พหุลกรรม คืออะไร? [นิทานสูตร]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 124
พหุลกรรม คืออะไร?
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกกรรมไว้ ๑๑ อย่าง (ตามปริยายแห่งพระสูตร) . คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ๑ อุปปัชชเวทนียกรรม ๑ อปรปริยายเวทนียกรรม ๑ ครุกกรรม ๑ พหุลกรรม ๑ ยทาสันนกรรม ๑ กฏัตตาวาปนกรรม ๑ ชนกกรรม ๑ อุปัตถัมภกกรรม ๑ อุปปีฬกกรรม ๑ อุปฆาตกกรรม ๑.
อธิบายพหุลกรรม
ส่วนในกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย กรรมใดมาก กรรมนั้นชื่อว่า พหุลกรรม. พหุลกรรมนั้น พึงทราบด้วยอำนาจอาเสวนะที่ได้แล้วตลอดกาลนาน อีกอย่างหนึ่ง ในฝ่ายกุศลกรรม กรรมใดที่มีกำลังสร้างโสมนัสให้ ในฝ่ายอกุศลกรรม สร้างความเดือดร้อนให้ กรรมนั้นชื่อว่า พหุลกรรม. อุปมาเสมือนหนึ่งว่า เมื่อนักมวยปล้ำ ๒ คนขึ้นเวที คนใดมีกำลังมาก คนนั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งล้ม (แพ้) ไป ฉันใด พหุลกรรมนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะทับถมกรรมพวกนี้ที่มีกำลังน้อย (ชนะ) ไป. กรรมใดมากโดยการเสพจนคุ้น หรือมีกำลังโดยอำนาจทำให้เดือดร้อนมาก กรรมนั้นจะให้ผล เหมือนกรรมของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ฉะนั้น.
เรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย
เล่ากันมาว่า พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยนั้น รบพ่ายแพ้ในจูฬังคณิยยุทธ์ ทรงควบม้าหนีไป. มหาดเล็กชื่อว่าติสสอมาตย์ของพระองค์ ตามเสด็จไปได้คนเดียวเท่านั้น. ท้าวเธอเสด็จเข้าสู่ดงแห่งหนึ่ง ประทับนั่งแล้ว เมื่อถูกความหิวเบียดเบียน จึงรับสั่งว่า พี่ติสสะ เราสองคนหิวเหลือเกิน จะทำอย่างไร? มีอาหารพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้นำพระกระยาหารใส่ขันทองใบหนึ่ง ซ่อนไว้ในระหว่างผ้าสาฎกมาด้วยพระเจ้าข้า. ถ้าอย่างนั้น จงนำมา. เขาจึงนำพระกระยาหารออกมาวางตรงพระพักตร์พระราชา. ท้าวเธอทรงเห็นแล้วตรัสสั่งว่า จงแบ่งออกเป็น ๔ ส่วนซิพ่อคุณ. เขาทูลถามว่า พวกเรามี ๓ คน เหตุไฉนพระองค์จึงให้จัดเป็น ๔ ส่วน. พี่ติสสะ เวลาที่เรานึกถึง ตัวเราไม่เคยบริโภคอาหารที่ยังไม่ได้ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าก่อนเลย ถึงวันนี้ เราก็จักไม่ยอมบริโภคโดยยังไม่ได้ถวายอาหารแก่พระผู้เป็นเจ้า. เขาจึงจัดแบ่งอาหารออกเป็น ๔ ส่วน. พระราชาทรงรับสั่งว่า ท่านจงประกาศเวลา. ในป่าร้าง เราจักได้พระคุณเจ้าที่ไหน พระพุทธเจ้าข้า. ข้อนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน ถ้าศรัทธาของเรายังมี เราจักได้พระคุณเจ้าเอง ท่านจงวางใจ แล้วประกาศเวลาเถิด. เขาจึงประกาศถึง ๓ ครั้งว่า ได้เวลาอาหารแล้ว ขอรับพระคุณเจ้า ได้เวลาอาหารแล้ว ขอรับพระคุณเจ้า.
ลำดับนั้น พระโพธิยมาลกมหาติสสเถระ ได้ยินเสียงนั้นด้วยทิพยโสตธาตุ รำพึงว่า เสียงนี้ที่ไหน? จึงรู้ว่า วันนี้พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยแพ้สงคราม เสด็จเข้าสู่ดงดิบ ประทับนั่งแล้ว ให้แบ่งข้าวขันเดียวออกเป็น ๔ ส่วน ทรงรำพึงว่า เราจักบริโภคเพียงส่วนเดียว จึงให้ประกาศเวลา (ภัตร) คิดว่า วันนี้เราควรทำการสงเคราะห์พระราชา แล้วมาโดยมโนคติ ได้ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระราชา. พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทรงมีพระทัยเลื่อมใส รับสั่งว่า เห็นไหมเล่า พี่ติสสะ ดังนี้ ไหว้พระเถระแล้ว ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้บาตร. พระเถระนำบาตรออกแล้ว พระราชาทรงเทอาหารส่วนของพระเถระ พร้อมกับส่วนของพระองค์ลงในบาตร แล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าความลำบากด้วยอาหาร จงอย่ามีในกาลไหนๆ ทรงไหว้ แล้วประทับยืนอยู่. ฝ่ายติสสอมาตย์คิดว่า เมื่อพระลูกเจ้าของเราทอดพระเนตรอยู่ เราจักไม่สามารถบริโภคได้ จึงได้เทส่วนของตนลงไปในบาตรพระเถระเหมือนกัน. ถึงม้าก็คิดว่า ถึงเราก็ควรถวายส่วนของเราแก่พระเถระ. พระราชาทอดพระเนตรดูม้าแล้วทรงทราบว่า ถึงม้านี้ ก็ประสงค์จะใส่ส่วนของตนลงในบาตรของพระเถระเหมือนกัน จึงได้เทส่วนแม้นั้นลงในบาตรนั้นเหมือนกัน ไหว้แล้วส่งพระเถระไป พระเถระถือเอาภัตรนั้นไป แล้วได้ถวายแด่ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ต้น โดยแบ่งปั้นเป็นคำๆ .
แม้พระราชาทรงพระดำริว่า พวกเราหิวเหลือเกินแล้ว จะพึงเป็นการดีมาก ถ้าหากพระเถระจะส่งอาหารที่เหลือมาให้. พระเถระรู้พระราชดำริของพระราชาแล้ว จึงทำภัตรที่เหลือให้พอเพียงแก่คนเหล่านั้นจะดำรงชีวิตอยู่ได้ จึงโยนบาตรไปในอากาศ. บาตรมาวางอยู่ที่พระหัตถ์ของพระราชาแล้ว. แม้อาหารก็พอที่คนทั้ง ๓ จะดำรงชีพอยู่ได้. ลำดับนั้น พระราชาทรงล้างบาตรแล้วทรงดำริว่า เราจักไม่ส่งบาตรเปล่าไป จึงทรงเปลื้องพระภูษา ชุบน้ำแล้ววางผ้าไว้ในบาตร ทรงอธิษฐานว่า ขอบาตรจงประดิษฐานอยู่ในมือแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเรา แล้วทรงโยนบาตรไปในอากาศ. บาตรไปประดิษฐานอยู่ในมือของพระเถระแล้ว.
ในเวลาต่อมา เมื่อพระราชาให้ทรงสร้างมหาเจดีย์สูง ๑๒๐ ศอก บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่ ๘ แห่งพระตถาคตเจ้าไว้ เมื่อพระเจดีย์ยังไม่ทันเสร็จ ก็ได้เวลาใกล้สวรรคต. ลำดับนั้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์สาธยายโดยนิกายทั้ง ๕ ถวายพระองค์ผู้บรรทมอยู่ข้างด้านทิศใต้แห่งมหาเจดีย์ รถ ๖ คัน จากเทวโลก ๖ ชั้น จอดเรียงรายอยู่ในอากาศ เบื้องพระพักตร์ของพระราชา พระราชาทรงรับสั่งว่า ท่านทั้งหลาย จงนำสมุดบันทึกการทำบุญมาแล้วรับสั่งให้อ่านสมุดนั้นมาแต่ต้น. ครั้นไม่มีกรรมอะไรที่จะให้พระองค์ประทับพระทัย จึงตรัสสั่งว่า จงอ่านต่อไปอีก. คนอ่าน อ่านต่อไปว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ผู้ปราชัยในจุลลังคณิยยุทธสงความ เสด็จเข้าดงประทับนั่ง ถวายภิกษาแก่ท่านพระโพธิมาลกมหาติสสเถระ โดยทรงแบ่งพระกระยาหารขันเดียวออกเป็น ๔ ส่วน. พระราชารับสั่งให้หยุดอ่าน แล้วซักถามภิกษุสงฆ์ว่า พระคุณเจ้าข้า เทวโลกชั้นไหนเป็นรมณียสถาน. ภิกษุสงฆ์ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร ดุสิตพิภพเป็นที่ประทับของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์. พระราชาสวรรคตแล้ว ประทับนั่งบนราชรถที่มาแล้วจากดุสิตพิภพนั่นแหละ ได้เสด็จถึงดุสิตพิภพแล้ว. นี้เป็นเรื่อง (แสดงให้เห็น) ในการให้วิบากของกรรมที่มีกำลัง.
ขออนุโมทนา