ตั้งสติ

 
ธรรมทัศนะ
วันที่  23 ก.ย. 2567
หมายเลข  48537
อ่าน  198

คิดว่า สามารถตั้งสติได้

ไม่มีใครไปบังคับให้สติระลึกที่นั่นที่นี่ได้


ผู้ที่จะเจริญปัญญา ต้องอาศัยการฟัง และรู้ว่าตนเองมีกิเลสมาก และกิเลสนั้นอยู่ในขณะไหน

ขณะที่เห็น และไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่แท้จริงเป็นอะไร ที่จะกล่าวว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่กำลังได้ยิน และ ไม่รู้ว่าสภาพที่กำลังได้ยินเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะ สภาพที่กำลังได้ยินเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้เสียงที่กำลังปรากฏ

คือ ไม่รู้ตัวเองว่ามีความไม่รู้ซึ่งจะต้องละความไม่รู้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมนั้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามที่เคยได้ยินได้ฟัง และพิจารณา ในขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

สำหรับผู้ที่เจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้ย่อมรู้ว่า สติเป็นอนัตตา สติเกิดเพราะอาศัยปัจจัย สำคัญที่สุด คือ เข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมากพอที่สติจะเกิดระลึกรู้ในลักษณะนั้นๆ ได้ถูกต้อง เช่น เข้าใจเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาละเอียดขึ้น ซึมซาบ เข้าใจจนกระทั่งสติเกิดระลึกได้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

ความเข้าใจต้องมีก่อน เมื่อความเข้าใจมีแล้ว สติจะระลึกลักษณะของ สภาพธรรมอะไรก็ได้ สติเกิด และดับ ไม่มีใครไปบังคับให้สติระลึกที่นั่นที่นี่ได้ แต่ ความเข้าใจผิดหรือมิจฉาทิฏฐิทำให้ตัวเอง คิดว่า สามารถตั้งสติ หรือสามารถให้สติกำหนดที่นั่นที่นี่ได้ นั่นคือความเห็นผิด คือ ขณะนั้นไม่เข้าใจลักษณะของสติว่า เป็นอนัตตา

รับฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

ถ้าไม่ใช่มหาบุรุษ ยากที่จะเจริญอานาปานสติได้

แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
talaykwang
วันที่ 23 ก.ย. 2567

ขอถวายความนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

กราบเท้า ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลผู้มีคุณทุกท่าน ทุกประการ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Kalaya
วันที่ 24 ก.ย. 2567

กราบอนุโมทนาค่ะ สติเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ ก็ไม่มีสติขั้นเริ่มต้น ไม่ใช่สติที่เข้าใจผิดๆ ว่า ไม่ลืมของ ไม่ลืมกุญแจรถ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ