ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๘๓

 
khampan.a
วันที่  22 ก.ย. 2567
หมายเลข  48528
อ่าน  560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๘๓





~
การเป็นเพศบรรพชิตสูงส่งระดับไหน ไม่ใช่ใครสามารถที่จะไปถึงได้เพียงด้วยการอยากบวชแล้วไม่รู้อะไรเลย ต้องเป็นผู้ที่ตรงและจริงใจ ด้วยเหตุนี้ คฤหัสถ์ทั้งหลายในครั้งพุทธกาล ก็กราบไหว้พระภิกษุ เคารพในจิตใจที่สะสมมาที่จะรู้อริยสัจจธรรมในเพศบรรพชิต อบรมเจริญปัญญาในเพศนั้น ต่างกับคฤหัสถ์มาก เมื่อคฤหัสถ์รู้อย่างนี้ มีหรือที่จะไม่เคารพกราบไหว้ในคุณความดีของผู้ที่สะสมมาที่จะสละอาคารบ้านเรือนเป็นพระภิกษุ แต่ต้องเป็นพระภิกษุในธรรมวินัย

~
ปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจจากคำที่ได้ฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ จะค่อยๆ นำกิเลสออกจนหมด ตามลำดับ อย่างที่สาวกทั้งหลายในครั้งอดีตก็ได้บำเพ็ญบารมีและได้ดับกิเลสหมดแล้ว แต่สำหรับทุกคนแต่ละคนต้องเป็นผู้ที่ตรง "สัจจะ" เดี๋ยวนี้ไม่รู้ แล้วจะรู้เมื่อไหร่? ก็ต้องเดี๋ยวนี้ แต่เดี๋ยวนี้ฟังธรรมเข้าใจเพียงเท่านี้ ยังเอากิเลสออกไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีการฟังเลย ก็หมดหนทาง

~ ขณะที่มีค่า คือ ขณะที่ได้เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะว่าแม้ว่าจะฟังสักเท่าไหร่ ในชาติไหน ในสังสารวัฏฏ์ อยู่ที่ความเข้าใจซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีใครรู้เลยว่านั่นแหละความหมายของคำว่าสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ตั้งแต่ฟังขณะแรกจนกระทั่งขณะต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ว่าไม่มีใครรู้เลยว่าสภาพนั้นกำลังทำงาน จากที่เคยฟังครั้งแรกและต่อๆ ไป ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเพราะการปรุงแต่งของขณะที่เริ่มเข้าใจตั้งแต่ต้น

~ ทุกคนมีกิเลสหรือเปล่า? รู้ตัวหรือเปล่า? หรือว่าเป็นคนดี ใครพูดอะไรก็ไม่ได้ ใครว่าอะไรก็ไม่ได้ เพราะเราเป็นคนดี อย่างนั้นหรือ? เพราะฉะนั้น ใครจะรู้ว่าเรามีกิเลสมากแค่ไหน คนอื่นรู้ไม่ได้เลย แล้วพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่จะดับกิเลส ลองคิดดู น่าอัศจรรย์ไหม?

~
เรื่องของปิสุณาวาจา (กล่าวคำส่อเสียด) ต้องเป็นไปด้วยความปรารถนาหรือเจตนาที่จะทำลายบุคคลอื่นหรือว่ามีเจตนาที่จะยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก นี่เป็นคนที่ไม่ปรารถนาที่จะให้คนอื่นอยู่อย่างสงบๆ สบายๆ เพราะถ้าแตกแยกกันแล้ว ไม่สงบ ไม่สบายแน่นอน ต้องมีวาจาประทุษร้ายซึ่งกันและกันต่างๆ

~ ถ้าผู้ใดมีความพอใจที่จะให้เกิดความวุ่นวายให้เกิดความแตกแยก ก็ย่อมจะมีปิสุณาวาจาที่ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันบ้างหรือว่าส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง หรือแม้กระนั้นก็ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก ซึ่งถ้าเป็นกุศลจะไม่พอใจที่จะให้ใครแตกแยกกระทบกระทั่งกันเลย ต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข

~
เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ตรงตามสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ถ้าธรรมนั้นเป็นอกุศลจะเปลี่ยนสภาพธรรมนั้นให้เป็นกุศลไม่ได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแสดงความละเอียดของอกุศลธรรมซึ่งจะต้องละให้หมดสิ้นไป เพราะเหตุว่าถ้าไม่แสดงโดยละเอียด ท่านผู้ฟังก็จะไม่ทราบว่าอกุศลธรรมนั้นมีความละเอียดมากเพียงไร และการละก็ต้องเป็นการละโดยละเอียด จะต้องเป็นการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ดับได้เด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย) จริงๆ

~
การดับกิเลสเป็นเรื่องยากหรือเป็นเรื่องง่าย? เป็นเรื่องที่จะดับสิ้นไปได้อย่างรวดเร็ว หรือเป็นเรื่องที่ต้องขัดเกลาละคลาย บรรเทา อบรม จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท ด้วยการเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งในสภาพธรรม?

~
บุคคลที่ท่านผูกพันมีเยื่อใยไว้มากมายในปัจจุบันชาตินี้ โดยฐานะของมารดาบิดาบ้าง บุตรธิดาบ้าง วงศาคณาญาติ มิตรสหายบ้าง แต่ว่าเพียงพริบตาเดียว บุคคลเหล่านั้นก็เป็นอื่น ในเมื่อท่านสิ้นชีวิตจากโลกนี้ไปแล้ว ท่านก็เป็นบุคคลอื่นโดยเด็ดขาด ที่จะย้อนกลับมาเป็นบุคคลเก่าไม่ได้เลย ความสัมพันธ์ ความผูกพัน เยื่อใยต่างๆ ที่เคยมีกับสามีหรือภรรยา บุตรธิดา ญาติมิตรสหายต่างๆ เหล่านั้น ในพริบตาเดียว ต่างคนก็ต่างเป็นบุคคลอื่นไปทั้งหมด ไม่มีการที่จะย้อนกลับมาผูกพันเหมือนเดิมได้ แต่กิเลสและอกุศลกรรมที่ท่านทำไว้ ท่านเท่านั้นที่จะได้รับผลของอกุศลกรรมที่ท่านทำ

~
อันตรายที่มองไม่เห็น ยิ่งกว่าอันตรายอื่น ก็คือ ชาวพุทธที่เข้าใจว่าตนเองนับถือพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจธรรม เมื่อไม่เข้าใจธรรม ก็คล้อยตามสิ่งที่ผิดทั้งหมด โดยไม่เห็นว่านั่นเป็นภัยที่ช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนา

~
ถ้าไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาก็ไม่ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจและเข้าใจผิด พระพุทธศาสนาก็เสื่อม ในที่สุดก็อันตรธาน (สูญสิ้น) เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะดำรงไว้ซึ่งคำสอน ก็คือ "เข้าใจ"

~
เราเป็นเพื่อนที่ดีหวังดีจริงๆ หรือเปล่าในการที่จะกล่าวทุกคำที่กล่าวไว้แล้วโดยละเอียดอย่างยิ่งในพระไตรปิฎกให้คนอื่นได้พิจารณา ส่วนเขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ จะคิดอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่มีใครไปบังคับบัญชาได้ แต่เราก็ได้ทำในสิ่งที่ เกิดมาในหนึ่งชาติมีโอกาสจะได้เข้าใจธรรมไหม? เมื่อเข้าใจแล้วยังสามารถให้คนอื่นได้เข้าใจ ได้ไหม? แล้วจะทำไหม? ก็เท่านั้นเอง

~
อกุศลกรรม ได้แก่ อกุศลเจตนา บุคคลใดมีอกุศลเจตนาที่จะถือเอาวัตถุของบุคคลอื่นที่ไม่ได้ให้ นั่นเป็นเจตนาของบุคคลนั้น เป็นอกุศลกรรมของบุคคลนั้น แต่บุคคลอื่นที่ไม่มีเจตนาอย่างนั้น ก็ไม่ต้องรับผลของอกุศลเจตนานั้น เพราะไม่มีอกุศลเจตนาอย่างนั้นเป็นเหตุ ถ้าท่านจะอ้างว่ากระทำอทินนาทานเพราะบุคคลอื่น แต่ความจริงแล้ว การที่จะมีชีวิตอยู่ ไม่ควรจะยากเกินกำลังที่จะอยู่ได้ ดูชีวิตของบรรพชิตเป็นตัวอย่าง แต่กิเลสทำให้อยู่ยาก จึงเป็นเหตุให้เกิดการกระทำอทินนาทานขึ้น ถ้าเพียงเสื้อผ้าพอประมาณ อาหารพอประมาณ ที่อยู่พอประมาณ ก็คงจะไม่ถึงกับเดือดร้อนที่จะต้องกระทำอทินนาทาน

~
กิเลสไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมี มีมาตลอดทุกกาล ทุกสมัย เมื่อมีการอยู่ร่วมกัน และมีการสะสมกิเลสไว้มาก สังคมย่อมจะต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะแก้ปัญหาสังคมควรจะทราบว่า ปัญหาสังคมตั้งแต่ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) อทินนาทาน (ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้) จนถึงกาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) นั้น มาจากการสะสมกิเลสที่ยังไม่ได้ขัดเกลา แต่ว่าถ้าบุคคลใดเห็นโทษ และละเว้น วิรัติ (งดเว้น) ขัดเกลา ก็ย่อมจะไม่เดือดร้อน

~
ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาถึงจิตใจของแต่ละบุคคล จะเห็นได้ว่าเรื่องของลาภ ย่อมเป็นที่ปรารถนาของบุคคลอื่นด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะตัวท่านเท่านั้น หรือว่าลาภแม้สักว่าอาหารที่เนื่องในบาตรก็จัดว่าเป็นลาภสำหรับภิกษุ ที่ไม่ควรจะบริโภคโดยเกียดกันไว้เฉพาะตน แต่ควรบริโภคเป็นสาธารณะกับเพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีล นี่เป็นกุศลไหม? การที่จะระลึกนึกถึงจิตใจความปรารถนาของบุคคลอื่น แม้ในลาภสักว่าอาหาร ก็กระทำให้เป็นประโยชน์ได้ เป็นการขัดเกลากิเลสให้เบาบาง เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาในเรื่องของการขัดเกลากิเลสของตน พระธรรมทั้งหมดจะเกื้อกูลให้ท่านค่อยๆ น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ เป็นการทำให้กิเลสเบาบาง และสามารถที่จะอบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น

~
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์ชาวโลกให้ดับกิเลสจนหมดสิ้นได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนรู้ตัวหรือเปล่าว่ามีกิเลสมาก ประมาณไม่ได้เลย เท่าที่เกิดมาในชาตินี้ก็ยังไม่หยั่งรู้ถึงกิเลสที่สะสมมาในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น การที่ใครก็ตามเห็นพฤติกรรมต่างๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจที่ไม่ถูกไม่ควร ทั้งหมดมาจากกิเลสคือธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองคือเจตสิกที่เป็นอกุศล

~
สละสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่คนอื่น ขณะนั้นสามารถละได้ สละได้ ไม่ติดข้อง ขณะนั้นก็สงบ จากโลภะซึ่งติดข้อง ต้องเข้าใจว่าสงบคือสงบจากอกุศล สงบจากกิเลส

~
พาลคือคนไม่รู้ ไม่ว่าความไม่รู้เกิดเมื่อใด หญิงหรือชายหรือใครเลยทั้งสิ้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ต้องรู้ว่าเพื่อให้เข้าใจความจริงว่าไม่มีเรา แต่มีธรรม ถ้ายิ่งมีความเข้าใจธรรมมากเท่าไหร่ ความประพฤติทางกาย วาจาดีขึ้น

~
ยิ่งรู้ว่าอกุศลมากเท่าไหร่ เกิดมาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส โดยการที่ว่าถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถที่จะขัดเกลาได้ และปัญญาเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถที่จะละอกุศล ซึ่งมีกำลังที่จะเกิดบ่อยมากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจคำว่าบารมี แม้เพียงเล็กน้อย นิดหน่อยก็สามารถที่จะลดปริมาณจำนวนของอกุศลซึ่งถ้ากุศลไม่เกิดก็เป็นอกุศลแล้ว

~
การที่จะเข้าใจธรรมได้ถูกต้องจริงๆ ไม่คลาดเคลื่อนไม่ผิด ก็คือ เมื่อได้ยินแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูกต้องของตนเองซึ่งไม่เปลี่ยน เมื่อเข้าใจแล้วว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ก็เริ่มที่จะเข้าใจว่าเห็นเดี๋ยวนี้ มีจริง เป็นธรรม ถ้ากล่าวว่า"ธรรม"แล้ว หมายความว่าเป็นสิ่งซึ่งมีจริง ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วก็ไม่ใช่ของใคร แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย

~
ได้ยินคำว่ากิเลสไม่มีใครชอบ บอกคนนั้นมีกิเลส คล้ายๆ กับจะตกใจ บอกว่ามีกิเลส แต่ความจริงมีมาก และก็ไม่รู้เลยว่าตั้งแต่เกิดมาลืมตาตื่นก็ตามกิเลสทั้งวัน เพื่ออะไร? เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่าเพราะไม่รู้ว่าเป็นกิเลส ได้ยินคำว่ากิเลส ไม่ชอบ ไม่อยากมี น่ารังเกียจไม่ดีเลยใช่ไหม? แต่หารู้ไม่ว่าตามกิเลสไปเรื่อยๆ ทุกวันเพราะไม่รู้

~ การได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นลาภอันประเสริฐยิ่งกว่าลาภใดๆ ทั้งสิ้น ทุกคนต้องจากยศถาบรรดาศักดิ์ทรัพย์สินเงินทองหมด เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่อะไรติดตามไป? อกุศลที่ไม่รู้ความจริงเท่าไหร่? แต่ถ้าได้ฟังก็ยังมีกุศลที่ได้เข้าใจความจริงติดตามไปเป็นพื้นฐานเป็นสิ่งที่ปลูกฝังไว้ในจิตที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะทำให้มีโอกาสได้ฟังอีกสนใจอีกเข้าใจอีก

~ ใจของผู้เมตตาไม่เป็นทุกข์เลย ไม่หวั่นไหวมีแต่ความหวังดีต่อคนอื่น



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๘๒




... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 22 ก.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
มังกรทอง
วันที่ 22 ก.ย. 2567

พระธรรมลึกซึ้งยิ่ง ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
shsso2551
วันที่ 22 ก.ย. 2567

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 23 ก.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เจียมจิต สุขอินทร์
วันที่ 27 ก.ย. 2567

อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ