ถึงความเข้าใจในความเป็นสิ่งนั้น_สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗

 
เมตตา
วันที่  27 ก.ค. 2567
หมายเลข  48201
อ่าน  259

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 99

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถานี้ว่า “ทางนี้เท่านั้น (คือ มรรคมีองค์ ๘) เพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ (คือมรรคและผล) ทางอื่นไม่มี, เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงดำเนินตามทางนี้ เพราะทางนี้เป็นที่ยังมารและเสนามารให้หลง, ด้วยว่า ท่านทั้งหลาย ดำเนินไปตามทางนี้แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้; เราทราบทางเป็นที่สลัดลูกศร (คือกิเลส) แล้ว จึงบอกแก่ท่านทั้งหลาย, ท่านทั้งหลาย พึงทำความเพียรเครื่องเผากิเลส, พระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอก, ชนทั้งหลายผู้ดำเนินไปแล้ว มีปกติเพ่งพินิจอยู่ ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องผูกของมาร (กล่าวคือ วัฏฏะ) ”


[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 295

ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ พึงเข้าใจธรรมอะไรๆ โดยความเป็นอัตตา นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ ปุถุชนพึงเข้าใจธรรมอะไรๆ โดยความเป็นอัตตา นั่นเป็นฐานะที่มีได้


[เล่มที่ 21] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 6
ข้อความบางตอนจาก

ฆฏิการสูตร

เรื่อง เมื่อฟังธรรมจนเข้าใจแล้วจึงบวช

[๔๑๑] ดูก่อนอานนท์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยังฆฏิการะช่างหม้อและโชติปาลมาณพให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา.

ลำดับนั้น ฆฏิการะช่างหม้อและโชติปาลมาณพ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา เพลิดเพลินชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำประทักษิณแล้วหลีกไป.

[๔๑๒] ดูก่อนอานนท์ ครั้งนั้น โชติปาลมาณพได้ถามฆฏิการะช่างหม้อว่า เพื่อนฆฏิการะ เมื่อท่านฟังธรรมนี้อยู่ และเมื่อเช่นนั้น ท่านจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตหรือหนอ.

ฆ. เพื่อนโชติปาละ ท่านก็รู้อยู่ว่า เราต้องเลี้ยงมารดาบิดา ซึ่งเป็นคนตาบอดผู้ชราแล้วมิใช่หรือ

โช. เพื่อนฆฏิการะ ถ้าเช่นนั้น เราจักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต.


อ.วิชัย: กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ฟังคำที่ท่านอาจารย์กล่าวตั้งแต่สมัยฟังแนวทางวิปัสสนา ซึ่งก็ทราบว่า การฟังธรรม ก็เป็นความรู้ระดับหนึ่งขั้นปริยัติ ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อความรู้อีกระดับหนึ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า ถึงเฉพาะ หรือแตะ หรือถูกต้อง

ท่านอาจารย์: แต่ ทั้งหมดนั้น ด้วยความเป็นอนัตตา ลืมไหม? ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่จำ แต่ถึงความเข้าใจในความเป็นสิ่งนั้น จึงไม่ใช่เรา

อ.วิชัย: ลักษณะของสติที่ระลึกสิ่งที่ปรากฏที่จะด้วยดีครับท่านอาจารย์ ไม่มีมาก่อนนะครับ ความสงสัยก็เลยยังมีอยู่ว่า ลักษณะอย่างนั้นจะเป็นอย่างไร?

ท่านอาจารย์: ขณะฟัง ไม่ได้ระลึกที่อื่นเลย แต่กำลังระลึกตรงความหมายของทุกคำ ว่า กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้

อ.วิชัย: ระดับเบื้องต้นเลย

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่มีก็ไม่มีวันเข้าใจ คิดเองได้ไหม ธรรมะ?

อ.วิชัย: ไม่มีวันเป็นไปได้

ท่านอาจารย์: ค่ะ ทุกคำ ต้องไตร่ตรองลึกซึ้งระดับไหนที่จะมั่นคง ทรงธรรม สักคำ ก็ขาดไม่ได้

อ.วิชัย: กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ ก็คือความสงสัยยังมีอยู่ในสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ หรือว่ายังไม่เกิดขึ้น คือถ้าเป็นความรู้ขั้นฟังก็พอรู้ได้ว่า มี ครับ

ท่านอาจารย์: มั่นคงไหม ธรรมกำลังมี?

อ.วิชัย: หลงลืมเสมอ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก็ไม่คิดด้วยความหลงลืม

อ.วิชัย: อ๋อ .. ขณะที่คิดดูเหมือนกับความเป็นเราก็มาเสมอครับท่านอาจารย์ ที่จะคิดโน่นคิดนี่

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่ฟังจริงๆ นะ จะปลาบปลื้มไหมที่จะมีโอกาสได้ฟัง คำจริง จากผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ซึ่งแสนยาก ชีวิตของพระองค์ที่ได้บำเพ็ญมา กว่าจะได้รู้ความรู้ที่พระองค์ทรงแสดงทุกคำ เพื่อรู้ความลึกซึ้งว่า นี่แหละ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมา ลึกซึ้งอย่างนี้ และถ้าไม่มีใครประพฤติตามอย่างนี้ ก็เก่งกว่าใช่ไหม และเป็นไปได้ไหม ได้แต่เพ้อฝัน

เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง อย่าลืมนะ รัตนตรัย ถ้าไม่เห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการที่พระองค์ตรัสรู้สิ่งที่ลึกซึ้งเดี๋ยวนี้ ใครจะรู้?

เพราะฉะนั้น จึงมีพระองค์เป็นที่พึ่ง ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไรก็ตาม แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร เป็นที่พึ่ง?

อ.วิชัย: ต้องเหมือนกัน เตือนใจเสมอครับ

ท่านอาจารย์: ใครจะรีบร้อนบ้าง?

อ.อรรณพ: โลภะรีบร้อน เพราะว่า อยากเอาง่ายๆ อยากจะให้ตัวเองดีๆ เร็วๆ ง่ายๆ ก็เป็นไปไม่ได้นะครับ

ท่านอาจารย์: แม้แต่ คำว่า อนัตตา ก็ไม่รู้

อ.อรรณพ: รู้ยากครับ

ท่านอาจารย์: เป็นอัตตาหมด

อ.อรรณพ: รู้ยากมาก เพราะว่า แม้ในอรรถกถา ท่านยังกล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ นี่ก็ยังพอจะมีเค้าเห็น เห็นกันอยู่บ้าง อย่างแก้ว เดี๋ยวก็แตก อย่างนี้ครับ แต่อนัตตานี่ ไม่มีคำ ...

ท่านอาจารย์: ครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้ฟังคำเหล่านี้ไหม?

อ.อรรณพ: ได้ฟังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่น

ท่านอาจารย์: ฟังมานานเท่าไหร่ กี่พระองค์

อ.อรรณพ: อย่างน้อย ๔ อสงไขย

ท่านอาจารย์: อย่างนี้ใช่ไหม?

อ.อรรณพ: อย่างนี้ครับ

ท่านอาจารย์: แล้วก็ยังไม่ตรัสรู้ใช่ไหม?

อ.อรรณพ: ยังไม่ตรัสรู้ครับ

ท่านอาจารย์: จนกว่าค่อยๆ ละความไม่รู้ และรู้ว่า หนทางจริงๆ คืออย่างนี้ จึงต้องอดทนนานเท่าไหร่เมื่อเป็นผู้ที่รู้ความจริง

อ.อรรณพ: อย่างเช่นสมัยที่เป็นพระโพธิสัตว์ที่เป็นโชติปาลมานพ เมื่อได้เข้าเฝ้าฟังธรรมแล้วก็บวชในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ พระโพธิสัตว์ก็ทรงพระไตรปิฎก แล้วก็ต้องเข้าใจในความเป็นธรรมเป็นอนัตตาอย่างนี้ครับท่านอาจารย์ ขนาดพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจนพระองค์ที่ ๒๔ พระองค์ก็เป็นอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องรอเวลาอีกตั้งพุทธันดรจึงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้

เพราะฉะนั้น ความเป็นอนัตตานี่ยากที่จะเห็น และถ้าเราเผินๆ เราคิดว่าก็เป็นเราที่ดีก็พอแล้วนะครับ ก็อยู่อย่างนั้น


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๗๑

[๓๐๒] พ. โปฏฐปาทะ การได้อัตตภาพ ๓ นี้ คือที่หยาบ ที่สำเร็จด้วยใจ ที่หารูปมิได้.

ก็การได้อัตตภาพที่หยาบเป็นไฉน. กายที่มีรูปเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ มีคำข้าวเป็นภักษา นี้คือการได้อัตตภาพที่หยาบ.

การได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจเป็นไฉน. กายที่มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่เสื่อมทราม นี้คือการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ.

การได้อัตตภาพอันหารูปมิได้เป็นไฉน. กายอันหารูปมิได้สำเร็จด้วยสัญญา นี้ คือ การได้อัตตภาพอันหารูปมิได้

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

อัตตสัญญา

ไม่ศีกษาพระธรรม ดับกิเลสไม่ได้

พากันไปไหน

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ปรมัตถธรรมเป็นอนัตตา

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 27 ก.ค. 2567

ยินดีในกุศลวิริยะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ