คนทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี

 
nattawan
วันที่  15 ส.ค. 2567
หมายเลข  48293
อ่าน  133

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๖๘

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น

คนทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี

ส่วนคนทำเหตุชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว

เรื่องกรรม และ การได้รับผลของกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง การที่จะรู้ว่า ที่ได้รับผลอย่างนี้ มาจากกรรมอะไร ในชาติไหน ก็ต้องเป็นพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 15 ส.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคล มีอกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความติดข้อง ยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น เป็นความจริงที่ว่า ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความโกรธ ก็ยังมี เมื่อมีเหตุที่จะทำให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา ถ้าเป็นผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมฟังพระธรรม

จนกระทั่งมีความเข้าใจสภาพธรรม ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมจริงๆ แล้ว ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็จะลดน้อยลง ทุกอย่างเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นจริงๆ จึงไม่ควรโกรธใครเลยทั้งสิ้น ไม่ควรเห็นว่าโกรธเป็นเรื่องดี เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ทำให้ทุกคนมีที่พึ่ง นั่นก็คือ ปัญญา (ความเข้าใจถูก) ของแต่ละบุคคล นั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nattawan
วันที่ 15 ส.ค. 2567

🌱ลมพัดถูกตัวแล้วไปไหน กลับมาอีกหรือเปล่า แล้วไปนั่งคิดถึงลมที่พัดถูกตัวเมื่อกี๊นี้ทำไม? ทุกสิ่งทุกอย่างชั่วคราวจริงๆ สั้นแสนสั้น แค่เพียงปรากฏแต่ละทาง ทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกันก็ไม่รู้ ทางจมูกอย่างหนึ่ง ทางลิ้นอย่างหนึ่งทางกายอย่างหนึ่ง แต่ละอย่างๆ ก็เป็นแต่ละขันธ์คือแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย

🌴เสรีชน ต้องมีโพธิปักขิยธรรมเกิดขึ้น เป็นปัญญาที่อาจหาญ ร่าเริงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปกติ เป็นอิสระจากความติดข้องและความไม่รู้ เป็นเสรีชนอย่างแท้จริง

บ้านธัมมะ ๑๔ ก.ค. ๕๓

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 15 ส.ค. 2567

ถ. การปฏิบัติธรรมคืออะไร

ต. ธรรมที่ปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ฟังเพื่อให้เกิดความเห็นถูกเข้าใจถูก เพราะมีธรรมปรากฏ แต่ยังไม่เข้าใจตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่มีลักษณะสภาพธรรมปรากฏขณะนี้ ต้องฟังความจริงซึ่งเป็นคำจริงจนเข้าใจจริงๆ ไม่คิดเอาเอง ฟังให้รู้ความจริงว่าไม่รู้มากแค่ไหน โลภะแค่ไหน สบายใจไหมเวลาฟังแล้วเข้าใจ ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องไปทำอะไร???

ถ. ปริยัติมีผลเกื้อกูลการปฏิบัติธรรมอย่างไร

ต. ปฏิบัติธรรมคือเข้าใจธรรมหรือเปล่า? ทั้งหมดไม่พ้นความเข้าใจธรรมะ (ปัญญา) ถ้าไม่เข้าใจธรรม ปฏิบัติอะไร? เพื่ออะไร? ต้องรู้ว่าธรรมคืออะไร ไม่เผิน คือขั้นฟังเข้าใจ ความเข้าใจต้องเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เพิ่มขึ้นจากการฟัง ปฏิบัติไม่ได้ เพราะฉะนั้นปฏิบัติธรรม คือ เข้าใจธรรมที่มีจริงขณะนี้

บ้านธัมมะ ๗ ก.ค. ๕๓

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nattawan
วันที่ 15 ส.ค. 2567

-ตัณหาเป็นผู้สร้างเรือน มีอวิชชาเป็นเรือนยอด

-เมื่อได้ลาภแล้วเกิดอกุศลติดข้อง ขณะนั้นเป็นลาภหรือเปล่า???

-พระธรรมแต่ละคำเป็นคำจริง ที่ควรจำใส่ไว้ในหทัย

-ละเมื่อรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ ความเข้าใจละความไม่เข้าใจ ปัญญาละอวิชชา

-ถ้ารู้ว่าขณะนี้สิ่งที่เห็นเป็นธรรมะที่มีจริงๆ ขณะนั้นรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขึ้นอยู่กับความเข้าใจว่าเป็นธรรมะ จึงได้รู้จัก/เข้าเฝ้าพระองค์

-เดี๋ยวนี้มีเห็น นึกถึงชื่อหรือเปล่า แต่เห็นก็มีโดยไม่ต้องคิดถึงชื่อเลย แค่รู้ว่าเป็นธรรมะก็ยาก ลักษณะมีปรากฏทั้งวันแต่ไม่รู้เลย

บ้านธัมมะ ๒๓ และ ๓๐ มิ.ย. ๕๓

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nattawan
วันที่ 15 ส.ค. 2567

ถาม : ทำไมพระธรรมจึงยอดเยี่ยมกว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

ตอบ : เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ในทางโลกมีประโยชน์อะไร เป็นที่ติดข้องของโลภะ ทำให้กิเลสเพิ่มพูน เมื่อเสื่อมลาภ ก็เดือดร้อนใจ ลาภจริงๆ คือป้ญญาที่เป็นหนทางให้รู้ความจริง ขัดเกลาและดับกิเลสในที่สุด ลาภที่ประเสริฐ คือ การได้ฟังพระธรรม

บ้านธัมมะ ๑๖ มิ.ย. ๕๓

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nattawan
วันที่ 15 ส.ค. 2567

ธรรมะวันนี้ สี่คำ

#จิรกาลภาวนา การอบรมเจริญปัญญาต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานมาก

#กรรม การกระทำ ได้แก่ เจตนาเจตสิก ที่ตั้งใจ จงใจ เกิดกับจิตทุกประเภท โดยมากมักหมายถึงนานักขณิกกรรม ซึ่งจัดแจงประมวลมาซึ่งผล คือ วิบาก

#ปฏิบัติ การถึงเฉพาะ

๑. การที่กุศลกรรมเกิดขึ้นทำกิจของกุศลธรรมนั้นๆ เป็นการถึงเฉพาะในกุศลธรรม

๒. การถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

#บารมี คุณธรรมที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด กุศลธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาดับกิเลส

บ้านธัมมะ

Photo cr. Num Sitdhiraksa

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ส.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ