จะตัดสินอย่างไร โดยไม่มี อคติ
“..บุคคลใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความชอบกัน เพราะความชังกัน เพราะความกลัว เพราะความเขลา ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น…”
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 48
๗. ปฐมอคติสูตร
ว่าด้วยความลำเอียง ๔
[๑๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความลำเอียง ๔ ประการนี้ ความลำเอียง ๔ คืออะไร คือลำเอียงเพราะชอบกัน ลำเอียงเพราะชังกัน ลำเอียงเพราะเขลา ลำเอียงเพราะกลัว ภิกษุทั้งหลาย นี้แลความลำเอียง ๔ ประการ
บุคคลใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความชอบกัน เพราะความชังกัน เพราะความกลัว เพราะความเขลา ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น.
จบปฐมอคติสูตรที่ ๗
อรรถกาปฐมอคติสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอคติสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อคติคมนานิ ได้แก่ ความลำเอียง. บทว่า ฉนฺทาคตึ คจฺฉติ ความว่า บุคคลลำเอียงเพราะชอบกัน คือทำสิ่งที่ไม่ควรทำ. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แล.
บทว่า ฉนฺทา โทสา ภยา โมหา ความว่า บุคคลลำเอียงเพราะชอบกัน เพราะชังกัน เพราะกลัว เพราะเขลา. บทว่า อติวตฺตติ ได้แก่ ละเมิดธรรม.
จบอรรถกถาปฐมอคติสูตรที่ ๗