จะบอกพระอย่างไร

 
preechacupr
วันที่  29 ก.ค. 2567
หมายเลข  48211
อ่าน  1,391

พระทำพิธีขอบคุณเจ้าภาพผู้ให้เงินก้อนใหญ่ในอุโบสถมีพระประธาน มีรำไทยให้แขกดู การมีรำไทยในอุโบสถมีพระประธาน ผิดกฎพระหรือไม่ จะได้บอกพระเจ้าอาวาส


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุท่านผิดพระวินัยตั้งแต่รับเงินแล้ว ถ้ารับเงินเพื่อตัวเอง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้ารับเงินเพื่อผู้อื่นหรือรับเพื่อสิ่งอื่น เป็นอาบัติทุกกฏ ตามข้อความในพระวินัยปิฎก ดังนี้

*พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐

ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้
เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์


*พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๖

ภิกษุจะรับนิสสัคคิยวัตถุเพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ คณะบุคคลและเจดีย์ เป็นต้น ย่อมไม่ควร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่สิ่งที่เหลือ

สำหรับการจัดให้มีการแสดงต่างๆ ก็ยิ่งไม่เหมาะ เพราะไม่ใช่กิจของพระภิกษุเลยแม้แต่น้อย เป็นข้าศึกต่อการประพฤติคุณความดีในเพศบรรพชิตอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความมัวเมา ติดข้องยินดีพอใจ และการที่พระภิกษุดูการแสดงต่างๆ นั่นก็เป็นการล่วงละเมิดพระวินัยแล้ว กล่าวได้เลยว่าผิดพระวินัยโดยตลอด เทียบเคียงจากข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ ๗ ดังนี้

สมัยต่อมา ที่พระนครราชคฤห์ มีงานมหรสพบนยอดเขา พระฉัพพัคคีย์ ได้ไปเที่ยวดูงานมหรสพ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะ เชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้ไปดูการฟ้อนรำ การขับร้อง และการประโคมดนตรี เหมือน พวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไปดูการฟ้อนรำ การขับร้อง หรือการประโคมดนตรี รูปใดไป ต้องอาบัติ
ทุกกฏ"

**สิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ การบริโภคก้อนข้าวที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา ของภิกษุผู้ทุศีลผู้ประพฤติไม่เหมาะไม่ควรทำสิ่งที่ผิด นั้น การบริโภคก้อนเหล็กแดงยังดีกว่า เพราะการบริโภคก้อนเหล็กแดง ทำให้เกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์เฉพาะในชาตินี้ แต่การเป็นภิกษุทุศีล รับสิ่งของที่ผู้อื่นถวายด้วยศรัทธา เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย นานแสนนาน ตามข้อความใน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๒๗ ดังนี้

“ภิกษุทุศีล คือ ไม่มีศีล ไม่สำรวมด้วยกายเป็นต้น ปฏิญาณว่าเราเป็นสมณะ รับก้อนข้าวที่ชาวแว่นแคว้นให้ด้วยศรัทธาบริโภค ก้อนเหล็กร้อน มีเปลวไฟ อันภิกษุผู้ทุศีลบริโภคยังประเสริฐกว่า คือ ดีกว่าการที่คนทุศีลบริโภคก้อนข้าวที่ชาวแว่นแคว้นให้ด้วยศรัทธา นั้น

ถามว่า เพราะเหตุไร

ตอบว่า เพราะการบริโภคก้อนเหล็กเป็นเหตุ เขาก็พึงไหม้ในอัตภาพเดียวเท่านั้น ส่วนภิกษุผู้ทุศีลบริโภคของที่เขาให้ด้วยศรัทธา เขาพึงไปเกิดในนรกหลายร้อยชาติ


การที่จะบอกพระภิกษุให้ได้ทราบความจริง ก็ต้องรอเวลาที่เหมาะที่ควร มุ่งที่จะเกื้อกูลด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา และไม่ใช่ว่าจะไปสอนท่าน ที่ดีที่สุดคือกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณ preechacupr และทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มังกรทอง
วันที่ 31 ก.ค. 2567

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
preechacupr
วันที่ 31 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระบอกเงินจะไปทำโรงทาน ทำวัด (found raiser) ผิดกฏข้อไหน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 31 ก.ค. 2567

เรียนความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

ตามที่เรียนแล้วว่า พระภิกษุท่านผิดพระวินัยตั้งแต่รับเงินแล้ว แม้จะรับเพื่อสิ่งอื่น อย่างเช่น รับเพื่อนำไปสร้างวัด เป็นต้น ก็ผิดพระวินัย คือ เป็นอาบัติทุกกฏ ข้อที่ควรพิจารณา คือ การสร้างวัด สร้างเสนาสนะ สร้างสิ่งที่เหมาะควรภายในวัด ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุ แต่เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ และประการที่สำคัญต้องเป็นคฤหัสถ์ผู้ฉลาดด้วย มีความรอบรู้ในพระธรรมวินัย เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ผู้ฉลาด จะมอบเงินไว้กับพวกช่างทั้งหลาย แล้วช่างทั้งหลายนั่นเองจะเป็นผู้ดำเนินการ หรือตนเองเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยที่ไม่ได้ถวายเงินแก่พระภิกษุ อย่างนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย ไม่เป็นเหตุให้พระภิกษุล่วงละเมิดพระวินัยเลยแม้แต่น้อย ตามข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๘๖๔ ดังนี้

ถ้าใครๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์ ท่านทั้งหลาย จงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ภิกษุจะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ว่า ด้วยว่า เป็นทุกกฎ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธ ว่าภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ ไม่สมควร เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกร ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดีและไม่ดีอย่างเดียว ดังนี้แล้ว มอบไว้ในมือพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกรเหล่านั้น จึงหลีกไป อย่างนี้ ก็ควร ถ้าแม้เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง หรือว่า จักอยู่ในมือของผมเอง ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินแก่เขาอย่างเดียว แม้อย่างนี้ ก็ควร

จะเห็นได้ว่า พระธรรมวินัย บริสุทธิ์ สะอาด เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ส.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ