบคำแรกของท่านอาจารย์ตั้งแต่ต้น คือ อย่าลืมว่า ธรรมลึกซึ้งและละเอียดมาก ความเข้าใจของเราแค่ไหน คุณมานิชถามว่า ความลึกซึ้งของธรรมเป็นเพราะความเข้าใจของเราน้อยหรือว่าอย่างไร) ความลึกซึ้งของอะไร (สิ่งที่มีจริงที่ลึกซึ้ง) ต้องตรงตั้งแต่คำแรกใช่ไหม ต้องไม่ลืมที่เขาพูดเองว่า ความลึกซึ้งของสิ่งที่มีจริง เห็นไหม ต้องคิด ไม่ใช่ถาม แต่ถ้าตอบไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าถามแล้วคิดมีประโยชน์กว่า ตรงไหม ถ้าไม่ตรงอย่างนี้ คิดอะไร (ถ้าไม่ตรงอย่างนี้ก็คิดผิด)

- เพราะฉะนั้นต้องรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ มีประโยชน์อะไรถ้าไม่เข้าใจธรรม (คุณมานิชคิดว่า ฟังธรรมถ้าคิดถึงผลก็ไม่ถูกเพราะฟังเพื่อเข้าใจ) ประโยชน์อะไร (เพื่อลดความไม่รู้) ทำไมต้องลดความไม่รู้ (คุณมานิชตอบว่า เพื่อลดความไม่รู้เพื่อเจริญกุศลให้กุศลเพิ่มขึ้น คุณอาช่าตอบว่า เพื่อลดความเป็นตัวตนเพราะถ้าลดความเป็นตัวตนได้ เข้าใจว่าธรรมเป็นธรรม อกุศลกิเลสอื่นๆ ถึงลดได้)

- อกุศลให้โทษอย่างไร (คุณอาช่าตอบว่าอกุศลที่รู้กันว่าคือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นสิ่งที่ไม่ดี คุณมานิชตอบว่า หลังจากได้ยินคำถามก็รู้ตัวว่าไม่เข้าใจ อยากจะเข้าใจเรื่องนี้)

- โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ดีแล้วอย่างไร (ถ้ายังมีโลภะยังมีโมหะจะบรรลุธรรมไม่ได้จะไปลดกิเลสไม่ได้) เวลานี้ใครไม่ดี (ตอนนี้ถ้าไม่มีความเข้าใจในการสนทนา…) ไม่ได้ถามอย่างนั้น ฟังดีๆ เวลานี้ใครไม่ดี ถามว่าเวลานี้ “ใคร” ไม่ดี (ตัวเอง) เพราะฉะนั้นฟังธรรมทำไม (เพื่อเข้าใจความไม่ดีตรงนี้และลดความไม่ดีตรงนี้) เดี๋ยวนี้กำลังลดความไม่ดีหรือเปล่า (ยังตอบว่า เวลานี้ก็คงจะมี) “คง” หมายความว่าอะไร (มีกิเลส) กิเลสอะไร (คุณอาช่าตอบรวมๆ ว่าทุกอย่างแต่ก็ไม่แน่ใจ อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายกิเลส)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 29 มิ.ย. 2567

- ละกิเลสที่ไม่รู้ว่า ตัวเองไม่ดีหรือยัง (ยังไม่ได้ละ) กิเลสที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่ดี ละยากไหม (ยาก) เพราะฉะนั้นต้องเป็นคนตรง สัจจบารมี ถ้าไม่รู้ตัวว่าไม่ดี จะละความไม่ดีได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่า ตัวเองไม่ดีแล้วจะทำอะไร (พยายามทำอย่างไรที่จะไม่เป็นคนไม่ดี พยายามที่จะเจริญกุศลมากขึ้น) นี่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสว่าจงเพียรละกิเลสหรือเปล่า

- เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจคำทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสคำแรก “ธรรม” พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าเป็นเราแต่ไม่ว่าจะตรัสอะไรเป็นธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงละเอียดอย่างยิ่ง

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อใคร (เพื่อทุกคน) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่อทุกคนจะรู้ความจริง รู้ความจริงแล้วเห็นโทษของกิเลสหรือยัง (เริ่มรู้) ละเอียดขึ้นไหม (ยังไม่ละเอียด) เพราะฉะนั้นยิ่งรู้ละเอียดยิ่งละ ถ้ารู้ไม่ละเอียดก็ยังไม่ละ

- เพราะฉะนั้นประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรมเพื่ออะไร (คุณมานิชตอบว่าเพื่อเจริญความเข้าใจ) เพื่ออะไร (เพื่อเข้าใจความจริงทุกอย่าง) เพื่ออะไร

- คุณมานิชกับคุณอาช่าใครมีกิเลสมากกว่ากัน (ไม่สามารถรู้กิเลสของคุณมานิชได้แต่รู้ตนเองมีกิเลสมาก) เพราะฉะนั้นคุณอาช่าไม่จำเป็นต้องไปละกิเลสของคุณมานิชใช่ไหม และคุณมานิชก็ไม่จำเป็นต้องละกิเลสของคุณอาช่าใช่ไหม กิเลสของคุณอาช่าใครละได้ (ความเข้าใจของตนเอง) เพราะฉะนั้นถ้าเดี๋ยวนี้คุณอาช่าไม่รู้ว่ามีกิเลสหรือเปล่า มีกิเลสอะไร จะละได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จึงต้องเริ่มรู้กิเลสของตัวเอง นี่คือ พระคุณสูงสุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำให้รู้จักกิเลสของตัวเอง

- คุณอาช่าจะละกิเลสไหม (อาช่าไม่สามารถทำได้มีแต่ความเข้าใจที่ละกิเลสได้) เพราะฉะนั้นจะละกิเลสไหม (มีความตั้งใจที่จะละ) วิธีไหน อย่างไร (หนทางเดียวคือเข้าใจความจริง) ความจริงอะไร (ความจริงที่ปรากฏตอนนี้ ที่เข้าใจตอนนี้) ที่เข้าใจตอนนี้คืออะไร (เห็น) เห็นอะไร (รบกวนท่านอาจารย์เริ่มต้นใหม่)

- หมายความว่าคุณอาช่าได้ประโยชน์อะไรจากธรรม มีประโยชน์อะไรที่เข้าใจธรรม (เริ่มเข้าใจความจริงที่ไม่เคยรู้มากก่อนซึ่งมีอยู่ทุกขณะ แต่เพิ่งมารู้ว่า ที่เกิดขึ้นตลอดตั้งแต่เกิดถึงตอนนี้เป็นสิ่งที่มีจริง เช่น เห็น ได้ยิน เพิ่งมาเริ่มเข้าใจตอนนี้)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prinwut
วันที่ 29 มิ.ย. 2567

- แล้วมีกิเลสอะไรที่จะละ (หลังจากฟังพระธรรม เห็นความสำคัญของการลดความไม่รู้) คุณอาช่าอยากจะพูดถึงความไม่ดีของคนอื่นไหม (ต้องเข้าใจอกุศลของตนเอง) ตอบตรงคำถามไหม (โดยรวมหลังจากฟังธรรมแล้วก็ไม่ได้สนใจคนอื่น) ไม่ใช่ ดิฉันถามว่า คุณอาช่าจะพูดเรื่องความไม่ดีของคนอื่นไหม ไม่ใช่ให้เขาอธิบายอะไรแต่ถามว่าคุณอาช่าจะพูดเรื่องความไม่ดีของคนอื่นไหม (ไม่) จริงนะ (สรุปแล้วต้องดูกิเลสของตัวเอง) แต่เขาจะไม่พูดใช่ไหม (ไม่)

- ขณะที่จะไม่พูด จิตอะไร (กุศลวิตก) เวลาไม่พูดกุศลวิตกหรือ (เวลาคิดจะไม่พูด) ขณะนั้นคิดว่าจะไม่พูดเพราะอะไร (เพราะเหตุปัจจัย ถ้าคิดไม่ดีหรือดีกับคนอื่นก็เป็นกุศลอกุศลของตนเอง ถ้าใครทำไม่ดีกับเขาก็เป็นวิบากของตัวเองเข้าใจอย่างนี้) คำถามของดิฉันถามว่าอะไร (ถามว่าที่จะไม่พูดเรื่องไม่ดีของคนอื่นเพราะอะไร) ตอบว่าอย่างไร (ตอบโดยรวมว่า จะพูดหรือไม่พูดด้วยจิตกุศลหรือจิตอกุศลเป็นสำคัญ)

- ถ้าพูดด้วยจิตกุศล พูดอย่างไร (ขอให้ท่านอาจารย์ถามใหม่ ตั้งต้นใหม่) คุณอาช่าจะไม่พูดเรื่องคนอื่นใช่ไหม เพราะอะไร (เพราะกลัวผลของอกุศล) ทีนี้เราจะไม่พูดเรื่องความคิด เราจะพูดเรื่องจริงๆ

- คุณอาช่าเคยพูดเรื่องความไม่ดีของคนอื่นไหม (เยอะมาก) ขณะที่พูดจิตเป็นอะไร (อกุศล) เพราะฉะนั้นขณะนั้นควรรู้ไหมว่าเป็นอกุศลอะไร ถ้าไม่รู้ว่าเป็นอกุศลอะไร จะละไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นต้องตรงต่อความจริงทุกครั้งที่ฟังธรรม

- ทุกครั้งที่พูดเรื่องอกุศลของคนอื่นเพราะอะไร ขณะนั้นเป็นจิตอะไร ถ้าไม่รู้จะละได้ไหม เพราะฉะนั้นธรรมคือสิ่งที่มีจริงทุกขณะในชีวิต ไม่ใช่ศึกษาเรื่องจำนวนเรื่องชื่อ แต่ขณะนั้นไม่รู้สิ่งที่กำลังมีให้รู้ เราจะรู้จักธรรมจริงๆ เมื่อธรรมนั้นกำลังมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้จึงต้องตรงทุกคำที่จะไม่ลืมว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสคำว่าอะไรก็ตามแต่พระองค์ตรัสไว้แล้วว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพื่อแก้ตัวว่า ธรรมเป็นอนัตตาเกิดแล้ว แต่ต้องรู้ว่าทุกขณะเป็นอนัตตา

- การพูดชื่อของธรรม จำนวนของธรรม มีประโยชน์ไหม (สำคัญตรงเข้าใจ) เมื่อไหร่ (ตอนนี้) ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืม ศึกษาธรรมเพื่อรู้ธรรมเดี๋ยวนี้จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม ถ้าเพียงแต่รู้ชื่อจำชื่อแต่ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมจะเป็นประโยชน์ไหม (ต้องเข้าใจว่าเป็นธรรม) จนกว่าจะรู้สิ่งที่เราเรียนกำลังมีเดี๋ยวนี้ อีกนานไหม (นาน) อดทนไหม (ต้องอดทน) ก็ยินดีด้วยในความอดทน อดทนจนกว่าจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ซึ่งอกุศลรู้ไม่ได้

- เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟังเพื่อรู้เพื่อละอกุศลก็ไม่มีการที่จะเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้นหวังว่าทุกคนจะเห็นประโยชน์ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อละสิ่งที่ไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นคำของพระองค์ทุกคำประโยชน์สูงสุดคือ สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เข้าใจใช่ไหม

- ยินดีในกุศลของทุกคนนะคะ สวัสดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prinwut
วันที่ 29 มิ.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

กราบอนุโมทนาคุณสุขินในความเกื้อกูลแปลคำจริงเป็นภาษาฮินดี

กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่น กราบยินดีในกุศลคณะอาจารย์ มศพ ทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 29 มิ.ย. 2567

" กิเลสที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่ดี ละยากไหม"


กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ แต่ละข้อความสำหรับศึกษาจริงๆ ครับ

และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทาน และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 29 มิ.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ