ทำไมการถวายบิณฑบาตพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้และในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานจึงมีอานิสงส์เท่ากัน?

 
JYS
วันที่  7 ส.ค. 2567
หมายเลข  48255
อ่าน  2,563

ทำไมการถวายบิณฑบาตพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้และในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานจึงมีอานิสงส์เท่ากัน?

ข้อกังขาที่สุด คือ ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้ทรงยังมี " ... กิเลส ... " อานิสงส์ของการถวายบิณฑบาตพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้จึง " ... ต้อง ... " มีอานิสงส์ " ... น้อยกว่า ... " การถวายบิณฑบาตพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานโดยปริยายไม่ใช่เหรอ?

เหตุสมควรเชื่อได้ว่า อานิสงส์จะเท่ากันนั้น ก็เห็นแต่เพียง การถวายบิณฑบาตพระพุทธเจ้าของ " ... ตปุสสะและภัลลิกะ ... " หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๗ วัน ซึ่งพระองค์ยังมิได้เสวยพระกระยาหารใดๆ เลย ซึ่งนี่จะดู " ... Make Sense ... " มากกว่า คือ มีความสมเหตุสมผลเพราะเหตุว่าพระพุทธเจ้าดับกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้น การถวายบิณฑบาตหลังจากที่ตรัสรู้ได้ ๗ วันนั้นจึงควรมีอานิสงส์เท่าๆ กันกับการถวายบิณฑบาตพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

หรือเผลอๆ การถวายบิณฑบาตพระพุทธเจ้าหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๗ วัน ควรมีอานิสงส์มากกว่าการถวายบิณฑบาตพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยซ้ำ เพราะเหตุว่า ผู้ใดได้ถวายบิณฑบาตหรือถวายทานในท่านผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติหลังจากที่เข้านิโรธสมาบัติได้ ๗ วัน ( รวมถึง พระอนาคามีหรือพระอรหันต์ผู้ไม่ได้บริโภคสิ่งใดเลยตลอด ๗ วัน ) ผู้นั้นย่อมได้รับอานิสงส์ภายในไม่เกิน ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตปุสสะและภัลลิกะ ก็ต้องได้รับอานิสงส์นั้นไปแล้วบวกกับเป็นการถวายการถวายบิณฑบาตพระพุทธเจ้าหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วด้วย อานิสงส์ยิ่งต้องให้ผลอย่างยิ่งใหญ่มโหฬารกว่าพุทธบิณฑบาตทานทั้งปวง

อานิสงส์ของการให้ทานที่มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้และไม่ถึงความหมดสิ้นไปเหมือนกับอานิสงส์ของการให้ทานในชนภายนอกพระพุทธศาสนา โดยมีเดียรถีย์ผู้เป็นอัฏฐมฌานลาภีบุคคลผู้เป็นเลิศที่สุดแห่งชนภายนอก ซึ่งให้ผลเพียง ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิเท่า ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิชาตินั้น คือ อานิสงส์ของการให้ทานใน " ... ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสตาปัตติผลให้แจ้งขึ้นไปและสังฆทาน ... " เท่านั้น ไม่ใช่เหรอ? ซึ่งการถวายบิณฑบาตพระโพธิสัตว์ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้นั้น ก็ชัดเจนแล้วว่า แม้อนัตตสัญญา พระองค์ก็ยังมิได้ตรัสรู้ จักป่วยกล่าวไปไยในอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไฉนเลยอานิสงส์จะเท่ากัน?

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยเพราะมันดูแย้งกันว่าจะมีอานิสงส์เท่ากันได้อย่างไร?

หรือนี่จะนับเป็น ๑ ใน " ... อจินไตย เป็น พุทธวิสัย ... " ... ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 ส.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาศัยข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถาเป็นหลักสำคัญที่จะเป็นเหตุให้ได้ศึกษา พิจารณาไตร่ตรองในความเป็นจริง บิณฑบาตที่นางสุชาดาได้ถวายก่อนที่พระสัมาสัมพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้ และบิณฑบาตที่นายจุนทะ ได้ถวายก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีผลเสมอกันด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ โดยการปรินิพพาน โดยการเข้าสมาบัติ และ โดยการระลึกถึง ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๑๓ (ถรรถกถามหาปรินิพพานสูตร) ดังนี้

ถามว่า พระตถาคตสรรเสริญบิณฑบาตใด ที่นางสุชาดาถวายแล้วตรัสรู้ บิณฑบาตนั้นพระองค์เสวยในเวลาที่ยังมีราคะโทสะและโมหะ แต่บิณฑบาตนี้ที่นายจุนทะถวายแล้ว พระองค์เสวยในเวลาที่ปราศจากราคะโทสะโมหะ มิใช่หรือ แต่ไฉน บิณฑบาตทั้งสองนี้จึงมีผลเท่าๆ กัน.

แก้ว่า เพราะเสมอกันโดยการปรินิพพาน เสมอกันโดยการเข้าสมาบัติ และเสมอกันโดยการระลึกถึง.

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยบิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ และเสวยบิณฑบาตที่นายจุนทะถวายแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ รวมความว่า มีผลเสมอกันโดยการปรินิพพาน.

ก็ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ พระองค์ทรงเข้าสมาบัตินับได้สองล้านสี่แสนโกฏิ แม้ในวันเสด็จปรินิพพาน พระองค์ก็ทรงเข้าสมาบัติเหล่านั้นทั้งหมด. รวมความว่า มีผลเสมอกันโดยเสมอกันด้วยสมาบัติ.

ในกาลต่อมา นางสุชาดาได้ทราบว่า เล่ากันมาว่า ผู้ที่เราเห็นนั้นไม่ใช่รุกขเทวดา เป็นพระโพธิสัตว์ ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์นั้นฉันบิณฑบาตนั้นแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ดำรงอยู่ได้ด้วยบิณฑบาตนั้น ๗ สัปดาห์. เมื่อนางได้ฟังดังนั้น ก็ระลึกได้ว่า เป็นลาภของเราหนอ จึงเกิดปีติโสมนัสอย่างแรง.

ครั้นต่อมา นายจุนทะได้สดับว่า ได้ยินว่า บิณฑบาตครั้งสุดท้ายที่เราถวาย เราได้ยอดธรรมแล้ว ได้ยินว่า พระศาสดาเสวยบิณฑบาตของเราเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หวนระลึกได้ว่า เป็นลาภของเราหนอ จึงเกิดโสมนัสอย่างแรง พึงทราบว่า มีผลเสมอกันแม้โดยการเสมอกันแห่งการระลึกถึงอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.


เมื่อได้เจริญกุศล กุศลสำเร็จแล้ว ผลที่จะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญของใครทั้งสิ้น ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณ JYS และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ส.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 7 ก.ย. 2567

ถ้ามีโอกาสที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็เป็นนาทีทองของชีวิต เพราะกุศลเกิดยาก อกุศลเกิดง่าย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ก.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ