ศึกษาธรรมเพื่อรู้ความจริง_สนทนาไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗

 
เมตตา
วันที่  27 ก.ค. 2567
หมายเลข  48203
อ่าน  314

อาช่า: คราวที่แล้วสนทนาเรื่องอินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เป็นต้น ขอต่อเรื่องนั้นค่ะ

ท่านอาจารย์: ก่อนอื่น ต้องไม่ลืมว่า ธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือเลย กำลังเป็นธรรมเดี๋ยวนี้ทุกขณะ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: การศึกษาธรรม เป็นการศึกษาให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ มิเช่นนั้น จะไม่มีประโยชน์เลยทุกชาติ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของทุกอย่างที่มี ทุกขณะ ของทุกโลก เพื่อให้รู้ความจริง และไม่ลืมทุกคำที่ได้ฟังแล้ว จากที่พระสัมมาสัมพุทธทรงแสดง ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงพระธรรม จะไม่มีใครรู้ความจริง เดี๋ยวนี้ แต่ละหนึ่งตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ

เพราะฉะนั้น ฟังพระธรรมด้วยความเคารพสูงสุด พระองค์ตรัสสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจ ให้เคารพในความจริงซึ่งเปลี่ยนไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่า ฟังคำของพระองค์เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีทุกขณะ โดยนัยประการต่างๆ ทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม

เพราะฉะนั้น ตั้งใจฟังด้วยความเคารพเพื่อรู้ความจริงที่กำลังมี

เพราะฉะนั้น ไม่ลืมว่า ฟังพระธรรมเพื่อละความไม่รู้

เดี๋ยวนี้มีอะไร แค่นี้ เริ่มต้นอีก เริ่มต้นอีก เดี๋ยวนี้มีอะไร? ถ้าไม่รู้ ธรรมเดี๋ยวนี้ ไม่รู้จัก คำ ที่พระองค์ตรัสว่า อินทริยะ หรืออินทรีย์ เดี๋ยวนี้ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีอะไรจริงๆ นอกจากมีสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังปรากฏว่า มี

เพราะฉะนั้น อินทรีย์อยู่ไหน? ลองคิดดู

อาช่า: อยู่ตอนนี้ ปัจจุบันนี้

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง แล้วเดี๋ยวนี้อะไรเป็นอินทรีย์?

อาช่า: เห็นค่ะ

ท่านอาจารย์: เป็นอินทรีย์อะไร เพราะอะไรจึงเป็นอินทรีย์? ต้องเป็นปัญญาของตนเองนะ

อาช่า: ถ้าไม่มีเห็น ก็ไม่รู้สิ่งที่เห็นค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นเป็นใหญ่ไหม?

อาช่า: เห็นเป็นใหญ่

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นเป็นอะไร จึงเป็นใหญ่?

อาช่า: เป็นเพราะเห็น จึงเห็นค่ะ

ท่านอาจารย์: ต้องรู้แน่ๆ ว่า เห็นคืออะไร เพราะนี่เป็นความคิด แต่ว่าความจริง ก็คือความจริงว่า เห็นเป็นอะไร คิดให้ออก

อาช่า: เพราะเป็นจิต เป็นเหตุผลไม่พอที่จะเรียกว่าเป็นอินทริยะค่ะ

ท่านอาจารย์: ต้องไม่ลืมนะ จิตคืออะไร จิตเป็นธาตุรู้ ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ จะมีอะไรปรากฏไหม?

อาช่า: ไม่มีค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องจิต จำชื่อจิต รู้ว่าจิตทำอะไร แต่ลักษณะที่แท้จริงคือธาตุรู้ ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน มิเช่นนั้น จะไม่มีสิ่งใดปรากฏเลยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานรู้แจ้งในสิ่งนั้น

ด้วยเหตุนี้ จิต จึงเป็นอินทริยะ ใช้คำว่า มนินทริยะ เป็นคำรวมของคำว่า มนะ กับอินทริยะ จึงเป็น มนินทริยะ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะลืมไหมว่า ไม่มีเรา ไม่มีอาช่า ไม่มีอาคิ่ล ไม่มีสุคิน ไม่มีโลก ไม่มีอะไรเลย มีแต่ จิต เกิดขึ้นรู้แจ้ง สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ แล้วดับ ไม่กลับมาอีก จริงไหม?

อาช่า: จริงค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่สามารถเข้าใจความจริงได้

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 27 ก.ค. 2567

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่สามารถเข้าใจความจริงได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ เป็นเราเห็น เป็นเราชอบ เป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย สภาพที่ไม่รู้ความจริงเป็น อวิชชา เป็นโมหเจตสิก

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีทุกวันๆ จนสามารถเข้าถึงความจริงว่า สิ่งนั้นมี แล้วหามีไม่ ไม่กลับมาอีกเลย ค่อยๆ ละความเป็นเราทีละเล็กทีละน้อย ละเอียดมาก ลึกซึ้งมาก

กว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา เป็นธรรม ต้องฟังอีกนานเท่าไหร่ เพราะเดี๋ยวนี้กำลังมีจิต กำลังมีมนินทรีย์ แต่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น ฟังธรรมทำไม?

อาช่า: เพื่อเจริญความเข้าใจ และเพิ่มความรู้ว่า ไม่มีเรา

ท่านอาจารย์: ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง แล้วคนอื่นไม่รู้ ควรจะช่วยให้เขาได้รู้ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเข้าใจเป็นประโยชน์ทั้งตนเองกับผู้อื่นใช่ไหม? คุณอาช่าฟังธรรม เริ่มรู้จักพระพุทธเจ้า เริ่มเห็นพระปัญญาคุณ พระมากรุณาคุณ เพราะฉะนั้น คุณอาช่าจะทำอะไร?

อาช่า: จะพยายามเพิ่มความเข้าใจค่ะ

ท่านอาจารย์: แล้วก็จะช่วยให้คนอื่นเข้าใจไหม?

อาช่า: ในเมื่อเราเห็นค่าของพระธรรมแล้ว เราก็ต้องช่วยคนอื่นให้เข้าใจด้วย

ท่านอาจารย์: ถ้าทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสูงสุดที่เรามีโอกาสได้ฟัง ถ้าทุกคนเข้าใจเหมือนกันก็ร่วมใจกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพระธรรมใช่ไหม?

อาช่า: ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็น้ำหนึ่งใจเดียวกัน แล้วก็คิดช่วยคนอื่น

ท่านอาจารย์: ทุกคนจะปลาบปลื้มยินดีมากที่เห็นผู้ที่เข้าใจธรรม ร่วมใจกันพร้อมเพรียงกัน ดำรงรักษาพระธรรม

อาช่า: เป็นอย่างนั้นค่ะ

ท่านอาจารย์: และต้องไม่ลืม ธรรมลึกซึ้งละเอียด ต้องเคารพด้วยการไตร่ตรอง จนเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง มิเช่นนั้น เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นการช่วยดำรงคำสอน

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 27 ก.ค. 2567

ท่านอาจารย์: ธรรมทุกอย่างไม่ใช่ของใคร มีเหตุปัจจัยหลากหลายเกิดขึ้น เป็นธรรมหลากหลายต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น พูดถึง มนินทรีย์ ไม่ใช่ไปคิดเรื่องมนินทรีย์ แต่ ให้รู้ความเป็นมนินทรีย์ของ เดี๋ยวนี้ ที่เห็น

เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ความจริงว่า เดี๋ยวนี้ เห็น เป็นใหญเป็นประธาน เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้ จึงมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้มากมายตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ

กว่าจะรู้ความจริงของธรรมแต่ละหนึ่ง และรู้ว่า ธรรมใดเป็นอินทริยะ ก็ต้องตรงต่อความเป็นจริงโดยการที่ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็น ธาตุรู้ คือจิตเป็นมนินทรีย์ แล้วมีอะไรอีกไหมที่เป็นใหญ่มากด้วย?

อาช่า: สี ก็เป็นอินทริยะค่ะ

ท่านอาจารย์: เป็นไม่ได้เลย

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ลองคิดดู มีอะไรอีกไหมที่เป็นใหญ่เดี๋ยวนี้?

อาช่า: ตา เป็นอินทรีย์

ท่านอาจารย์: ค่อยๆ เข้าใจอินทรีย์เพิ่มขึ้นใช่ไหมว่า ไม่ใช่มีแต่สิ่งเดียวเท่านั้น เพราะว่า ธาตุรู้ที่จะเกิดต้องอาศัยธรรมหลายอย่างที่ต้องเป็นใหญ่ จึงจะสามารถให้ธาตุรู้ขณะนั้นเกิดขึ้นได้ แม้ว่า ธาตุรู้เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: คิดออกไหม อะไรเป็นใหญ่ด้วยในชีวิตประจำวัน ทำให้การประพฤติเป็นไปของแต่ละคนเป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้าง

อาช่า: นอกจากปสาทรูป ๕ และวิญญาณ ๕ แล้ว ก็มีปัญญาที่เป็นอินทริยะค่ะ

ท่านอาจารย์: ไม่มช่เลย ไม่ใช่เลย ฟังคำถาม ไม่ได้พูดถึงปสาทรูป ๕ อะไรเลยนะ แต่พูดถึงว่า กำลังเห็น มีมนินทรีย์ แล้วมีอะไรอีกที่เป็นอินทรีย์ เพราะสำคัญด้วย เป็นใหญาด้วย พูดถึงขณะเห็น ๑ ขณะ ไม่ได้ไปพูดถึงขณะอื่นเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องศึกษานัยยะต่างๆ ขณะไหนก็ได้ เพื่อรอบรู้ในความเป็นธรรม

อาช่า: จักขุปสาทะ

ท่านอาจารย์: จักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ แล้วอะไรอีกล่ะ สำคัญมาก?

อาช่า: ไม่ทราบค่ะ

ท่านอาจารย์: ความรู้สึกมีไหม?

อาช่า: มีค่ะ

ท่านอาจารย์: เป็นใหญ่ไหม?

อาช่า: เป็นใหญ่ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจธรรมที่เป็นใหญ่ซึ่งเป็นนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้างแต่ต้องตรง ทำไมความรู้สึกเป็นใหญ่?

อาช่า: เป็นเพราะว่า ต้องมีเวทนาค่ะ

ท่านอาจารย์: มีแล้ว แล้วเป็นใหญ่ไหม เวทนาเป็นใหญ่อย่างไร?

อาช่า: เข้าใจว่า เป็นหนึ่งในชีวิตประจำวันเวทนาสำคัญมาก

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เวทนาทั้งหมดเป็นอินทรีย์

เพราะฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นอินทรีย์ ๕ ใช่ไหม?

อาช่า: ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น รู้จัก ๕ รวมมนินทรีย์ เป็น ๖ ใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: จิตทั้งหมดเป็นมนินทรีย์ เพราะฉะนั้น เราพูดถึงสภาพที่เป็นใหญ่ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ ให้รู้ว่า อะไรเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นสิ่งที่กำลังมี และสามารถเข้าใจได้ ไม่ใช่ไปจำเป็นตัวหนังสือ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ความรู้สึกเป็นใหญ่อย่างไร?

อาช่า: ไม่ทราบค่ะ

ท่านอาจารย์: เห็นไหม แม้จะบอกว่า เวทนาเป็นอินทริยะ ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเพื่อรู้ความจริง

คุณอาช่ามีความสุขเมื่อไหร่?

อาช่า: เมื่อไหร่ที่มีสุขเวทนาค่ะ

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่อย่างนั้น ฟังดีๆ ถามว่า คุณอาช่ามีความสุขเมื่อไหร่ อะไรทำให้มีความสุข?

อาช่า: เช่น ตอนที่ฟังท่านอาจารย์วันนี้ บางขณะที่เข้าใจก็มีความสุข

ท่านอาจารย์: แล้วเวลาไม่ได้ฟังมีความสุขบ้างไหม?

อาช่า: ฟังเพลงค่ะ

ท่านอาจารย์: ฟังเพลงมีความสุข เพราะฉะนั้น เวทนาสำคัญไหม เขาจะฟังเพลงไหม?

อาช่า: ถ้าไม่มีความสุขก็ไม่ฟังค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องการความสุขใช่ไหม จึงฟัง?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องการทุกอย่างเพื่อความสุขใช่ไหม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศทั้งหมด ต้องการเพื่อความรู้สึกที่เป็นสุขใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เห็นความเป็นใหญ่ของความรู้สึกหรือยัง?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ความรู้สึกเที่ยงไหม เกิดดับหรือเปล่า?

อาช่า: ไม่เที่ยงค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้ายังไม่รู้ความจริง ก็แสวงหาความสุขใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น แสวงหาความสุขตั้งแต่เกิดจนตายไม่จบสิ้นใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: แต่ถ้ารู้ความจริงว่า ความสุขไม่เที่ยง ยังจะติดข้องมากไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะไม่รู้ความจริง ทุกคนจึงแสวงหาความสุขทุกทาง ไม่ว่าทางสุจริต หรือทุจริต

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น การฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด เพราะทำให้เห็นโทษของความไม่รู้ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำสิ่งที่ไม่ดีทุกอย่าง จนกว่าจะได้ฟังความจริงจากทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประจักษ์แจ้ง และทรงแสดง

ถ้าไม่เข้าใจความจริงจากฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตก็จะจมลงไปในการทุจริต ด้วยเหตุนี้ จึงเข้าใจว่า ที่ทุกคนทำทุกอย่าง ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง จนกระทั่งทำสิ่งที่ร้ายที่สุดเพราะเวทนาเป็นใหญ่เป็นอินทรีย์

ความเห็นถูกต้อง คือปัญญาที่ได้ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ชีวิตเปลี่ยนจากความไม่รู้ความจริงเป็นค่อยๆ รู้ความจริงขึ้น

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ตอนนี้ เห็นความเป็นอินทรีย์ของความรู้สึกแล้วใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: มีอินทรีย์อะไรอีกไหมที่อาช่าได้อ่านและฟังแล้ว และต้องการที่จะสนทนากัน

อาช่า: ยังไม่ได้อ่านเรื่องอิทรีย์ แต่เคยได้ยินผ่านหูค่ะ

ท่านอาจารย์: ดีนะที่ได้ยินผ่านหู และไม่เลยไปโดยไม่เข้าใจความจริง เพราะทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงความจริงของทุกอย่างที่มีให้เข้าใจถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ตอนนี้มีกี่อินทรีย์แล้วที่คุณอาช่าได้ฟังได้เข้าใจ?

อาช่า: ๗ ค่ะ มีมนินทรีย์ มีปสาทรูป ๕ และมีเวทนาค่ะ

ท่านอาจารย์: มีเวทนาเท่าไหร่?

อาช่า: มี ๓ ค่ะ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา

ท่านอาจารย์: ทางใจมีสุขไหม?

อาช่า: มีทางใจค่ะ

ท่านอาจารย์: ตกลง เวทนา อินทรีย์มีเท่าไหร่?

อาช่า: รู้สึกสับสนเรื่องเวทนา ขอท่านอาจารย์ช่วยพูดถึงเวทนาให้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เวทนาเป็นความรู้สึก คุณอาช่าเคยเจ็บปวดตัวไหม?

อาช่า: เคยค่ะ

ท่านอาจารย์: เคยปวดหัว ปวดท้องไหม ปวดขา ปวดแขน?

อาช่า: เคยค่ะ

ท่านอาจารย์: ขณะนั้นเป็นทุกข์ทางกายใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เวลาปวดท้องรู้สึกเป็นอย่างไร เป็นสุขไหม?

อาช่า: ไม่สุขค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก็เป็นโทมนัสเวทนา

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ขณะนั้นเป็นทุกข์ทางกาย แล้วก็เป็นโทมนัสทางใจ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ทางกายไม่ใช่โทมนัส ทางใจไม่ใช่ทุกขะ ตอนนี้คุณอาช่านั่งอยู่ใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เมื่อยแล้วยัง?

อาช่า: รู้สึกเมื่อยค่ะ

ท่านอาจารย์: เมื่อยแล้วใช่ไหม แต่ก็ฟังธรรมต่อไปใช่ไหม?

อาช่า: ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เมื่อยเป็นทุกข์กาย แต่ยังไม่ทุกข์ใจ

อาช่า: เป็นอย่างนั้นค่ะ

ท่านอาจารย์: นี่เป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีอาช่า ไม่มีอะไรเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นอนัตตา

คุณอาช่าไม่ชอบใครบ้างไหม?

อาช่า: มี ถ้านึกถึงบางเหตุการณ์ค่ะ

ท่านอาจารย์: ขณะที่ไม่ชอบ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์?

อาช่า: เป็นทุกข์ค่ะ

ท่านอาจารย์: แต่ไม่ใช่ทุกข์กาย เพราะฉะนั้น เป็นโทมนัสเวทนา

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: อะไรทนยากกว่ากัน ทกข์กาย หรือทุกข์ใจ?

อาช่า: แล้วแต่เหตุการณ์ค่ะ บางทีปวดมากก็ทนไม่ได้ บางทีปวดใจมากก็ทนไม่ได้ ถึงขนาดว่าอย่างอื่นที่คิดไม่ดีกับคนอื่นก็ไม่สำคัญ ตรงนี้สำคัญกว่าค่ะ

ท่านอาจารย์: แต่ถ้าไม่มีทุกข์กาย แล้วมีทุกข์ใจมาก คุณอาช่าคิดว่าทนอะไรได้มากกว่ากัน?

อาช่า: ทุกข์ใจน่าเดือดร้อนมากกว่า

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น สำหรับบางคนไม่เหมือนกัน บางคนทนทุกข์กายได้แต่ทุกข์ใจนิดเดียวก็แย่แล้ว บางคนทนทุกข์ใจได้หมดแต่ทุกข์กายไม่ได้เลย เพราะการสะสมต่างกัน ขอยกตัวอย่างตัวเอง ทุกข์ใจอาจจะน้อย แต่ทุกข์กายทนไม่ได้ กลัวเข็มฉีดยา

เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัยที่สะสมมา ทุกคนสะสมความไม่รู้ความจริงมานานมาก เป็นเรามานานมาก บางคนทำสิ่งที่ไม่ดีมาแล้วในสังสารวัฏฏ์มาก แต่มี คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นที่พึ่งให้รู้ความจริง จึงสามารถจะละความไม่ดีทั้งหมดได้ แต่ต้องฟังด้วยความเคารพจริงๆ เพื่อละความไม่ดี

ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละคำ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนสามารถประพฤติตามได้ เป็นไปได้ไหม? ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง จะละความไม่ดีไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น การรู้ความจริงการเข้าใจความจริงถูกต้อง เป็นใหญ่ไหม? สามารถจะละความไม่รู้ และกิเลสทั้งหมดได้ไม่เกิดอีกเลย

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูกความรู้ความจริงเป็นที่พึ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดเป็นปัญญินทรีย์

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูกว่า ฟังธรรมเพื่อรู้ความจริงแล้วละ มิเช่นนั้น จะไม่มีที่พึ่ง อกุศลก็เพิ่มขึ้น ไม่มีทางลดลงได้

เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นบ้างแล้วหรือยัง?

อาช่า: เพิ่มขึ้นค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น มีความมั่นคงว่า ฟังเพื่อเข้าใจความจริงถูกต้อง และเพื่อละความไม่ดี

ฟังกี่อินทรีย์แล้ว?

อาช่า: มนินทริยะ จักขุนทริยะ โสตินทริยะ ฆานินทริยะ ชิวหินทริยะ กายินทริยะ สุขินทริยะ ทุกขินทริยะ อทุกขมสุขินทริยะ (อุเบกขินทริยะ) โสมนัสสินทริยะ โทมนัสสินทริยะ ปัญญินทริยะ ทั้งหมด ๑๒ อินทรีย์แล้ว

ท่านอาจารย์: ต่อไปมีอะไรอีกไหม ไม่เคยได้ยินใช่ไหม? ศรัทธา กับอินทริยะ เป็น ศรัทธินทริยะ ถ้าไม่มีธรรมฝ่ายกุศล กุศลเกิดไม่ได้

ศรัทธา เป็นอะไร?

อาช่า: เป็นเจตสิกค่ะ

ท่านอาจารย์: เป็นศรัทธาเจตสิก ศรัทธาเป็นอย่างไร?

อาช่า: ละเอียดยังไม่ทราบแต่รู้คร่าวๆ แต่ที่เราพูดกันว่ามีศรัทธาในพระธรรม ถ้าไม่มีตรงนี้เราคงไม่ฟัง

ท่านอาจารย์: แต่ว่า ต้องเข้าใจความละเอียดของธรรม ศรัทธามีจริงเป็นธรรมที่เป็น นามธรรม ศรัทธาเป็นสภาพที่สะอาด ผ่องใส ไม่สกปรก ขณะใดที่ศรัทธาเกิด สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยสะอาดจากอกุศล พอจะอุปมาให้เริ่มเข้าใจได้บ้าง นั่นคือเหมือนสารส้มที่ใสสะอาด และทำให้สภาพธรรม เช่น น้ำขุ่นก็สะอาดด้วย

เพราะฉะนั้น ศรัทธาจึงเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เพราะถ้าศรัทธาไม่มีขณะนั้น สภาพจิตใสสะอาดไม่ได้

เพราะฉะนั้น ศรัทธาจึงเป็นใหญ่เป็น ศรัทธินทรีย์

เพราะฉะนั้น ศรัทธาเกิดไม่ได้ ถ้าขณะนั้นจิตเป็นอกุศล แต่ทันทีที่ศรัทธาเกิด จิตสกปรกไม่ได้

วันนี้ ศรัทธา เกิดบ่อยไหม?

อาช่า: มีบ้าง ไม่บ่อย

ท่านอาจารย์: มีเมื่อไหร่?

อาช่า: ตอนที่ฟังธรรมอยู่

ท่านอาจารย์: แล้วมีตอนไหน ตอนที่มีศรัทธา?

อาช่า: อย่างเช่น วันนี้ตื่นมา นึกถึงสุนัขที่เลี้ยงไว้ ตั้งใจทำอาหารให้กินค่ะ

ท่านอาจารย์: นั่นหรือศรัทธา ไม่ใช่โลภะหรือ?

อาช่า: บางทีก็รู้สึกว่า ทำด้วยความเห็นใจจริงๆ ว่าอยากจะช่วยหมาค่ะ

ท่านอาจารย์: แต่ก็ยังเป็นสุนัขใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ศรัทธาเกิดกับสภาพจิตที่ดีงาม ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่ดีงาม หรือไม่ดีงาม

สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะเข้าใจตรงลักษณะที่ปรากฏ จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นอะไร เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล

เพราะฉะนั้น ต้องตรงต่อธรรม จึงเป็นสัจจบารมี ธรรมละเอียดมาก ถ้าไม่รู้ความจริงไม่สามารถจะละกิเลสได้เลย

หลังจากจิตเห็นดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิด สันตีรณะเกิด โวฏฐัพพนะเกิด อาสวะเกิดแล้ว

เพราะฉะนั้น ต้องฟังธรรมด้วยความเคารพสูงสุดจริงๆ จึงสามารถที่จะรู้ว่าธรรมละเอียด ขั้นฟังต้องเป็นผู้ที่ไตร่ตรอง รอบรู้ในคำที่ตรัสไว้ ไม่เปลี่ยน

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เห็นความละเอียดลึกซึ้ง จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม จะเคารพพระองค์จริงๆ หรือ?

เพราะฉะนั้น ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้ว่า ลึกซึ้ง เบื่อไหม?

อาช่า: ไม่เบื่อ ยิ่งสนใจ เพราะว่าที่ไม่รู้มีเยอะมาก ควรจะรู้อีกมากและเวลาก็เหลือน้อย

ท่านอาจารย์: ยินดีกับกุศลของคุณอาช่าอย่างยิ่ง ที่เริ่มรู้ความลึกซึ้งของธรรม เริ่มเห็นคุณที่ลึกซึ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาที่คุณอาช่าคิดถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้เข้าใจพระธรรม ขณะนั้น จิตของคุณอาช่าสะอาด ใส มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ไม่ใช่เพียงคิดถึงเรื่อง หรือชื่อ แต่สภาพจิตขณะนั้นผ่องใส จึงรู้ว่า สภาพที่ใสไม่มีอกุศลมีจริง และเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ กุศลเกิดมาก หรืออกุศลเกิดมาก แม้แต่ขณะที่เห็นสุนัข ก็เป็นคุณอาช่าที่ยืน แล้วก็เห็นสุนัข? และเวลาที่คุณอาช่าเห็นสุนัขของตัวเอง กับเห็นสุนัขตัวอื่นๆ รู้สึกเหมือนกันไหม?

คุณสุคิน: อาช่าบอกว่า ปกติก็เลี้ยงหมาที่อื่น ได้โอกาสให้อาหารหมา ผมเลยบอกว่า ถ้าอยู่ใกล้กัน และทะเลาะกัน ตัวหนึ่งก็เป็นหมาของตัวเอง อีกตัวเป็นหมาอื่น เขาจะทำอย่างไร เขาก็บอกว่าจะตีหมาของตัวเอง แต่ก็รู้ว่ารักหมาตัวเองเพราะอยู่ด้วยกันมานานก็ ต้อง รักหมาตัวเองมากกว่า

ท่านอาจารย์: ต้อง หมายความว่าอะไร?

คุณสุคิน: หมายความว่า เป็นไปตามธรรมชาติ อยู่ด้ววยกันก็ต้องมีความผูกพันมาก

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เป็นกุศล หรืออกุศล?

อาช่า: เป็นอกุศลค่ะ

ท่านอาจารย์: ดีไหม?

อาช่า: ไม่ดีค่ะ

ท่านอาจารย์: ควรจะไม่มีใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องรู้หนทางที่จะไม่มี จึงจะไม่มีได้

เพราะฉะนั้น คนที่เห็นประโยชน์ เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล

เวลาที่คุณอาช่าเห็นสุนัขแล้วสงสาร มีศรัทธาใช่ไหม?

อาช่า: สงสารสุนัข ก็มีศรัทธาค่ะ

ท่านอาจารย์: แต่ต้องรู้นะ ความสงสารขณะนั้น สงสารด้วยความผูกพันหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดที่คุณอาช่าจะต้องฟังอีกต่อไปมาก แต่ให้ทราบว่า ขณะใดก็ตามที่กุศลเกิด ขณะนั้นจิตสะอาด มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ยังไม่ถึงความเป็นศรัทธินทรีย์

สภาพธรรมธรรมละเอียดมาก ต้องศึกษาด้วยความเคารพจริงๆ จึงสามารถที่จะค่อยๆ ละความเป็นเรา เวลาเห็นสุนัขและเป็นกุศลเพราะมีความเป็นเพื่อน เมตตา รู้ในความเป็นสภาพนั้น ใช่ไหม ใช่ไหม คุณอาช่า?

อาช่า: เป็นอย่างนั้นค่ะ

ท่านอาจารย์: แล้ว เวลาเห็นคนล่ะ รู้สึกอย่างนั้นหรือเปล่า?

อาช่า: ก็เป็นบ้าง

ท่านอาจารย์: เป็นผู้ตรง เพราะฉะนั้น จะรู้ธรรมก็ต่อเมื่อเป็นผู้ตรง เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะไหนเป็น ขณะไหนไม่เป็น

ต้องตรง และจริงใจ จึงสามารถรู้ความจริงได้ เดี๋ยวนี๋ๆ ยังไม่เป็นอย่างนี้ใช่ไหม?

อาช่า: ยังไม่เป็นค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะยังไม่ใช่ปัญญินทรีย์

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nattawan
วันที่ 28 ก.ค. 2567

ยินดีในกุศลวิริยะค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ