ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๘๔] อปฺปมาทรต

 
Sudhipong.U
วันที่  5 ต.ค. 2567
หมายเลข  48633
อ่าน  44

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อปฺปมาทรต”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อปฺปมาทรต อ่านตามภาษาบาลีว่า อับ - ปะ - มา - ทะ - ระ - ตะ มาจากคำว่า (ไม่) [แปลง น เป็น อ แล้วซ้อน ปฺ] ปมาท (ประมาท) กับคำว่า รต (ผู้ยินดี) จึงรวมกันเป็น อปฺปมาทรต เขียนเป็นไทยได้ว่า อัปปมาทรตะ แปลว่า ผู้ยินดีในความไม่ประมาท คำว่ายินดีในที่นี้ไม่ใช่ยินดีด้วยโลภะ แต่เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายดีที่เห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ของความไม่ประมาทนั่นเอง ความไม่ประมาทนั้น ได้แก่ ขณะที่ไม่ปราศจากสติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล ขณะที่เป็นกุศล ย่อมไม่ประมาท

ข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ได้แสดงความเป็นจริงของคำว่า อปฺปมาทรต ดังนี้

บทว่า อปฺปมาทรโต ความว่า ยินดี คืออภิรมย์แล้วในความไม่ประมาท ได้แก่ ยังกาลให้ล่วงไปด้วยความไม่ประมาท


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้ยินได้ฟังคำจริงที่เป็นวาจาสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อันเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ ที่ใครๆ ก็ไม่สามารถคัดค้านหรือเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ละคำที่พระองค์ตรัส ไม่ว่าจะปรากฏในส่วนใดของคำสอน ก็เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ความเข้าใจพระธรรมนี้เอง เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด สะสมเป็นที่พึ่งทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไปด้วย

ขณะใดที่เป็นอกุศลขณะนั้นประมาท ในทางตรงกันข้ามขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่ประมาท พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอุปการะเกื้อกูลเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอย่างแท้จริง ขณะนี้ทุกคนได้เกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ในสุคติภูมิ พ้นจากการเกิดในอบายภูมิแล้วในขณะนี้ แต่เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วจะไปเกิดในภพภูมิใดย่อมไม่แน่ ขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด อาจจะไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งไปเกิดได้ง่ายมากทีเดียวสำหรับอบายภูมิ โดยทั่วไปแล้ว มักจะกลัวการไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นการกลัวผล แต่ว่าเหตุจริงๆ กลัวหรือไม่ นั่นก็คือ อกุศลธรรมทั้งหลาย ได้แก่โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง แม้ในวันนี้เองก็ไม่ทราบว่ามากเท่าไหร่แล้ว

การอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อปัญญาถึงพร้อมก็ทำให้ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล เมื่อนั้นก็จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย คือไม่เกิดเป็นสัตว์นรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสที่มีมากๆ ทุกวัน ก็จะมีกำลังที่จะทำให้เกิดกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ที่จะเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิได้ เพราะเหตุว่ากิเลสยังไม่ได้ดับหมดไป กิเลสมีมาก แต่กุศลธรรมมีน้อย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนเพื่อให้พุทธบริษัทเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ

จะเห็นได้จริงๆ ว่าการได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะต้องเป็นผลของกุศลกรรมเท่านั้นจึงจะทำให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาแล้ว สุดท้ายก็จะต้องตายทุกคน ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย ก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน คือไม่ทราบว่าก่อนที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์นี้ ชาติก่อนเกิดเป็นอะไรมา ต่อจากนั้น จะไปไหน ก็ไม่ทราบ คือเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดในที่ใด ภพภูมิใด ไม่สามารถจะทราบได้ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ ว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด เป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่แน่ๆ ย่อมทราบว่า จะต้องตายอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ทราบว่า จะตายตอนไหน กล่าวคือจะตายตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนค่ำ ตอนกลางคืน ก็ไม่สามารถจะทราบได้ นี้คือความจริง ในแต่ละวันชีวิตของคนเราซึ่งเป็นผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสนั้น หมดไปกับการนอน การทำงาน การบริโภค การชำระล้างร่างกาย การเดินทาง เป็นต้น ถ้าหากว่าจะมีการฟังธรรม ศึกษาพระธรรมบ้าง เจริญกุศลประการต่างๆ เช่น ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้นบ้าง ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของชีวิตเท่านั้นเอง

ในแต่ละวันกุศลจิตเกิดน้อยมาก เทียบส่วนกับอกุศลจิตไม่ได้เลย ยิ่งถ้ามีความประมาทในชีวิตแล้ว ก็ยิ่งจะเกื้อหนุนต่อการที่จะทำให้อกุศลเกิดเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ละคนเหลือเวลากันอีกไม่มากแล้วที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพราะชีวิตสั้นมากจริงๆ ควรที่จะได้พิจารณาอยู่เสมอเพื่อเป็นเครื่องเตือนตนเองว่า “เกิดมาแล้ว จะทำอะไรกับชีวิตที่สั้นแสนสั้นนี้” เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ควรอย่างยิ่งที่จะให้เวลากับการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต และเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง มีชีวิตอยู่ ก็เพื่อประโยชน์ คือได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ประพฤติตามพระธรรม ไม่ละเลยโอกาสแห่งการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็คือ ผู้ที่ยินดีในความไม่ประมาท ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอนก็ตาม ล้วนเป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด แต่ละคำของพระองค์ เป็นคำที่หวังดี เป็นคำเกื้อกูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นประโยชน์สำหรับผู้ได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้น ทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองที่เคยสะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ต.ค. 2567

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้ยินได้ฟังคำจริงที่เป็นวาจาสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ