ธรรม ธัมมะ แตกต่างกันอย่างไร

 
Tuvon_53
วันที่  24 ก.ค. 2567
หมายเลข  48186
อ่าน  361

เจอคำบาลีเข้าทีไรผมงงทุกทีเพราะรู้ไม่กี่คำ จึงขอเรียนถามว่า

1/ อยากศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าควรจะเริ่มจากจุดไหนเป็นอันดับแรก

2/ คำว่า ธรม กับ ธัมมะต่างกันตรงไหน

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เจอคำบาลีเข้าทีไรผมงงทุกทีเพราะรู้ไม่กี่คำ จึงขอเรียนถามว่า อยากศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าควรจะเริ่มจากจุดไหนเป็นอันดับแรก

คำภาษาบาลี ไม่เป็นอุปสรรคในการศึกษาพระธรรมเลย ขอเพียงฟังต่อไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ศึกษาธรรมทีละคำ วัน ๗ วัน เดือน ๑๒ เดือน ยังจำได้เลย จึงไม่เป็นปัญหาอย่างแน่นอนเมื่อเจอคำบาลี เพราะเมื่อได้ฟังแล้ว ก็จะมีคำอธิบายกล่าวถึงความหมายของคำนั้นๆ ก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจขึ้นได้

เริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่จะศึกษาธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวให้ข้อคิดเตือนใจสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาธรรมว่า "ถ้าเริ่มฟัง เริ่มศึกษาด้วยความตั้งใจจริงๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เข้าใจ" นั่นหมายความว่า ถ้ามีความตั้งใจจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษา ความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นอย่างแน่นอน การศึกษาธรรมก็คือ ศึกษาสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรม ทุกขณะเป็นธรรมจริงๆ ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป เลย ฟังส่วนไหน ศึกษาส่วนไหนแล้วเข้าใจขึ้น นี่แหละคือการเริ่มต้น ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย การฟังบ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ทำให้มีความมั่นคงในเหตุในผลของธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

จะเริ่มต้นศึกษาธรรมะอย่างไร

ศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจอะไร

ธรรมะ ปรมัตถธรรม อภิธรรม

ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง

คิดอย่างไรจึงศึกษาธัมมะ

ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหน


๒. คำว่า ธรม กับ ธัมมะ ต่างกันตรงไหน

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียด ลึกซึ้ง เพราะแสดงถึงความจริงทั้งหมด ความจริงทั้งหมดนั้น ไม่พ้นไปจากธรรมที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม กล่าวคือ จิตทั้งหมดทุกประเภท เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต, รูปทั้งหมด และ พระนิพพาน เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำว่า ธรรม ธรรมะ หรือ ธัมมะ มาจากภาษาบาลี คือ ธมฺม (สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ) ไม่ว่าจะใช้คำใดก็ตาม ย่อมหมายความถึงสิ่งที่มีจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่า เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณ Tuvon_53 และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Tuvon_53
วันที่ 30 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณในความกรุณาให้คำชี้แนะที่ดีเยี่ยม ผมขอน้อมรับและจะศึกษาไปเนึองๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nattawan
วันที่ 1 ส.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ