พึงรู้ด้วยตนเอง

 
เมตตา
วันที่  21 ก.ย. 2567
หมายเลข  48522
อ่าน  154

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 338 - 339

๕. กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร)

ว่าด้วยมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงแปล

[๕๐๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า (ผู้มีคุณควรคบ หรือมีคุณควรนับถือ) พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท (เมืองขึ้นในแว่นแคว้นโกศล) บรรลุถึงเกสปุตตนิคม (เมืองชื่อเกสปุตตะ) ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งหมู่ชนกาลามโคตร (วงศ์กาลาม) ชาวเกสปุตตนิคมได้ทราบว่า พระสมณโคดมสักยบุตร เสด็จออกผนวชจากสักยสกุล เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมแล้ว จึงดําริว่า กิตติศัพท์อันงามของ พระสมณโคดม ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่าแม้เหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็น ผู้ไกลกิเลส (สิ่งที่เกิดขึ้นในใจแล้วทําใจให้เศร้าหมอง มีโลภเป็นต้น) แลเป็น ผู้ควรไหว้ควรบูชา เป็นผู้รู้ชอบเอง เป็นผู้บริบูรณ์แล้วด้วยวิชชาและข้อปฏิบัติ เครื่องดําเนินถึงวิชชา เป็นผู้ไปแล้วดี เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว ในคุณทั้งปวงเต็มที่ เป็นผู้จําแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน ท่านทําให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนโลกนี้กับทั้งเทวดามารพรหมและ หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์และเทวดามนุษย์ให้รู้ตาม ท่านแสดงธรรม ไพเราะ ทั้งในเบื้องต้นท่ามกลางที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ (ศาสนาคือคํา สั่งสอน) บริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง การได้เห็นท่านผู้ไกลกิเลส แลควรไหว้ ควรบูชาอันทรงคุณเช่นนี้ ย่อมเป็นคุณความดี ให้ประโยชน์สําเร็จได้

ครั้น ดําริอย่างนี้แล้ว พร้อมกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บางพวกกราบไหว้ตาม อาการของผู้เลื่อมใส บางพวกเป็นแต่กล่าววาจาปราศรัยแสดงความยินดี บางพวกเป็นแต่ประคองอัญชลีประณมมือ บางพวกร้องประกาศชื่อแลโคตร ของตนๆ ต่างคน นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง บางพวกนิ่งเฉยอยู่ ครั้นหมู่ กาลามชนชาวเกสปุตตนิคมนั้นนั่งเป็นปกติแล้ว จึงทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มาถึงเกสปุตตนิคมนี้ สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดแสดงแต่ถ้อยคําของตนเชิดชูให้เห็นว่า ดีชอบควรจะถือตามถ่ายเดียว พูด คัดค้านข่มถ้อยคําของผู้อื่น ดูหมิ่นเสียว่าไม่ดีไม่ชอบ ไม่ควรจะถือตาม ทํา ถ้อยคําของตนให้เป็นปฏิปักษ์แก่ถ้อยคําของผู้อื่น ครั้นสมณพราหม์พวกหนึ่งอื่น มาถึงเกสปุตตนิคมนี้อีก ก็เป็นเหมือนพวกก่อน เป็นอย่างนี้ทุกๆ หมู่ จน ข้าพระองค์มีความสงสัย ไม่รู้ว่าท่านสมณะเหล่านี้ ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่า ได้ยินอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น ฯลฯ


อ.คำปั่น: กราบเท้าท่านอาจารย์ ก็ซาบซึ้งอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงต้นที่ท่านอาจารย์ได้เมตตาเกื้อกูลตั้งแต่ประเด็นคำถามของ อ.วิชัย ซึ่งกระผมก็ซาบซึ้งอย่างยิ่งครับกับข้อความที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงว่า เมื่อตรงต่อความเป็นจริง จึงว่าง่าย เป็นคำที่ไพเราะ และเป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งครับ ขอโอกาสกราบท่านอาจารย์ครับว่า คำที่ได้ยินได้ฟัง แม้ว่าจะเป็นข้อความใดก็ตามในพระไตรปิฎกในอรรถกถา ก็คือเหมือนกับเป็นคำธรรมดา แต่ก็มีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะผู้ตรัสผู้แสดง ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างในส่วนของ อกุศล พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมาก ในส่วนของ ธรรมที่มีจริงทางฝ่ายไม่ดี พระองค์ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริง พอได้ฟังที่ท่านอาจารย์ได้เกื้อกูล ก็เลยเห็นว่าทั้งหมดทั้งปวงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ก็คือเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อให้ผู้ฟังได้เกิดปัญญาเป็นของตนเองจริงๆ อย่างข้อความดังต่อไปนี้ ซึ่งก็มีในหลายพระสูตรครับ อย่างเช่นใน เกสปุตตสูตร เป็นต้น จะมีข้อความว่า

เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นไปเพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ครับท่านอาจารย์ นี่คือพระพุทธพจน์ นี่คือ คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ

กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ความที่จะเป็นผู้ที่ค่อยๆ ตรงต่อเหตุผล ตรงต่อความเป็นจริง คืออย่างไรครับ

ท่านอาจารย์: คุณคำปั่นทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนจะได้ไม่ลืม แล้วก็เข้าใจไปยิ่งขึ้นแต่ละคำ

อ.คำปั่น: เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ...

ท่านอาจารย์: แค่นี้ค่ะ รู้แค่ไหน?

อ.คำปั่น: นี่แหละครับ ที่จะได้กราบเรียนท่านอาจารย์ในความละเอียดครับ

ท่านอาจารย์: หลังเห็นเป็นอกุศลหรือเปล่า?

อ.คำปั่น: ตามการศึกษาหลังเห็น ๓ ขณะ อกุศลเกิดอย่างเร็วเลยครับ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรู้ไหม?

อ.คำปั่น: ถ้าไม่ฟังไม่มีวันรู้เลยครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เพียงแค่คำว่า รู้ นี่ระดับไหน?

อ.คำปั่น: ตรงนี้ก็ละเอียดมากครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ทบทวนข้อความที่ได้ฟัง เพื่อละเอียดๆ ๆ ๆ ๆ

อ.คำปั่น: เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองว่า ...

ท่านอาจารย์: แค่นี้ค่ะ พึงรู้ด้วยตนเอง รู้หรือยัง รู้แค่ไหน รู้ระดับไหน มั่นคงหรือยัง หรือฟังแล้วรู้แต่ว่า เพียงฟัง ไม่ใช่รู้จักตัวอกุศลจริงๆ เห็นไหม ต่างกันไหม?

อ.คำปั่น: ต่างกันครับ

ท่านอาจารย์: แต่เอา คำ มาง่ายๆ ได้ไหม? ลองต่อไปซิ

อ.คำปั่น: เมื่อใดพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้ก็มีอกุศลใช่ไหม? ธรรมเหล่านี้มากไหม? เมื่อใด รู้ ด้วยตนเองนะ ไม่ใช่แค่ฟัง รู้ ไม่ใช่ฟังเข้าใจเท่านั้น แต่เมื่อใดที่รู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล เดี๋ยวนี้มีไหมอกุศล? รู้ด้วยตนเองหรือเปล่าว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นอกุศล

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

ยินดีในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ