Thai-Hindi 13 July 2024

 
prinwut
วันที่  13 ก.ค. 2567
หมายเลข  48123
อ่าน  223

Thai-Hindi 13 July 2024


- (คุณอาช่าขอความเข้าใจเรื่องอัพยากตจิตและเรื่องอินทรีย์) ทีละเรื่องทีละคำเพื่อความเข้าใจจริงๆ โดยครบถ้วนเพราะฉะนั้นคำไหนก่อน (ขอเป็นอัพยากต)

- เพราะฉะนั้นถ้าจะจำแนกธรรมทั้งหมดออกเป็น ๓ ก็ได้ เป็น ๒ ก็ได้ เป็น ๕ เป็น ๗ เป็น ๑๐ ได้หมด แต่เมื่อตามความเป็นจริงสามารถจะจำแนกออกได้ตามประเภทเพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดแบ่งเป็นกุศลธรรม “กุสลา ธัมมา” ธรรมที่เป็นกุศล “อกุสลา ธัมมา” ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่ไม่ใช่ทั้งกุศลและอกุศลเป็น “อัพยากตา ธัมมา”

- ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องสิ่งที่มีจริงอะไรก็ตามทั้งหมดต้องเป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน ๔ อย่าง อย่าลืม ธรรมเป็นธรรมไม่ใช่เราไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ศึกษาเพื่อเข้าใจถูกสิ่งที่มีจริงๆ ทุกวันเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

- ธาตุรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานเป็นจิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกเป็นสภาพรู้แต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้นไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน กว่าจะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกวันไม่ใช่เราไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะต้องมีความเคารพในการที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มี

- ถ้าไม่มั่นคงว่าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เมื่อได้เจริญอบรมความดีเป็นบารมีนานเท่าไหร่กว่าจะตรัสรู้ความจริงที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้ ถ้าไม่รู้พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมที่ลึกซึ้งจะไม่สามารถเข้าใจธรรมได้เลย

- เพราะฉะนั้นก่อนอื่นทุกครั้งที่จะฟังพระธรรมต้องเคารพสูงสุดจึงด้วยความเคารพในความลึกซึ้งที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ฟังพระธรรมต้องด้วยความเคารพในความลึกซึ้ง ต้องรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ฟังเพื่อละสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด

- เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมทุกครั้งว่า ฟังเพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความไม่ดีที่รู้ว่า เพราะไม่รู้จึงทำสิ่งที่ไม่ดีและความไม่ดีทั้งหมดจะละได้ต่อเมื่อค่อยๆ รู้จักคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและฟังเพื่อละ

- เวลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะกล่าวธรรม พระองค์ตรัสว่า “จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” เพราะฉะนั้นทุกคนไม่ลืมก่อนที่จะตรัสพระธรรมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า จงฟังจงใส่ใจให้ดีพระองค์จะกล่าว

- ฟังทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเข้าใจแล้วทรงธรรมไว้ เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นอนัตตาไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ใช่เราเมื่อฟังด้วยความเข้าใจถูกว่า ไม่ใช่เราเป็นธรรมก็จะรู้ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเป็นธรรมทั้งหมด

- กุสลา ธัมมา หมายความถึงสภาพที่สามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นกุศล ความเข้าใจถูกว่า ไม่มีเรา สิ่งนั้นที่มีเป็นธรรมแต่ละ ๑ เพราะฉะนั้นธรรมที่มีจริงเป็นธรรมที่ดีงามเป็น “กุศลธรรม”

- ต้องไตร่ตรอง มีสิ่งที่ปรากฏแล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้นเป็นธรรมที่ดีไหมถ้าไม่รู้ ความเข้าใจถูกความเห็นถูกเป็น “กุศลธรรม” เพราะฉะนั้นกุศลธรรมมีหลายอย่าง รู้ความจริงจึงไม่ติดข้อง การไม่ติดข้องเป็นธรรม

- ความสำคัญตนเข้าใจว่า ตนเก่งตนดีหรือตนด้อยตนไม่เก่งเป็นอกุศลธรรม แต่ถ้ารู้จริงก็เป็นกุศลธรรม เพราะฉะนั้นฟังคำว่า “กุศลธรรม” ไม่ใช่ให้ไม่รู้อะไรเลยแต่เป็นผู้ที่เริ่มเข้าใจว่า อะไรเป็นธรรมที่ดีแต่ไม่ใช่เรา

- ความเป็นเพื่อนหวังดีกับทุกคนเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม (เป็นกุศล) เพราะฉะนั้นก็เริ่มรู้จักกุศลว่า ไม่ใช่เรา ถ้ารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นกุศลก็เป็น "กุสลา ธัมมา"

- ความติดข้องต้องการลาภ ต้องการยศ ต้องการชื่อเสียง ต้องการความเป็นใหญ่เป็นกุศลหรืออกุศล (เป็นอกุศล) การเสียสละความสุขของเราเพื่อคนอื่นเป็นประโยชน์แก่คนอื่นเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันทุกวันแสดงให้รู้ว่า ถ้ามีความเข้าใจถูกก็เป็นธรรมที่เป็นกุศลธรรมและอกุศลธรรม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 13 ก.ค. 2567

- จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเห็นได้ยินเป็นกุศลไม่ได้เป็นอกุศลไม่ได้เพราะเป็น “วิปากะ” จึงเป็นอัพยากตะ ธรรมใดก็ตามที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลธรรมนั้นเป็นอัพยากตะ

- เพราะฉะนั้นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้มีความเห็นถูกต้องในธรรม ๓ อย่างคือ “กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา” เพราะฉะนั้นความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยทำให้เพิ่มความเข้าใจขึ้น

- พระอรหันต์มีกุศลจิตไหม (ไม่มี) เพราะอะไร (เพราะว่าจิตของพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต) ทำไมเป็นกิริยาจิต (ไม่รู้เหตุผล) เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องมั่นคงในทีละคำ ไม่ต้องรีบร้อนไปรู้อะไรทั้งหมดโดยที่ไม่เข้าใจแต่ละ ๑

- เพราะฉะนั้นต้องเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่า กุศลจิตเป็นสภาพธรรมที่ดีงามที่เป็นเหตุให้เกิดผล อกุศลธรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดผลด้วยที่ต่างกัน

- ถ้าทุกคนตายเดี๋ยวนี้ผลของกรรมไม่ดีที่ได้ทำจะเป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิที่ไม่ดีไม่สามารถที่จะเจริญธรรมได้มากขึ้น เงินทองไม่สามารถที่จะทำให้ไม่เกิดในอบายภูมิได้ ความติดข้องในทรัพย์สมบัติเงินทองไม่สามารถทำให้เกิดในภพภูมิที่ดีได้ เพราะฉะนั้นไม่สงสัยเลยว่า กุศลเป็นเหตุให้เกิดดี อกุศลเป็นเหตุให้เกิดไม่ดี

- เพราะฉะนั้นเห็นงู เห็นนก เห็นปลา รู้ได้ว่าทำไมเกิดเป็นนก เป็นงู เป็นปลาเพราะฉะนั้นเป็นนก เป็นงู เป็นปลาไม่ดีแต่ภูมิที่ไม่ดีที่สุดคือ นรก

- นรกมีหลายนรกต่างๆ กันไป อเวจีมีไฟไหม้ตลอดเวลาถ้าน้อยกว่านั้นที่จะตกอเวจีก็เป็นเปรต ผลของอกุศลทำให้รูปร่างไม่ดีและหิวตลอดเวลาเพราะโลภตลอดเวลา น้อยความเปรตก็เป็นอสรุกาย

- อสุรกายมีผลของกรรมที่ไม่ทำให้ตกนรก ไม่ทำให้เป็นเปรตแต่เป็นภพภูมิที่ไม่มีความสนุกสนานรื่นเริง ไม่มีวิชาความรู้อย่างในโลกมนุษย์ที่เรามักจะรู้กันโดยใช้คำว่า “ผี”

- เพราะฉะนั้นทุกคนก็รู้จักคำว่า “ผี” ก็เป็นภูมิหนึ่งที่ลำบากน้อกว่านั้นก็เป็น “เดรัจฉาน” ลำบากน้อยกว่า นรก เปรต อสุรกาย นรกต่ำสุด เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน ภาษาไทย “เดรัจฉาน” ภาษบาลีอาจจะใช้คำว่า “ติรัจฉาน” นก งู ปู ปลา เป็ด ไก่

- แต่ทุกภูมิต่างกันออกไปมากกว่านี้ นี่กล่าวถึงใหญ่ๆ แต่ผลของกรรมต่างกันวิจิตรมาก เกิดเป็นสุนัขรูปร่างต่างกันมาก ความต่างกันของกรรมทำให้สุนัขบางตัวนอนเตียงทองคำ บางตัวก็น่าเกลียดนอนกลางถนนไม่มีอาหารกิน

- เพราะฉะนั้นทุกขณะจิตต่างกันมากตามการสะสมตามกรรม บางคนเกิดมายากจนมากไม่มีข้าวกินต้องไปเก็บข้าวที่คนอื่นทิ้งแต่ไม่มีใครรู้การสะสมที่ดีและชั่วในแสนโกฏกัปป์ กรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วทำให้ได้พบพระพุทธเจ้าและเป็นพระโสดาบันได้

- เพราะฉะนั้นไม่ประมาทความเข้าใจจากการฟังธรรมที่ละเอียดแต่ละครั้งเพื่อเข้าใจความละเอียดความลึกซึ้งของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ความละเอียดลึกซึ้งของธรรมเดี๋ยวนี้ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังคำของพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ ถ้าไม่เข้าใจถูกต้องก็ประพฤติตามไม่ได้แน่นอน

- ถ้าฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามก็เสียประโยชน์ในการที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเพื่อค่อยๆ ประพฤติตามเมื่อเข้าใจแล้ว

- เพราะฉะนั้นกุสลา ธัมมาคือ ธรรมที่ดีงามทั้งหมดเปลี่ยนไม่ได้ เมื่อใช้คำว่า “กุสลาธัมมา” รู้ว่าเป็นธรรมที่เป็นเหตุซึ่งต้องมีผลแน่นอน ผลจะเกิดช้าหรือเร็วไม่มีใครสามารถทำได้เลยนอกจากกรรมที่ได้ทำแล้วเป็นกรรมที่เล็กน้อยหรือประมาณมากรุนแรงมาก

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 13 ก.ค. 2567

- เพราะฉะนั้นทุกคนเริ่มเข้าใจด้วยตัวเองว่า ทุกขณะที่เห็นที่ดี ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดีเป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้วที่เป็นกรรมดีหรือไม่ดี

- วันนี้ใครไม่ดีบ้าง (คุณอาช่าตอบว่าตัวเองไม่ดี คุณมานิชตอบว่า รู้ได้ว่าตัวเองเป็นอกุศลส่วนใหญ่เป็นกุศลน้อยมาก) เพราะฉะนั้นรู้ว่าตัวเองไม่ดีมีประโยชน์ไหม (มีประโยชน์และเมื่อรู้แล้วก็จะพยายามทำความดี) เพราะฉะนั้นประโยชน์สูงสุดที่จะละความไม่ดีก็ต่อเมื่อรู้ความจริงว่า ขณะนั้นไม่ดีจึงสามารถที่จะเห็นโทษและละได้

- ขณะที่ทำดี ละความไม่ดี เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม (จะรู้คุณของพระพุทธองค์) ถ้าทำความดีมากขึ้นเพราะเห็นคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำให้เข้าใจจนทำความดีมากขึ้นไหม ทุกครั้งที่สามารถละความไม่ดี เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสูงสุดที่ทำให้เป็นไปได้

- ถ้าไม่ละความไม่ดี ศึกษาธรรมรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม (ถ้าอกุศลไม่ลดลงแสดงว่าที่ฟังมาก็ไม่เข้าใจ) และไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีใครรู้นอกจากตัวเองในขณะที่เป็นกุศลและอกุศล

- เพราะฉะนั้นพระธรรมเริ่มทำให้เป็นคนที่ตรงต่อความจริง เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่าอะไรเป็นกุศลธรรม อะไรเป็นอกุศลธรรม สามารถเข้าใจว่าอะไรเป็นอัพยากตธรรมได้ไหม

- (คุณมานิชถามว่า คุณของพระพุทธองค์ ความสำคัญของการแสดงความเคารพพระองค์ หมายความว่า พระพุทธองค์องค์ก่อนๆ เราก็ต้องเคารพด้วยใช่ไหม คุณสุคินบอกว่าไม่เกี่ยวกับว่าต้องทำหรือไม่ แต่แสดงให้เห็นว่ามีความเข้าใจธรรมมากน้อยแค่ไหนและรู้ว่า ที่เราฟังนี้มาจากใคร ถ้าไม่มีคำสอนคงไม่รู้ความจริงตรงนี้ ขณะที่เข้าใจก็คือเคารพขณะนั้น) จะเห็นได้ว่าความไม่รู้ทำให้เกิดแม้ความสงสัย

- เข้าใจความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหรือ จึงเคารพพระองค์นี้ไม่เคารพพระองค์นั้น ลองคิดดู เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้แต่ไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า

- เพราะฉะนั้นรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง (ยังไม่รู้จัก) ยังไม่รู้หรือ เพราะฉะนั้นฟังแล้วเริ่มรู้คุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหรือยัง (เริ่มรู้จัก) แล้วจะเคารพไหม จะเคารพอย่างไร (คุณมานิชตอบว่า แสดงความเคารพโดยการเจริญความเข้าใจให้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น คุณอาช่าตอบว่า โดยการเจริญกุศลให้เพิ่มขึ้นและลดอกุศล)

- เพราะฉะนั้นด้วยความเคารพในทุกคำที่ได้ฟังว่าเป็นความจริงและเมื่อมีความเข้าใจละเอียดขึ้น เห็นในพระมหากรุณาคุณที่ทำให้สิ่งที่ไม่ดีสามารถที่จะค่อยๆ หมดไปได้เมื่อมีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ ฟังด้วยความเคารพเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม

- เพราะฉะนั้นค่อยๆ เข้าใจความจริงแล้วประพฤติปฏิบัติตามเป็นการแสดงความจริงว่า เพราะเข้าใจจึงเริ่มประพฤติปฏิบัติตาม ถูกไหม เพราะฉะนั้นเริ่มต้นฟังแล้วเคารพโดยการไตร่ตรองพระองค์ตรัสว่า กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา แล้วยังมีอัพยากตา ธัมมา หมายความว่าอะไร อะไรเป็นอัพยากตา ธัมมา (เข้าใจว่า กุสลา ธัมมาเป็นกุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา เป็นอกุสลา ธัมมา และที่เหลือที่ไม่ใช้กุศลอกุศลเป็นอัพยากตา ธัมมา)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prinwut
วันที่ 13 ก.ค. 2567

- ถูกต้อง เพราะฉะนั้น อัพยากตา ธัมมา มีอะไรบ้าง (มี ๔ มีวิปากธรรม กิริยาธรรมและรูป) มีวิบากจิต วิบากเจตสิกและอะไร (มีกิริยาจิต เจตสิก) กิริยาจิตเจตสิก ๒ (มีรูปและมีนิพพาน) ทุกรูปหรือเปล่า (ทุกรูป) ถูกต้องเพราะฉะนั้น เริ่มเป็นคนที่เคารพในทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เปลี่ยนไม่ได้

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงให้รู้ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด ขณะแรกเป็นอะไรที่เกิดในโลกนี้ ขณะแรกที่เกิดเกิดเป็นอะไร (ขณะแรกเป็นอัพยากตธรรม) ประเภทไหน (เป็นวิบากจิต) วิบากจิตเจตสิก เพราะฉะนั้นเริ่มรู้ความจริงตั้งแต่แรกว่า ไม่มีใครเลยมีแต่ธรรมที่เป็นผลของกุศลธรรมอกุศลธรรม

- เพราะฉะนั้นแม้จิตขณะแรกที่เป็นผลของกรรม จิตนั้นประมวลทุกสิ่งทุกอย่างในแต่ละชาติที่สามารถจะทำให้เป็นผลของกรรมที่ได้รับผลจากสิ่งที่ทำมาแล้วอะไรบ้าง

- การเกิดเป็นม้ากัณฐกะเป็นผลของอะไร (อกุศลกรรม) แต่ม้ากัณฐกะสะสมกุศลกรรมปัญญาทุกสิ่งทุกอย่างมาบ้างหรือเปล่า (สะสมมา) สะสมมากที่จะทำให้เมื่อตายจากชาติที่เป็นม้ากัณฐกะแล้วเกิดเป็นเทวดา เมื่อเป็นเทวดาแล้วมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟังธรรมเป็นพระโสดาบัน ตอนที่เป็นม้ากัณฐกะแม้จะสะสมธรรมได้ยินเสียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้

- เพราะฉะนั้นไม่ลืมคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสก่อนปรินิพพานว่า “จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” แม้กุศลเพียงเล็กน้อยก็ไม่ประมาททำทันที เพราะฉะนั้นเพียงเล็กน้อย แต่เล็กน้อยๆ ก็เพิ่มขึ้นจนมาก ถ้าเคารพคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ไม่ลืม” คำของพระองค์

- ถ้าไม่ชอบคนอื่น เขาไม่ดี ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร (เป็นอกุศลของเราเอง) และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร (พระพุทธองค์สอนว่า ถ้าคิดไม่ดีเกี่ยวกับคนอื่น อกุศลเราจะเพิ่ม) เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ไม่ลืมคำของพระองค์ขณะนั้นจิตเป็นกุศลใช่ไหม

- เพราะฉะนั้นถ้าคนอื่นไม่ดีขณะนั้นใจเป็นอย่างไรและทำอะไร (จะพยายามไม่โกรธ) เห็นใจคนที่ทำไม่ดีเพราะเขาไม่รู้ (คิดอย่างนั้นก็ได้) หมายความว่าอะไร (คิดเห็นใจคนทำไม่ดีอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวก็ได้) ก็ได้แล้วได้หรือยัง (บางทีก็เป็นอย่างนี้) หมายความว่าอะไร (วันๆ บางทีเขาก็คิดอย่างนี้) เขาหรือธรรม (ตอนนั้นก็เป็นธรรม) แสดงว่าความเข้าใจยังไม่พอ เพราะฉะนั้นประโยชน์อย่างยิ่งคือ รู้ว่าฟังพระธรรมเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม

- เพราะฉะนั้นความเข้าใจเป็นสภาพนามธรรมที่เป็นเจตสิกที่เป็นปัญญาเจตสิกเข้าใจถูก เมื่อปัญญารู้ความจริงก็เป็นหนทางที่จะทำสิ่งที่ดี ถ้าไม่มีความเข้าใจซึ่งเป็นปัญญาจะเปลี่ยนจากความไม่ดีให้เป็นสิ่งที่ดีได้ไหม (ไม่ได้)

- เพราะฉะนั้นขณะที่ปัญญาเกิดปัญญาเป็นใหญ่เป็น “ปัญญินทรีย์” เพราะฉะนั้นสภาพที่เป็น “อินทรีย์” หมายความถึงสภาพที่เป็นใหญ่ในขณะที่เกิด ธรรมละเอียดมากต้องเข้าใจและไตร่ตรอง สภาพที่เป็นใหญ่เป็นนามธรรมก็มีเป็นรูปธรรมก็มี สภาพที่เป็นใหญ่ต้องเป็นใหญ่ในขณะที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในบรรดาธรรมทั้งหมดสภาพธรรมอะไรเป็นใหญ่บ้างพระองค์ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

- เพราะฉะนั้นดี๋ยวนี้มีธรรมแน่นอนมีจิต เจตสิก รูป ขณะนี้อะไรเป็นใหญ่ นึกออกไหมเดี๋ยวนี้มีจิต มีเจตสิก มีรูป เดี๋ยวนี้อะไรเป็นใหญ่ ขณะเกิดอะไรเป็นใหญ่ ทุกขณะอะไรเป็นใหญ่ (เห็นเป็นจิต เป็นอินทรีย์)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prinwut
วันที่ 13 ก.ค. 2567

- เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นจะมีอะไรๆ ปรากฏได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นจะขาดสภาพที่เป็นใหญ่ในการเกิดขึ้น “รู้แจ้ง” สิ่งที่กำลังปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นเริ่มรู้จักธรรมที่เป็นใหญ่ ๑ คือ จิต ภาบาลีใช้คำว่า “มนินทรีย์” มนินทริยะ เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เป็นอินทรีย์มีไหม (มีที่เราได้พูดถึงคือ ปัญญา) เพราะฉะนั้นปัญญาก็เป็นอินทรีย์ต่างกับมนินทรีย์ใช่ไหม

- คุณอาช่าได้ยินคำว่าอินทรีย์จากไหน (ก่อนฟังธรรมก็ได้ยินคำนี้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว หลังจากฟังธรรมเคยอ่านเจอเหมือนกันและเรื่องอินเดียมีคำถามเรื่องนี้) เป็นสิ่งที่ดีจึงสามารถที่จะอ่านที่จะสนใจในคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ไม่จำเป็นต้องรอแต่ว่าต้องไตร่ตรองและสนทนากันเพื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องและลึกซึ้ง

- เพราะฉะนั้นเราศึกษาธรรมเพราะทุกอย่างเป็นธรรมแต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพื่อเข้าใจธรรมละเอียดลึกซึ้งขึ้นค่อยๆ ละความเห็นผิดว่าเป็นเรา ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๔๕​ พรรษาลึกซึ้งทั้งหมด ถ้าเป็นผู้ที่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระองค์เป็นที่พึ่งต้องรู้ว่า พึ่งเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงแสดงซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ทั้งหมดทุกขณะ

- เพราะฉะนั้นจิตเป็นมนินทรีย์แล้วเจตสิกที่เป็นอินทรีย์มีไหม (ปัญญาเป็นอินทรีย์แน่นอนเพราะได้ฟังแล้วแต่อย่างอื่นไม่แน่ใจ กำลังคิดว่าเวทนาเป็นอินทรีย์หรือไม่ ไม่แน่ใจ) ถูกต้องดีมาก เพราะว่าเริ่มเห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำให้รู้ความจริงซึ่งเป็นความจริงที่เปลี่ยนไม่ได้เลย และรูปเป็นอินทรีย์ได้ไหม (เป็นได้) เพราะฉะนั้นการที่อ่านมาแล้วก้เป็นการดีที่จะได้เข้าใจเพิ่มขึ้นทีละหนึ่ง

- สำหรับวันนี้เราจะพูดถึงเวทนาที่เป็นอินทรีย์ เวทนาเป็นสภาพธรรมที่ “รู้สึก” เป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ด้วยเหตุนี้พระองค์ทรงแสดงธรรมที่เป็นสิ่งที่เป็นใหญ่เป็นที่ยึดถือ

- ความรู้สึกในสิ่งที่กำลังปรากฏมี ๕ อย่าง มีอุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ มีไหม ไม่สุข ไม่ทุกข์ (มี) เมื่อไหร่ (เช่นขณะเห็นขณะได้ยินมีเวทนาที่เกิดด้วยเป็นอุเบกขาเวทนา)

- เวทนาสำคัญไหม (สำคัญมาก) เวทนาเกิดดับหรือเปล่า (เกิดดับ) เพราะฉะนั้นรู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับแต่ก็ยังต้องการสภาพธรรมนั้นใช่ไหม คุณอาช่าต้องการอะไรมาก (อยากเห็นอะไรที่สวยๆ) เพราะฉะนั้นเขาต้องการอะไรมาก (ต้องการเสื้อผ้าสวยๆ) ทำไม (เพราะว่าใส่เสื้อผ้าสวยๆ จะมีความสุข)

- เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการที่สุดของทุกคนคือ ความสุข ใช่ไหม (ใช่) เพราะฉะนั้นเวทนาขันธ์เป็นสิ่งหนึ่งที่มีจริงที่เกิดดับแต่ว่าเป็นที่ยึดมั่นอย่างยิ่ง ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าพอที่จะรู้ว่า ทุกอย่างเป็นทุกข์ไม่ใช่เป็นสุข เพราะฉะนั้นทุกคนที่กำลังมีทุกข์ต้องการพ้นทุกข์เพราะต้องการเป็นสุข

- เพราะฉะนั้น คนที่ติดข้องไม่รู้ว่าความสุขเป็นทุกข์เป็นโทษก็แสวงหาความสุข จริงไหม (จริง) เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่รู้ความจริงว่า แม้สุขก็เป็นทุกข์ก็ไม่สามารถที่จะละความติดข้องในสุขได้ เพราะฉะนั้นหนทางเดียว “ที่พึ่ง” คือรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อละความไม่รู้ เพราะฉะนั้นต่อไปคุณอาช่าก็จะได้ยินคำว่า “อุปาทานขันธ์” ทุกอย่างที่เกิดมีปรากฏเป็นที่ตั้งของ “อุปาทาน“ ยึดมั่นว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

- ความสุขเกิดแล้วดับไหม (เกิดแล้วดับ) ถ้าไม่รู้ความจริงก็ต้องการสุขตลอดเวลาใช่ไหม ค่อยๆ ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจขึ้นจนกระทั่งรู้ว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้และทรงแสดงเป็น ”ที่พึ่ง“ ที่แท้จริง

- ขอยินดีอย่างยิ่งในกุศลของคุณสุคินและในกุศลของทุกคนที่จะได้รู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สวัสดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ค. 2567

"เงินทองไม่สามารถที่จะทำให้ไม่เกิดในอบายภูมิได้
ความติดข้องในทรัพย์สมบัติเงินทองไม่สามารถทำให้เกิดในภพภูมิที่ดีได้"


กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ แต่ละข้อความเป็นประโยชน์ที่สุด ครับ

และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทาน และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nattawan
วันที่ 13 ก.ค. 2567

ความสุขเกิดแล้วดับไหม (เกิดแล้วดับ) ถ้าไม่รู้ความจริงก็ต้องการสุขตลอดเวลาใช่ไหม ค่อยๆ ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจขึ้นจนกระทั่งรู้ว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้และทรงแสดงเป็น ”ที่พึ่ง“ ที่แท้จริง

ยินดีในกุศลวิริยะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
namarupa
วันที่ 13 ก.ค. 2567

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ