เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมลบเลือน

 
เมตตา
วันที่  4 ก.ย. 2567
หมายเลข  48412
อ่าน  275

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 323

๔. ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร

ว่าด้วยเหตุเสื่อมและเหตุเจริญแห่งศาสนา

[๑๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ ความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑

ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑

ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑

ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ โดยเคารพ ๑

รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑

เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑

ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑

ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑

รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นไม่ลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม.

จบ ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๔

อรรถกถาปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า น สกฺกจฺจ ธมฺม สุณาติ ได้แก่ ไม่เงี่ยหูตั้งใจฟังธรรม.

บทว่า น ปริยาปุณาติ ได้แก่ แม้เมื่อจะปฏิบัติธรรมตามที่ฟังมา ก็ไม่ปฏิบัติโดยเคารพ.

จบ อรรถกถาปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตที่ ๔


[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 326

๖. ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร

ว่าด้วยเหตุเสื่อม และไม่เสื่อมแห่งศาสนา

[๑๕๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตร ที่ทรงจำไว้ไม่ดี ด้วยบท และพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี แม้อรรถแห่งบท และพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ย่อมเป็นเนื้อความมีนัยไม่ดี นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมกระทำให้เป็นผู้ว่ายาก เป็นผู้ไม่อดทน รับคำพร่ำสอนโดยไม่เคารพ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต มีการเล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ย่อมไม่บอกพระสูตร แก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรย่อมขาดเค้ามูล ไม่มีหลัก นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไป

เพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ประชุมชนหลัง ย่อมถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง ประชุมชนเหล่านั้น ก็เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง สงฆ์เป็นผู้แตกกัน เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว ย่อมมีการด่ากันและกัน บริภาษกันและกัน แช่งกันและกัน ทอดทิ้งกันและกัน ในเห่ตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใส ย่อมไม่เลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ย่อมเหินห่าง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไป เพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตร ทรงจำไว้ดี ด้วยบท และพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี ย่อมเป็นเนื้อความที่มีนัยดี นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือน เสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรม ที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือน เสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูตเล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย และทรงมาติกา ย่อมบอกแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรย่อม ไม่ขาดเค้ามูล มีหลักฐานอยู่ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือน เสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระย่อมไม่มักมาก ไม่ประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิด เป็นหัวหน้าในทางวิเวก ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรม ที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง สงฆ์ย่อมเป็นผู้สมัครสมานกันดี ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเป็นอย่างเดียวกัน อยู่สบาย ก็เมื่อสงฆ์สมัครสมานกันดี ไม่มีการด่ากันและกัน ไม่บริภาษกันและกัน ไม่มีการแข่งขันกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกันและกัน ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมเลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใส แล้ว ย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้น นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือน เสื่อมสูญ แห่งสัทธรรม.

จบตติยสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๖


อ.วิชัย: มีประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณา เพราะว่าในข้อควา ม ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมตั้งมั่น หรือว่า อันตธาน อย่างความเป็นผู้ว่ายาก และเป็นผู้ที่ไม่อดทน และไม่รับคำพร่ำสอน คือ อนุศาสนี โดยเคารพ นี่ก็เป็น เหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมลบเลือนเสื่อมสูญไป ครับ

ดูเหมือนการกล่าวอย่างความเป็นผู้ว่ายาก แล้วก็ไม่อดทน แล้วก็ไม่รับคำพร่ำสอน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลครับ จะเป็นเหตุให้พระสัทธรรมนี้อันตธานอย่างไรครับ

ท่านอาจารย์: พระสัทธรรมอยู่ที่ไหน?

อ.วิชัย: อยู่ที่พระธรรมคำสอนครับ

ท่านอาจารย์: อยู่ไหน?

อ.วิชัย: ต้องอยู่ที่ความเข้าใจของแต่ละบุคคลที่ได้ยินได้ฟังครับ

ท่านอาจารย์: อยู่ที่แต่ละบุคคลใช่ไหม?

อ.วิชัย: ใช่ครับ

ท่านอาจารย์: มิเช่นนั้น พระธรรมอยู่ไหน? ไม่มีเลย

อ.วิชัย: ครับ แม้มีการจารึก หรือว่าตั้งสิ่งประดิษฐ์ที่จะรักษาคำ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ได้เป็นการดำรงคำสอนครับ

ท่านอาจารย์: สร้างอะไรล่ะ?

อ.วิชัย: อย่างยุคปัจจุบันก็มีสื่อต่างๆ ที่สามารถค้นหาอ่านข้อความในพระไตรปิฎก หรือแม้แต่การสามารถดูทางออนไลน์ได้ครับ ซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนครับ

ท่านอาจารย์: แล้วว่าง่ายไหม อ่านแล้วเข้าใจไหม?

อ.วิชัย: เป็นถ้อยคำที่ลึกซึ้ง อ่านแล้วถ้าไม่ได้ไตร่ตรอง หรือไม่ได้รับคำแนะนำ ก็ไม่เข้าใจครับ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่เข้าใจแล้วจะรักษาพระศาสนาได้ไหม?

อ.วิชัย: ก็เป็นไปไม่ได้เลยครับ ถ้าไม่เข้าใจ หรือยิ่งเข้าใจผิดก็ยิ่งเป็นการทำลายคำสอนครับ

อ.อรรณพ: กราบท่านอาจารย์ครับ ความอดทนที่จะว่าง่ายขึ้น ขอท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง ความเป็นผู้อดทนที่จะค่อยๆ เป็นผู้ว่าง่ายขึ้น เป็นอย่างไรครับ?

ท่านอาจารย์: ว่าง่ายตาม คำ ของใคร?

อ.อรรณพ: ตามคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่ได้ตาม คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าง่ายไหม?

อ.อรรณพ: ว่ายากครับ ไม่ได้ว่าง่าย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เข้าใจ แต่ละคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า?

อ.อรรณพ: เห็นประโยชน์ที่จะเข้าใจ คำ ของพระองค์ให้ตรงตามที่พระองค์ทรงแสดงครับ

ท่านอาจารย์: เห็นประโยชน์แล้วทำอะไร?

อ.อรรณพ: ก็ฟังพระธรรม ...

ท่านอาจารย์: ว่าง่ายไหม ขณะที่รู้ว่าต้องฟังพระธรรมที่ลึกซึ้ง เพื่อเข้าใจความลึกซึ้งอย่างยิ่ง

อ.อรรณพ: ว่าง่ายครับ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่เข้าใจพระธรรม จะว่าง่ายไหม?

อ.อรรณพ: ไม่ได้ครับ

ท่านอาจารย์: ตามอะไร ตามใคร ตามคำอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ด้วยว่า นั่นไม่ใช่ คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เป็น คำ ของแต่ละคนเท่านั้น ที่ไม่ได้ว่าง่ายเลย ที่จะฟังพระธรรมด้วยความเคารพในสิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่สามารถทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งไม่เคยมีในสังสารวัฏฏ์ คือเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เป็นสังสารวัฏฏ์

อ.อรรณพ: คำที่ท่านอาจารย์เพิ่งกล่าวจบลงไปนี่ ก็ยิ่งเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม อบรมความเข้าใจให้เพิ่มขึ้น แล้วก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า นี่นะ คือความอดทนเมื่อฟังพระธรรมเข้าใจแล้ว เมื่อฟังพระธรรมเข้าใจขึ้น เห็นประโยชน์ว่า มีขันติความอดทนที่จะไม่ไปทำอย่างอื่น อดทนที่จะฟังเพิ่มขึ้นๆ ก็ค่อยๆ ว่าง่ายขึ้น

ท่านอาจารย์: แล้วอดทนทุกขณะในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? มิเช่นนั้น จะเอาความอดทนมาแต่ไหน?

อ.อรรณพ: ครับ ความอดทนอย่างยิ่งจะมีขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความอดทนในแต่ละขณะในชีวิตประจำวัน

กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ก็เริ่มเพิ่มความอดทนในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่อดทนเกิดอยู่เรื่อยๆ ครับ

ท่านอาจารย์: ไม่อดทนเมื่อไหร่เป็นปัญญาหรือเปล่า?

อ.อรรณพ: ไม่เป็นปัญญาครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอดคล้องกันทั้งหมดใช่ไหม?

อ.อรรณพ: ใช่ครับ ท่านอาจารย์พูดอย่างนี้ ผมก็ปลื้มปีติที่ใน มงคลสูตร เมื่อพระองค์ทรงแสดงการฟังธรรมตามกาล ก็ทรงแสดงบาทกถาต่อไป ก็คือ ความอดทน เพราะว่า ได้มีการฟังธรรมแล้วเห็นประโยชน์จึงอดทน ไม่ใช่ไปอดทนเรื่องอื่น แต่อดทนที่จะเข้าใจความจริงต่อไป เมื่อมีความอดทนก็ว่าง่าย

กราบท่านอาจารย์ ความเป็นผู้ค่อยๆ ว่าง่ายขึ้นจากความอดทนในการฟังพระธรรมเพิ่มขึ้น เข้าใจขึ้น

ท่านอาจารย์: คุณอรรณพอดทนต่อคำว่าร้ายของคนอื่นไหม?

อ.อรรณพ: อ ดทนเพิ่มขึ้นครับ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นไหมว่า จะต้องอดทนต่อไป

อ.อรรณพ: กราบเท้าเป็นประโยชน์มากเลยครับ บางครั้งก็เห็นว่า ควรอดทนในความเข้าใจผิดของคนอื่นเขา เขาก็อาจจะคิดว่าเราเอ็นเอียงไปทางโน้นทางนี้อะไรอย่างนี้ครับ แต่จริงๆ แล้วก็คิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านเท่าที่จะไตร่ตรองได้ แล้วก็คิดว่าทุกคนก็มีความดีความไม่ดีต่างๆ กัน ในส่วนของความดีความถนัดของแต่ละคน ศิลปะของแต่ละคนมาร่วมกันดำรงพระศาสนาก็จะดี ก็มีความอดทนอย่างนี้เพิ่มขึ้น ไม่ได้ท้อถอยที่จะทิ้ง แต่ก็มีความเป็นอกุศลเกิดขึ้นด้วยครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ว่าง่ายต่อการที่จะรู้ความจริงที่เป็นประโยชน์มหาศาลในชีวิตในสังสารวัฏฏ์

อ.อรรณพ: คำท่านอาจารย์ซาบซึ้ง เป็นพรอันประเสริฐจริงๆ

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ขันติ ความอดทน “คำ” ก็ไม่สำคัญอะไร “ชื่อ” ก็ไม่สำคัญอะไร ถ้าไม่สามารถ “เข้าใจสิ่งที่กำลังมี”

หน้าที่ที่ควรทำ คือ อดทน [อรรถกถา สัพพาสวสังวรสูตร]

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

อดทนที่จะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ