ธรรมเทศนาครั้งแรก

 
nattawan
วันที่  16 ก.ค. 2567
หมายเลข  48141
อ่าน  166

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น

🌻วันอาสาฬหบูชา🌻

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นับเป็นวันที่สำคัญในพระพุทธศาสนา คือวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ธรรมเทศนาครั้งแรก โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พาราณสี ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน มีพระรัตนตรัยครบในวันอาสาฬหบูชา และ ยังมีเหตุการณ์ที่ชาวพุทธยังไม่รู้ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือ เป็นวันที่พระโพธิสัตว์ปฏิสนธิ (เกิด) ในพระครรภ์พระมารดา และ เป็นวันที่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช)

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 16 ก.ค. 2567

อาลัยในความเป็นเรา
สภาพธรรมแม้ปรากฏก็ยังอาลัยในสิ่งนั้น
ยังไม่หมดเยื่อใยที่จะยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นเรา
ไม่สามารถตัดขาดในความเป็นเราได้

ฟัง (ธรรม) ไว้ๆ รู้ไว้ๆ แต่ยังไม่เห็นภาวะนั้น
ค่อยๆ เข้าใจในความไม่ใช่เรา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nattawan
วันที่ 16 ก.ค. 2567

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 19

พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนพระจันทร์เพ็ญ พระธรรมเปรียบเหมือนกลุ่มรัศมีของพระจันทร์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่เอิบอิ่มด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญที่ทำให้เกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 16 ก.ค. 2567

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาเป็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้

การตรัสรู้ธรรมทำให้พระองค์ทรงหมดกิเลส และพระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามหมดกิเลสด้วย

ปรมัตถธรรมสังเขป น. ๒๑

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nattawan
วันที่ 16 ก.ค. 2567

ขันธ์ ๕ คือ สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้วดับ จึงจำแนกเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต สภาพธรรมใดเกิดแล้วแต่ยังไม่ดับ ขณะที่ยังไม่ดับก็เป็นปัจจุบัน เมื่อดับแล้วก็เป็นอดีต สภาพธรรมใดที่ยังไม่เกิดแต่จะเกิดขึ้น ก็เป็นอนาคต ในขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้เป็นขันธ์ ๕ ทั้งนั้น จิตเห็น จิตได้ยิน ก็เป็นขันธ์ เสียงที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ก็เป็นขันธ์

ขันธ์ ๕ แบ่งเป็น รูปขันธ์ ๑ และ นามขันธ์ ๔ ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑

รูปขันธ์ ได้แก่ รูปทุกรูป รูปทุกชนิด ทุกประเภท

เวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก (ความรู้สึกสุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เฉยๆ) ๑ ดวง

สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก (ความจำหมายรู้อารมณ์) ๑ ดวง

สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง (เว้นเวทนาเจตสิก และสัญญาเจตสิก)

วิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตทุกดวง

ขันธ์ ๕ คืออะไร และมีอะไรบ้าง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nattawan
วันที่ 16 ก.ค. 2567

สิ่งที่ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย คือ ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ มีอยู่ ๕ประการ ได้แก่ ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอยู่อีกนานเท่าไร ๑ ไม่รู้ว่าจะตายด้วยโรคอะไร ๑ ไม่รู้ว่าจะตายเวลาไหน ๑ ไม่รู้ว่าจะตาย ณ สถานที่แห่งใด ๑ และ ไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปเกิด ณ ที่ใด ๑

บุคคลที่เกิดมาแล้ว ล้วนมีความตายเป็นที่สุด ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ไม่สามารถล่วงพ้นความตายไปได้เลย

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาเหมือนกับภาชนะดิน ทั้งที่ดิบและสุก ล้วนมีความแตกไปเป็นธรรมดา มีความแตกไปเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความแตกไปได้เลย

แต่ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้สั่งสมคุณงามความดี อบรมเจริญปัญญาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยิ่งๆ ขึ้นไป ก่อนที่วันตายจะมาถึง ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้เลย

ไม่รู้ว่าโอกาสของการเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออยู่อีกเท่าไร ดังนั้น จึงต้องมีความอดทนที่จะศึกษาพระธรรมฟังพระธรรม ต่อไป

ความตายนั้น เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nattawan
วันที่ 16 ก.ค. 2567

การให้ของสะอาด

ทำไมต้องสะอาด? ธรรมเป็นเครื่องส่องสภาพจิตว่าขณะนี้เป็นกุศลระดับไหน ให้ก็ให้ได้ แม้ของใช้แล้ว สกปรกก็ให้ได้ แล้วสภาพจิตขณะนั้นคิดถึงผู้รับหรือไม่ว่าใครอยากได้ของไม่สะอาด หรือขยะบ้าง เพราะฉะนั้นเป็นความละเอียดของจิต ที่จะเป็นผู้ให้ของที่เหมาะควรแก่ผู้รับ ไม่ใช่ว่าจะให้ของสะอาด เพื่อจะได้รับของสะอาด นั้นไม่ใช่ความเข้าใจธรรม

และแม้คำว่าสะอาดในขณะที่ให้ ก็ไม่ได้พูดถึงวัตถุเท่านั้น สภาพจิตก็สะอาดขึ้นด้วยตามลำดับ ซึ่งก็ปราณีตตามสภาพจิต พระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงธรรมก็เพื่อให้รู้ความจริงว่าไม่มี “เรา” แต่เป็น “ธรรม” ที่เกิดแล้วดับ เพราะมีเหตุปัจจัย

การให้ของสะอาด [ปฐมสัปปุริสสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nattawan
วันที่ 16 ก.ค. 2567

การให้ของที่เป็นเดน

ผู้ที่มีความละเอียดในการให้ เคารพในทาน ก็เลือกให้ของที่ปราณีต ไม่ใช่เดน หรือของเหลือ เช่น พระเจ้าทุฏฐคามนีอภัย แม้ในกาลหนีภัยสงคราม ท่านก็มีปรกติให้ทานก่อนบริโภค เป็นต้น แต่ก็ต้องพิจารณาว่าเดน หรือของเหลือ มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์

ถ้ากลัวว่าเดี๋ยวกลายเป็นเดน แล้วก็จะไม่ให้ ก็เป็นเรื่องของความรักตน ตัณหาทาโส คือ ทาสของตัณหา ที่ต้องการผล กลัวว่าภายหน้าจะได้รับสิ่งที่ไม่ดี ได้รับของเดน แต่ผู้ที่เห็นถูก ถ้าเป็นกุศลก็ไม่มีความหวั่นไหว ถ้าของเหลือนั้นเป็นประโยชน์ ก็ควรให้ สิ่งใดเหมาะสิ่งใดควร ก็ควรให้แก่คนนั้นๆ และเมื่อให้ด้วยพิจารณาประโยชน์ จิตที่เป็นกุศลผ่องใส ก็เป็นโสมนัสได้ แม้ว่าจะเป็นของเดน และทั้งหมดก็อยู่ที่สภาพจิตขณะนั้น

การให้ของที่เป็นเดน [ปฐมสัปปุริสสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ