อานิสงส์ของการรักษาอัฏฐศีล (ศีล ๘) ต่างกับอานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีลหรือไม่?

 
JYS
วันที่  1 ส.ค. 2567
หมายเลข  48227
อ่าน  155

ที่ผมเข้าใจ คือ ถ้ารักษาศีล ๘ ในวันปกติจะเป็นศีล ๘ แต่ถ้ารักษาศีล ๘ ในวันอุโบสถจะเป็นอุโบสถศีล ผมเข้าใจถูกใช่ไหมครับ?

พระพุทธเจ้าตรัสแต่อานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีล แต่ไม่ได้ตรัสถึงอานิสงส์ของการรักษาอัฏฐศีล (ศีล ๘) ใช่ไหมครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 ส.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ที่ผมเข้าใจ คือ ถ้ารักษาศีล ๘ ในวันปกติจะเป็นศีล ๘ แต่ถ้ารักษาศีล ๘ ในวันอุโบสถจะเป็นอุโบสถศีล ผมเข้าใจถูกใช่ไหมครับ?

เข้าใจถูกต้องแล้วครับ


พระพุทธเจ้าตรัสแต่อานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีล แต่ไม่ได้ตรัสถึงอานิสงส์ของการรักษาอัฏฐศีล (ศีล ๘) ใช่ไหมครับ?

เท่าที่ค้นคว้าในพระไตรปิฎกและอรรถกถา จะกล่าวถึงอานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีล ซึ่งเป็นอันเข้าใจได้ว่าเมื่อเหตุดี ผลก็ต้องเป็นผลที่ดี


สำคัญที่จุดประสงค์จริงๆ ว่า เพื่ออะไร เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสจริงๆ สำหรับการรักษาอุโบสถศีล อยู่ที่สภาพจิตใจของผู้ที่รักษา และสิ่งที่ควรทำในวันดังกล่าว ก็สำคัญอยู่ที่การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก พร้อมกับความตั้งใจที่จะสมาทานงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติในสิ่งที่ไม่ประเสริฐ จากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล จากการฟ้อนรำประโคมดนตรี และการประดับตกแต่งร่างกาย และ จากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ ถ้ามีโอกาสได้ขัดเกลาบ้าง ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสนั้น จะต้องอาศัยการขัดเกลามากมาย ถ้าเป็นวัตถุพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอุปมาว่าจะต้องใช้ขี้ตะกรัน ดินเหนียว หรืออาศัยเกลือ น้ำด่าง น้ำ อาศัยน้ำมัน อาศัยขี้เถ้า เป็นต้น ในการขัด แต่ในการขัดเกลากิเลสนั้นต้องอาศัยการเจริญกุศลทีละเล็กละน้อย โอกาสใดที่จะเจริญกุศลขัดเกลากิเลส ก็ไม่ควรละเว้นโอกาสนั้น

ที่น่าพิจารณา คือ จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล รักษาศีล ๘ เพื่อประโยชน์แก่การขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ใช่เห็นว่า ศีล ๘ มากกว่าศีล ๕ ก็รักษา โดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไร ไม่ได้มุ่งที่จะขัดเกลากิเลสเลย อย่างนี้ย่อมไม่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าไม่สามารถรักษาศีล ๘ ได้ เพียงศีล ๕ ก็เป็นประโยชน์เช่นเดียวกันถ้ามีความจริงใจ พร้อมกับฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

" ... ผู้ที่จะรักษาอุโบสถศีลต้องเป็นคนดี คือ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล แล้วต้องเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีปกติรักษาศีล ๕ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้รักษาศีล ๕ เป็นปกติแล้วจะรักษาอุโบสถศีล ก็คิดดูว่า จะรักษาเพื่ออะไร ในเมื่อปกติก็ไม่ได้เป็นผู้รักษาศีล ๕

ด้วยเหตุนี้การรักษาอุโบสถศีลจึงต้องเป็นผู้เจริญกุศล และขัดเกลากิเลสด้วยการอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้มีความจริงใจ มีสัจจะต่อตนเอง ไม่ใช่รักษากันเพราะต้องการอานิสงส์ หรือว่าต้องการผลของอุโบสถ โดยที่ตัวเองก็ยังเป็นผู้ไม่มีสัจจะไม่มีความจริงใจ หรืออาจจะเป็นผู้มีมายา หลอกลวง แข่งดี โอ้อวด แล้วก็จะรักษาอุโบสถศีล นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การกระทำทุกอย่างควรจะต้องเป็นผู้มีปัญญา รู้เหตุผลในกุศลที่จะกระทำ ไม่ใช่เพียงต้องการได้รับอานิสงส์ หรือผลของอุโบสถศีลเท่านั้น ... "


ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ศีลอุโบสถ

อุโบสถมีองค์ ๘ [ติกนิบาต]

อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ [วิตถตสูตร]

การรักษาอุโบสถเพื่อขัดเกลาและดับกิเลส [ทุติยราชสูตร]

... ยินดีในกุศลของคุณ JYS และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ส.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JYS
วันที่ 3 ส.ค. 2567

ขอบพระคุณมากครับและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kaeboon
วันที่ 9 ส.ค. 2567

ขอบคุณคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ