แม้แต่คำเดียว ปรารภแล้วปรารภอีก_สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗

 
เมตตา
วันที่  2 ก.ค. 2567
หมายเลข  48036
อ่าน  252

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 358

[๒๘] วิริยินทรีย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความตั้งหน้า ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคับประคองธุระ วิริยะอินทรีย์คือ วิริยะ วิริยพละ สัมมา.วายามะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิริยินทรีย์ในสมัยนั้น.


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 47

ข้อความบางตอนจากอปัณณกสูตร

ก็ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอนอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เวลากลางวัน ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ๔ ด้วยการจงกรม ๕ ด้วยการนั่ง เวลากลางคืน ตอนยามต้น ก็ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตอนยามกลาง สำเร็จสีหไสยา โดยข้างเบื้องขวาซ้อนเท้าให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำอุฏฐานสัญญา ไว้ในใจ ตอนยามปลาย กลับลุกขึ้นชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอน


[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 309

เรากล่าวการสมาทานเห็นปานนั้นว่า ควรสมาทาน เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความเพียรอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรเริ่มตั้ง เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความเพียรอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้นว่า ควรเริ่มตั้ง

อ.อรรณพ: ตั้งต้นอีก ตั้งต้นอีก มีอยู่ในพระไตรปิฎกว่า ปรารภแล้วปรารภอีก คืออย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร?

อ.วิชัย: เรื่องของการปรารภ ก็เข้าใจถึงการเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งในการฟัง เพราะว่าความเข้าใจที่จะมั่นคงในความเป็นธรรมจริงๆ ก็ยากมาก อย่างข้อความที่ทรงแสดงถึงการปรารถความเพียรอย่างนี้ซึ่งท่านอาจารย์ก็จะให้ความเข้าใจว่า รู้จักความเพียรหรือยังที่จะปรารถ คือการเริ่มต้น อย่างเรากล่าวถึงได้ในการเริ่ม แต่ธรรมอะไรที่จะเป็นการเริ่มต้นครับ อย่างพูดถึงการไม่ท้อถอย หรือความเพียรก็ดูเหมือนกับเราเข้าใจ วิริยะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้เข้าใจการที่จะเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งครับ

ท่านอาจารย์: แม้แต่คำเดียว ปรารภแล้วปรารภอีก เราก็มานั่งตรงนี้เพื่อที่จะปรารภแล้วปรารภอีก ต้องตรงทุกคำ ตรงต่อความเพียร เพียรอะไรพอไหม? จึงต้องปรารภแล้วปรารภอีก จนกว่าจะเข้าใจความละเอียดยิ่งขึ้น

แม้แต่เดี๋ยวนี้ เราก็กำลังปรารภแล้ว ก็ปรารภอีกจริงไหม? นี่แหละ ความลึกซึ้งของพระธรรม ไม่พ้นไปจากขณะนี้ตามความเป็นจริง

แต่ฟังแล้วไม่เข้าใจ ไม่ไตร่ตรอง จะปรารภอะไร? ก็ปรารภสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังให้เข้าใจขึ้น อย่างวิริยะอย่างนี้ใช่ไหม? ตรงต่อความเพียร เพียรอะไร แล้วเพียรทำอะไร จึงต้องปรารภแล้ว ปรารภอีก ให้รู้ว่า เพียรอะไร

ทุก คำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส จะไม่พ้นจากปรารภแล้วปรารภอีก เพราะแค่นี้หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า? แค่นี้หรือเคารพ? แค่นี้หรือประพฤติตามธรรม? เห็นไหม แล้วจะไม่ปรารภแล้วปรารภอีกได้ไหม?

อ.วิชัย: ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะเข้าใจครับ อย่างการศึกษาพระธรรม บางท่านก็หลายสิบปี แต่ก็ยังรู้สึกว่าเป็นผู้ที่ยังฟังแล้วก็ต้องนึกถึงธรรมทุกครั้งที่ฟัง แต่ว่าหลังจากนั้นก็ไม่ได้คิดถึงครับ

ท่านอาจารย์: ทรงธรรมหรือเปล่า ทุกคำ ความละเอียดลึกซึ้งมหาศาล คิดดู ๔ อสงไขยแสนกัปป์หลังจากที่ได้ฟังคำพยากรณ์ ความละเอียดของธรรมนี่ต้องบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะรู้ความจริง และเมื่อรู้แล้วตรัสรู้แล้ว ตรัสว่า ธรรมลึกซึ้ง และทุกคำตรัสจากพระโอษฐ์ด้วยพระองค์เอง

พระองค์ทรงเป็นใคร แล้วเราเคารพโดยวิธีไหน? เคารพโดยไม่ฟังเลย ตรัสว่าอะไรก็ตรัสไปอย่างนั้นหรือ?

เพราะฉะนั้น แม้เดี๋ยวนี้ ทุกคำ ที่เรามาสนทนากัน ก็คือปรารภแล้วปรารภอีก เพื่อที่จะให้เข้าถึงความละเอียดความจริง ความลึกซึ้งของธรรมนั้น นี่แหละ เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

การปรารถความเพียร [สัมมัปปธาน ๔]

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

พระธรรมลึกซึ้ง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nattawan
วันที่ 7 ก.ค. 2567

ยินดีในกุศลวิริยะค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ