ชวนจิตมีอำนาจน้อยกว่าวิถีจิตใช่หรือเปล่า?
ควรทราบความจริงตามหลักพระธรรมว่า ชวนจิตกับวิถีจิต มีความหมายเหมือนกัน วิถีจิตมีหลายขณะ คือเว้นขณะที่ จิตปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ แล้ว ขณะอื่นเป็นวิถีทั้งหมด ตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์ทรงแสดงจิตประเภทต่างๆ ไม่มีคำว่า จิตใต้สำนึก อนึ่งการแก้ไขสันดาน (อกุศลธรรม) ด้วยการอบรมเจริญปัญญา จนถึงการบรรลุเป็นพระอรหันต์ชื่อว่าแก้ไข คือละความไม่ดี (อกุศลธรรม) ทั้งหมดออกจากใจ จึงชื่อว่า การแก้ไขที่ได้ผลอย่างแท้จริง
จิตใต้สำนึก (unconcious mind) เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในศาสตร์ของจิตวิทยา และเป็นการบัญญัติชื่อขึ้นเองจากความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งที่ค้นพบจากการศึกษาพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาของคนหรือสัตว์ทั้งที่น่าพึงประสงค์และไม่น่าพึงประสงค์ เหตุที่ศึกษาก็เพื่อสร้างองค์ความรู้และข้อมูลที่จะนำมาใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นที่พึงประสงค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการแก้ถึงสันดาน เพราะจิตวิทยาไม่ใช่ศาสตร์ที่จะทำให้ละอกุศลได้ รวมทั้งละความเป็นตัวตนไม่ได้เช่นกัน มิหนำซ้ำยังเป็นการแก้อกุศลด้วยอกุศล เช่นการให้รางวัลเป็นสิ่งตอบแทน เมื่อบุคคลหนึ่งกระทำตามเงื่อนไขความต้องการของอีกบุคคลหนึ่งได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มความติดข้องให้กับบุคคลที่ได้รับสิ่งๆ นั้นยิ่งขึ้นไปอีก เพราะได้เท่าไรก็ไม่อิ่ม เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่ไม่ได้ ก็ย่อมจะทำให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ มีกำลังแรงที่จะเกิดต่อๆ ไปได้ การพยายามปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่บุคคลกระทำเนืองๆ โดยล่อให้เกิดความต้องการในสิ่งๆ หนึ่ง เพื่อลดการพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของอีกบุคคลหนึ่ง เป็นการแก้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อไม่ได้ผลก็ต้องปรับไปใช้วิธีอื่น เมื่อวิธีเก่าไม่ได้ผลก็ต้องหาทางแก้ใหม่ สร้างวิธีการใหม่ ไม่สิ้นสุด จิตวิทยาจึงยังเป็นศาสตร์ที่ยังไม่ตายตัว เพราะศึกษาในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ด้วยความรู้ของปุถุชน เหตุนี้ผู้ที่ศึกษาพระธรรมจริงๆ จะไม่ใช้คำว่า จิตใต้สำนึก ในการเผยแพร่แสดงธรรมเลย เพราะไม่มีจารึกไว้ในพระไตรปิฎกครับ