ใครอยู่เป็นสุขในโลก [หัตถกสูตร]

 
wittawat
วันที่  8 ส.ค. 2567
หมายเลข  48259
อ่าน  60

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ใครอยู่เป็นสุขในโลก?
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 143
นิคมคาถา
พราหมณ์ผู้ดับ (เครื่องร้อน) สนิทแล้ว นอนเป็นสุขในกาลทั้งปวงแล ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นคนเย็น หาอุปธิมิได้ ตัดเครื่องข้องทั้งปวง กำจัดความกระวนกระวายในหทัย เข้าไปสงบแล้ว ถึงความสงบใจ นอนเป็นสุข.

ข้อความโดยสรุปจากพระสูตรและอรรถกถา
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งขัดสมาธิอยู่บนจีวรเหนือเครื่องลาดที่ทำด้วยใบไม้ที่หล่นเองในป่าประดู่ลาย ชิดทางหลวง ที่เป็นทางเดินโค ในแคว้นอาฬวี
เจ้าชายหัตถกะ ราชบุตรชาวเมืองอาฬวี เสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ห้อมล้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ กำลังเสด็จดำเนินไปยังที่ที่พระพุทธเจ้า (ประทับอยู่) แยกออกจากทางใหญ่ ยึดทางโคเดิน เสด็จไปด้วยพระประสงค์ว่า เราจะเลือกเก็บดอกไม้คละกันไป เพื่อใช้ประโยชน์เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ดังนี้แล้ว ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพบได้กราบทูลถามว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมเป็นสุขดีหรือ พระพุทธเจ้าข้า?"
พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า "อย่างนั้น เจ้าชาย ตถาคตนอนเป็นสุข บรรดาคนที่นอนเป็นสุขในโลก ตถาคตเป็นคนหนึ่ง"
ในสมัยนั้นเองเป็นช่วงเวลาที่หิมะตกอยู่ ๘ วัน เมื่อพื้นดินที่ถูกโคเหยียบย่ำในช่วงฝนตกเมื่อแห้งตัวก็หยาบและแข็งคม ลมหนาวก็พัดมาจากทิศทั้ง ๔ หัตถกราชบุตรไม่เข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นสุขได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า แม้ว่าคหบดี หรือบุตรของคหบดีที่มีที่อยู่อย่างสุขสบายสามารถป้องกันลมหนาวได้ ห้อมล้อมด้วยภริยาก็ตาม แต่ถ้าบุคคลนั้นยังมีความเร่าร้อนทางกาย ทางใจ ที่เกิดเพราะราคะ โทสะ โมหะอยู่ การนอนเป็นทุกข์ ย่อมมีได้สำหรับบุคคลนั้น แต่ราคะ โทสะ โมหะนั้น พระตถาคตทรงละเสียแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตอตาลแล้ว ทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น จึงทรงนอนเป็นสุข


[สรุป]
ใครอยู่เป็นสุขในโลก?
ผู้ที่นอนหลับในที่นอนอันนุ่มสบายแต่เต็มไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ ย่อมไม่ได้นอนอยู่เป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะความทุกข์ใจอันเกิดจากกิเลสย่อมเกิดได้บ่อยๆ และถึงแม้ว่าผู้นั้นจะได้รับความสุขแต่เมื่อสุขนั้นหมดเป็น หรือไม่เป็นไปตามปรารถนาก็มีความทุกข์อยู่ดี เพราะยังเป็นความสุขที่เจือด้วยกิเลส

ส่วนผู้ที่ดับกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ แล้วไม่เหลือเลย ได้แก่ พระอรหันต์ ทั้งหลาย แม้ว่าจะไม่ได้รับความสุขสบายทางกาย แต่ความทุกข์ใจของท่านไม่มีเพราะดับไม่เหลือแล้ว แม้ความสุขพร้อมความติดข้องที่เจือด้วยกิเลส ท่านก็ดับไปแล้วไม่มีเหลือเช่นกันด้วยอรหัตมรรค ท่านจึงเป็นสุขโดยส่วนเดียว

พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ที่เข้าใจความจริงที่กำลังปรากฏขณะนี้ จนกระทั่งความเข้าใจความจริงที่สูงสุด ที่แม้ปุถุชนก็ฝันเห็นไม่ได้ คือ พระนิพพาน ซึ่งความเข้าใจและการรู้แจ้งพระนิพพานนั้นสามารถที่จะดับกิเลสได้ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

การดับกิเลสไม่สามารถที่จะดับทั้งหมดครั้งเดียวได้ ต้องดับได้เป็นขั้นๆ ตั้งแต่พระโสดาบัน มีการดับความเห็นผิดเป็นต้น พระสกทาคามี ดับความติดข้องในกามหรือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างหยาบ พระอนาคามี ดับความติดข้องในกามอย่างละเอียด จนกระทั่งดับความติดข้องในภพได้ไม่เหลือเลยเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์

แต่ก่อนที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ซึ่งเป็นคุณธรรมสูงสุดได้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจมากมายหลายประการ ซึ่งเบื้องต้น ความเข้าใจต้องเกิดจากการฟังคำจริงของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้นั้นเข้าใจถูกเห็นถูกว่า ไม่มีเรามีคนมีทรัพย์มีคนรู้จักมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีสถานที่ พิสูจน์ได้ทันทีเมื่อหลับตาไม่มีคนไม่มีทรัพย์ไม่มีสถานที่ สิ่งที่คิดว่ามีปรากฏเมื่อลืมตาเท่านั้น แท้จริง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา มีอาการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา มีสภาพที่คิดรูปร่างสัณฐาน คิดคำ คิดความหมาย แม้ทางหู หรือทางอื่นๆ ก็เช่นกัน นี้เป็นเบื้องต้น จนกว่าปัญญานั้นจะอบรมขึ้นเรื่อยๆ จากขั้นฟังไตร่ตรองว่าสิ่งใดจริงไม่จริง (คนไม่จริง สีจริง มือไม่จริง เย็นร้อนอ่อนแข็งจริง) ขั้นคิดถูกตามสิ่งที่มีจริง ขั้นระลึกทันทีในสิ่งที่มีจริง ก็ต้องอาศัยการอบรมขึ้นเรื่อยๆ จากการฟังบ่อยๆ และไม่ลืมว่าไม่ใช่เราจะทำ เราอบรมเจริญปัญญา แท้จริงปัญญาเกิดได้เพราะมีเหตุ ได้แก่ การฟังคำจริงการคิดถูกตามคำจริง เป็นต้น เพราะถ้าคิดว่าเราจะทำ ก็เป็นการเริ่มต้นผิดแต่ต้น ไม่ใช่ปัญญาแต่เป็นโลภะ เพราะเป็นไปกับความหวังความต้องการ
ขอกราบอนุโมทนา


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ