เหตุของ สมาธิ คืออะไรครับ?
ผมเห็นตนเป็นผู้ที่ไม่มีสมาธิที่ตั้งอยู่ได้นาน ฟุ้งซ่านง่าย เช่น ในเวลาเรียน ทำให้การเรียนไม่ได้ผล จึงอยากทราบว่า
๑. เหตุของสมาธิ คืออะไรครับ
๒. อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สมาธิตั้งอยู่ได้นานครับ
ควรทราบตามหลักความจริงว่า สมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) เกิดกับจิตทุกขณะ ขณะที่จิตเป็นอกุศล ก็มีสมาธิเกิดร่วมด้วย แต่สมาธินั้น เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่สงบขณะที่จิตเป็นกุศล ก็มีสมาธิเกิดร่วมด้วย แต่สมาธินั้นเป็นสัมมาสมาธิ สงบจากอกุศล โดยมากในอรรถกถา อธิบายเหตุใกล้ให้เกิดสัมมาสมาธิ คือสุข ดังข้อความในอรรถกถาอภิธรรมดังนี้
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 326
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า สมาธิ กล่าวคือเอกกัคคตาแห่งจิตนี้ มีความไม่ซ่านไปเป็นลักษณะ หรือมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ มีการประมวลมาซึ่งสหชาตธรรม ทั้งหลายเข้าด้วยกัน เป็นรสดุจน้ำประมวลจุรณสำหรับอาบน้ำ (ทำจุรณให้เป็นก้อน) มีความเข้าไปสงบเป็นปัจจุปัฎฐาน หรือมีญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน คือว่า บุคคลมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมทราบชัด ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ว่าโดยพิเศษ สมาธิมีสุขเป็นปทัฏฐาน บัณฑิตพึงทราบ ความตั้งอยู่แห่งจิต เหมือนการตั้งอยู่แห่งเปลวประทีปทั้งหลายที่ปราศจากลม ฉะนั้น.
สมาธิ หมายถึง ความตั้งมั่น ใจจดจ่ออยู่ที่อารมณ์เดียวนานๆ สมาธิ มี 2 อย่าง มิจฉาสมาธิและสัมมาสมาฺธิ มิจฉาสมาธิ ก็ทำให้ความจำดี แต่ขณะนั้น ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะมีโลภะ ความต้องการให้จิตสงบ ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ แม้ว่าจะทำให้เรียนดี ความจำดี แต่ก็ไม่คุ้มกับความเห็นผิดค่ะ ไม่ทำดีกว่าค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ก็ขึ้นอยู่กับว่า อยากจะตั้งมั่นได้นาน แต่เป็นมิจฉาสมาธิ หรือเป็นอกุศล หรือว่าจะเป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็นไปในทางกุศล ซึ่งในข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดงว่า สุข เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ หรือเหตุบางอย่าง ทำให้เกิดสมาธิ ขอให้เข้าใจว่าหมายถึง สัมมาสมาธิ คือเป็นกุศล และเป็นสมาธิที่เกิดร่วมกับปัญญาด้วย ดังนั้น การมีสมาธิไม่ได้หมายความว่าดี เพราะเป็นไปในทางอกุศลก็ได้ แต่การเข้าใจความจริง คือประกอบด้วยปัญญานั้น ประเสริฐกว่า ขณะนั้น ก็มีสมาธิด้วย เป็นสัมมาสมาธิครับ ซึ่งจะขอแสดงเหตุ ให้เกิดสัมมาสมาธิครับ แต่ขอแนะนำว่า ขอให้เริ่มศึกษาธรรม ให้เข้าใจ ปัญญาประเสริฐกว่าทุกอย่าง และขณะนั้นก็ไม่ปราศจากสมาธิเลย ลองอ่านดูนะ
เรื่อง สัมมาสมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา และปัญญาก็เป็นเหตุให้เกิดสัมมาสมาธิ
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔-หน้าที่ 380
ข้อความบางตอนจาก อรรถกถาสัมพหุลสูตร
สองบทว่า นตฺถิ ปญฺา ความว่า ก็ปัญญาซึ่งมีลักษณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง" ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่เพ่ง.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์