ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๘๓] อนวชฺชา

 
Sudhipong.U
วันที่  2 ต.ค. 2567
หมายเลข  48596
อ่าน  79

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อนวชฺชา”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อนวชฺชา อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - นะ - วัด - ชา แปลว่า ไม่มีโทษ ในที่นี้จะนำเสนอในความหมายที่กล่าวถึง วาจาหรือคำพูดที่ไม่มีโทษ กล่าวคือ เป็นวาจาหรือคำพูดที่ดี มีประโยชน์ เป็นคำพูดที่ผู้รู้ไม่ติเตียน เป็นคำพูดที่ผู้รู้สรรเสริญ ซึ่งเป็นคำพูดที่มิใช่คำเท็จ ไม่ใช่คำส่อเสียด ไม่ใช่คำหยาบ และไม่ใช่คำเพ้อเจ้อ ซึ่งเป็นคำที่กล่าวดีแล้วหรือเป็นวาจาสุภาษิตนั่นเอง ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต วาจาสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของวาจาที่ไม่มีโทษ ดังนี้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน องค์ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑ เป็นวาจาที่กล่าวเป็นจริง ๑ เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑ เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน


ทุกขณะของชีวิต เป็นธรรมทั้งหมด มีแต่สิ่งที่มีจริงเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้เลย เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่าชีวิตที่ดำเนินไปนั้น ขณะใดบ้างที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม ขณะใดบ้างที่เป็นเหตุ คือเป็นการสะสมทั้งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล กุศลและอกุศลในขณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เคยสะสมกุศลและอกุศลประการนั้นมาในอดีต ขณะใดที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว นอกจากนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น เป็นต้น อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ

แต่ละบุคคลก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า คำพูดของท่านส่วนมากในชีวิตประจำวัน เป็นคำพูดอ่อนโยนหรือว่าตรงกันข้ามกับคำพูดที่อ่อนโยน เพราะเหตุว่าบางคนก็อยากจะพูดจาอ่อนโยน มีจิตใจที่อ่อนโยน แต่ว่าเหตุการณ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้วาจาที่อ่อนโยนเกิดได้ มักจะเป็นคำพูดที่ดุหรือรุนแรง หยาบกระด้าง เผ็ดร้อน จนกระทั่งเป็นนิสัย โดยที่ไม่ทราบว่าในขณะนั้นสภาพของจิตขาดความเมตตาต่อผู้อื่นอย่างยิ่ง ถ้าความเมตตาเกิดขึ้นในขณะนั้น จะพูดคำไม่น่าฟังอย่างนั้นไม่ได้เลย แต่จะมีการวิรัติงดเว้นวจีทุจริตในขณะนั้นทันที

ถ้าผู้ใดสะสมอกุศลธรรมมามากในการที่จะเป็นผู้ที่ใช้คำพูดที่ไม่น่าฟังอย่างนั้น ก็จะเห็นได้ว่าในวันหนึ่งๆ คำพูดมักจะเป็นอย่างนั้นมากกว่าคำพูดที่อ่อนโยน และบางคนก็มีข้อแก้ตัวว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องดุ จะต้องพูดอย่างนั้น แต่ถ้าสติเกิด จะระลึกได้ทันทีว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม แล้วเกิดหิริ ความละอายต่ออกุศลธรรม เกิดโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม ความเห็นภัยเห็นโทษของอกุศลธรรมในขณะนั้น และรู้ด้วยว่าควรอย่างยิ่งที่จะเป็นคำพูดที่เป็นไปด้วยกุศลจิต เป็นคำพูดที่อ่อนโยนด้วยจิตใจที่อ่อนโยน โดยไม่จำเป็นที่ต้องเป็นคำดุหรือว่าเป็นคำที่หยาบคาย เผ็ดร้อนรุนแรง

การพูด เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวัน จำเป็นจะต้องพูดคุยสนทนากับผู้อื่นอยู่เสมอ และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ในชีวิตประจำวัน วันหนึ่งๆ เวลาที่หิริ (ความละอายต่ออกุศลธรรม) และ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) มีกำลังขึ้น เกิดขึ้นเป็นไป ก็จะทำให้พูดสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้น นึกถึงคนฟังมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนอาจจะพูดไปโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร เช่น พูดเหน็บแนมผู้อื่น คำพูดกระทบกระเทียบผู้อื่น พูดเพ้อเจ้อในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นต้นซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นคำพูดที่ไม่บริสุทธิ์เลย เพราะจิตใจไม่สะอาด เป็นอกุศล วาจาหรือคำพูดก็เป็นไปตามจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น แต่เวลาที่หิริโอตตัปปะเกิดขึ้น จะทำให้พิจารณาเห็นได้ว่าสิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็สามารถที่จะเว้นไม่พูดในขณะนั้นได้ โดยนึกถึงคนฟังเป็นสำคัญ ที่มุ่งถึงการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ไม่พูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะโดยปกติของทุกคนแล้ว ย่อมชอบคำจริง คำพูดที่สุภาพอ่อนโยน เป็นต้น ไม่ชอบคำเท็จ ไม่ชอบคำหยาบคาย ควรที่จะได้พิจารณาว่า แม้เราก็ไม่ชอบคำที่ไม่น่าฟัง จึงไม่ควรที่จะพูดคำอย่างนั้นๆ ออกไปให้คนอื่นได้ยิน ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะอุปการะเกื้อกูลให้เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงามในชีวิตประจำวันทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจได้ แม้ในขณะที่พูด ก็พูดแต่คำที่ไม่มีโทษเท่านั้น

ดังนั้น การพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั้น ไม่เป็นประโยชน์ทั้งคนพูดและคนฟัง แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ไม่มีประโยชน์ จึงไม่ควรพูด แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าสิ่งที่จะพูดนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะพูด ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การกล่าวธรรมให้ข้อคิดเตือนใจที่ดีแก่ผู้อื่น เพราะคำพูดอย่างนี้เป็นคำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นคำพูดที่มาจากจิตใจที่ดีงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ต.ค. 2567

ทุกขณะของชีวิต เป็นธรรมทั้งหมด มีแต่สิ่งที่มีจริงเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้เลย

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ