อภิชฌา คำเดียว มีแปลว่า อย่างไร

 
preechacupr
วันที่  7 ก.ย. 2567
หมายเลข  48430
อ่าน  94

อภิชชา คำเดียว มีแปลว่า ๒ อย่าง ต่างกันมาก น่าจะมีอันหนื่งแปลผิด

อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาสติปัฏฐานสูตร อภิชฌาในคำนั้นเป็นอย่างไร ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความดีใจ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต นี้เรียกว่าอภิชฌา.

หรือจาก

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 295

ธรรมชาติที่เพ่งเล็ง ชื่อว่า อภิชฌา อธิบายว่า เป็นผู้มุ่งต่อสิ่งของ ของผู้อื่น ย่อมเป็นไปโดยความเป็นผู้น้อมไปสู่สมบัติของผู้อื่น

เห็น อภิชฌา โทมนัส ในพระสูตรมาก จะได้เข้าใจ (เลือกอันหนึ่ง) ได้ถูก

ขอขอบคุณท่าน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า อภิชฌา มีความหมายว่า ความเพ่งเล็ง ความปรารถนา ความอยาก ความต้องการ ซึ่งไม่พ้นไปจากความเป็นอกุศลธรรม ที่เป็นโลภเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ติดต้องต้องการ ไม่สละไม่ปล่อย ขณะใดที่เห็นรูป เป็นต้น แล้วพอใจ ชอบใจ ขณะนั้น ชื่อว่า มีอภิชฌาในอารมณ์นั้น เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อความที่ยกมาจากอรรถกถาที่กล่าวถึง อภิชฌา จึงไม่ได้แปลผิดแต่อย่างใด เพราะเหตุว่า อภิชฌา ตามข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถถามีหลายความมุ่งหมายขึ้นอยู่กับแต่ละที่แต่ละแห่งว่าจะมุ่งหมายถึงอย่างใด ในบางแห่งหมายถึงโลภะความติดข้องยินดีพอใจในทุกระดับขั้น แต่ในบางแห่งหมายถึงเฉพาะโลภะที่มีกำลังที่ล่วงเป็นอกุศลกรรมบถ จึงต้องพิจารณาในแต่ละที่ว่ามุ่งหมายถึงอภิชฌาในระดับใด

สำหรับ โทมนัส จะเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง คือ โทมนัสเวลทนาซึ่งเป็นเวทนาที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิตเท่านั้น แต่เมื่อกล่าวถึงโทมนัสในมหาสติปัฏฐานสูตร โทมนัสในที่นี้หมายถึงพยาปาทะ (โทสะ) ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๘๕ ดังนี้

"พึงเห็นการเชื่อมความดังนี้ว่า นำออกเสียซึ่งอภิชฌา และโทมนัสในโลกนั้น. ก็เพราะในที่นี้ กามฉันท์ รวมเข้ากับศัพท์ว่า อภิชฌา พยาบาทรวมเข้ากับศัพท์ว่าโทมนัส"

ขอเชิญศึกษาข้อความในพระไตรปิฎกเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

อภิชฌา [ธรรมสังคณี]

... ยินดีในกุศลของคุณ preechacupr และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ