ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คืออะไร? [นิทานสูตร]

 
wittawat
วันที่  4 ก.ค. 2567
หมายเลข  48047
อ่าน  120

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 121
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คืออะไร?
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกกรรมไว้ ๑๑ อย่าง (ตามปริยายแห่งพระสูตร) . คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ๑ อุปปัชชเวทนียกรรม ๑ อปรปริยายเวทนียกรรม ๑ ครุกกรรม ๑ พหุลกรรม ๑ ยทาสันนกรรม ๑ กฏัตตาวาปนกรรม ๑ ชนกกรรม ๑ อุปัตถัมภกกรรม ๑ อุปปีฬกกรรม ๑ อุปฆาตกกรรม ๑.


อธิบายทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
บรรดากรรม ๑๑ อย่างนั้น ในบรรดา (ชวนะ) จิต ๗ ชวนะ ชวนเจตนาดวงแรกที่เป็นกุศลหรืออกุศลในชวนวิถีแรก ชื่อว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม.
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนั้น ให้วิบากในอัตภาพนี้เท่านั้น ที่เป็นกุศลอำนวยวิบากในอัตภาพนี้ เหมือนกรรมของกากวฬิยเศรษฐีและปุณณกเศรษฐี เป็นต้น ส่วนที่เป็นอกุศล (อำนวยผลในอัตภาพนี้) เหมือนกรรมของนันทยักษ์ นันทมาณพ นันทโคฆาต ภิกษุโกกาลิกะ พระเจ้าสุปปพุทธะ พระเทวทัต และนางจิญจมาณวิกา เป็นต้น. แต่เมื่อไม่สามารถให้ผลอย่างนั้น จะเป็นอโหสิกรรมไป คือ ถึงความเป็นกรรมที่ไม่มีผล กรรมนั้นพึงสาธกด้วยข้อเปรียบกับพรานเนื้อ.


อุปมาด้วยนายพรานเนื้อ
เปรียบเหมือนลูกศรที่นายพรานเนื้อ เห็นเนื้อแล้วโก่งธนูยิงไป ถ้าไม่พลาด ก็จะทำให้เนื้อนั้นล้มลงในที่นั้นเอง ลำดับนั้น นายพรานเนื้อก็จะถลกหนังเนื้อนั้นออก เฉือนให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ถือเอาเนื้อไปเลี้ยงลูกเมีย แต่ถ้าพลาด เนื้อจะหนีไป ไม่หันกลับมาดูทิศนั้นอีก ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็พึงทราบฉันนั้น. อธิบายว่า การกลับได้วาระแห่งวิบากของทิฏฐิธรรมเวทนียกรรม เหมือนกับลูกศรที่ยิงถูกเนื้อโดยไม่พลาด การกลับกลายเป็นกรรมที่ไม่มีผล เหมือนลูกศรที่ยิงพลาดฉะนั้น ฉะนี้แล.

กราบอนุโมทนา


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ