โลภะซุกซ่อนอยู่เงียบๆ

 
nattawan
วันที่  13 ก.ย. 2567
หมายเลข  48466
อ่าน  200

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โลภะซุกซ่อนอยู่เงียบๆ สนิทมากทีเดียว เพราะเหตุว่ามีทุกวัน พอลืมตาก็มีโลภะ ได้ยินเสียงก็มีโลภะ ได้กลิ่นก็มีโลภะ ลิ้มรสก็มีโลภะ กระทบสัมผัสกายก็มีโลภะ คิดนึกก็ด้วยโลภะตลอด แต่แม้กระนั้นนานๆ ก็จะรู้จักของลักษณะโลภะสักทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า กว่าจะชินกับลักษณะของโลภะ แล้วก็เห็นสภาพที่เป็นอกุศลของโลภะ จึงจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเพราะโลภะนี่เอง จึงทำให้เหมือนกับพืชเชื้อที่ไม่มีวันหมด สืบต่อกันไปอยู่เรื่อยๆ จากชาติหนึ่งสู่อีกชาติหนึ่ง เพราะไม่หมดโลภะ ความยินดีต้องการนั่นเอง

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984

www.dhammahome.com
Photo cr. Amazing World


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 13 ก.ย. 2567

ฟังธรรมเพราะไม่รู้ และรู้ว่ามีผู้ตรัสรู้ ไม่รู้ว่าไม่ใช่เราจนกว่าจะได้ฟังคำของพระพุทธเจ้า

ฟังด้วยความเคารพ มั่นคง ได้เข้าใจความจริงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

เป็นขณะที่มีค่า ที่ได้สะสมความเข้าใจถูกต่อไป

ฟังธรรมเข้าใจในภาษาของตนๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับขั้น จนกว่าจะดับกิเลสได้

สนทนาธรรมที่สวนปาล์มฟาร์มนก
ฉะเชิงเทรา ๑๓ ก.ย. ๕๙
www.dhammahome.com

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nattawan
วันที่ 13 ก.ย. 2567

ภิกษุ คือ ผู้สละภาระทั้งหมดของคฤหัสถ์ ออกบวชเพื่อศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลส เมื่อสละทั้งหมดแต่แรกแล้ว จึงไม่ควรรับเงินทองอีกเลย

www.dhammahome.com

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 13 ก.ย. 2567

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๕๑๘

"ถ้าท่านทั้งหลายกลัวความทุกข์ ถ้าความทุกข์ ไม่เป็นที่รัก ของท่านทั้งหลายไซร้ ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำบาปกรรม ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับเลย ถ้าท่านทั้งหลายจักทำหรือทำอยู่ ซึ่งบาปกรรมไซร้ ท่านทั้งหลายแม้จะเหาะหนีไป ก็ย่อมไม่พ้นไป จากความทุกข์เลย"

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน กุมารกสูตร)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nattawan
วันที่ 13 ก.ย. 2567

🍁อุชุกตา หมายถึง ความเป็นผู้ตรง

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้ง แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง ทุกอย่างทุกประการ ตามความเป็นจริง พยัญชนะที่ทรงใช้ในการประกาศสัจจธรรมนั้น ก็ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่เหลือให้สงสัย ให้เข้าใจผิด แม้แต่นิดเดียว สําคัญคือความเข้าใจถูก เห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง

การดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาจึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจธรรม ชาวพุทธจึงควรมีความตรงและจริงใจ ที่เห็นความสำคัญของการศึกษา และน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม อย่างถูกต้องตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นชาวพุทธจริงๆ นั่นคือการหลอกตัวเอง

www.dhammahome.com

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nattawan
วันที่ 13 ก.ย. 2567

🍀มิจฺฉาปฏิปตฺติ หมายถึง ปฏิบัติผิด

ชีวิตที่ประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ มีชีวิตอยู่เพื่อได้ฟังพระธรรม สะสมอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก และไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการด้วย ซึ่งเป็นการดำเนินตามทางที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส ป้องกันไม่ให้ตกไปในความเห็นผิด ความดำริผิด เป็นต้น เพราะถ้าประมาทในอกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับความเห็นในเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติทั้งหลาย

หนทางที่ผิด ที่ทำตามๆ กันไปด้วยความไม่รู้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา มีแต่จะทำให้อกุศลเพิ่มพูนทับถมมากยิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกับหนทางที่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการปฏิบัติที่ผิด มีพื้นฐานมาจากความไม่รู้ นั่นเอง และที่จะดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้องได้ จะต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ฟังความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

www.dhammahome.com

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nattawan
วันที่ 13 ก.ย. 2567

ธรรมะวันนี้ สี่คำ

# พุทธศาสนา คำสอนของผู้ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงโดยละเอียดลึกซึ้ง ถ่องแท้โดยประการทั้งปวง

# สติปัฏฐาน ธรรมทั้งหมดที่เป็นที่ตั้งให้สติระลึกรู้และเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง

# สัมปชัญญะ ความรู้ทั่วพร้อม คือ เข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

# โดยชอบ มาจากบาลีคำว่า สัมมา หมายถึง โดยชอบ โดยถูกต้อง เพราะต้องประกอบด้วยปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้องเสมอ

บ้านธัมมะ
www.dhammahome.com

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ