ธงชัยของพระอรหันต์คืออะไร [ฉัททันตชาดก]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 395
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสพระคาถา ความว่า
นายพรานผู้กระทำกรรมอันชั่วช้า ขุดหลุมเอา กระดานปิดเสร็จแล้ว สอดธนูไว้ เอาลูกศรลูกใหญ่ยิง
พญาช้างที่มายืนอยู่ข้างหลุมของตน. พญาช้างถูกยิงแล้ว ก็ร้องก้องโกญจนาท ช้าง ทั้งหมดพากันบันลืออื้ออึง ต่างพากันวิ่งมารอบๆ ทั้ง ๘ ทิศ ทำหญ้าและไม้ให้แหลกเป็นจุณไป.
พญาช้างเอาเท้ากระชุ่นดิน ด้วยคิดว่า เราจักฆ่า นายพรานคนนี้ แต่ได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็น ธงชัย ของพระฤาษี ก็เกิดความรู้สึกว่า ธงชัยของ พระอรหันต์ อันสัตบุรุษไม่ควรทำลาย.
(หน้า 397) ... พญาช้างก้มมองดู ทางช่อง เห็นนายพรานโสณุดร ก็เกิดโทสจิตคิดว่า เราจักฆ่ามัน จึงสอดงวง งามราวกะพวงเงิน ลงไปลูบคลำดู ได้มองเห็นผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัย ของพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น. พญาช้างจึงยกนายพรานขึ้นมาวางไว้เบื้องหน้า. ลำดับนั้น สัญญา คือความสำนึกผิดชอบได้เกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์ ซึ่งได้รับทุกขเวทนาขนาดหนักดังนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า ธงชัยแห่งพระอรหันต์ไม่ควร ที่บัณฑิตจะทำลาย ควรสักการะเคารพอย่างเดียวโดยแท้. เมื่อพระมหาสัตว์เจ้า จะสนทนากับนายพราน จึงกล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
ผู้ใดยังไม่หมดกิเลส ปราศจากทมะและสัจจะ ผู้นั้นไม่ควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ.
ส่วนผู้ใด คลายกิเลสได้แล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีล ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลควรนุ่งห่มผ้า กาสาวะ .
คาถานั้นมีอธิบายดังนี้ สหายพรานเอ๋ย คนใดใช่คนหมดกิเลสดุจ น้ำฝาดมีราคะเป็นต้น ปราศจากการฝึกอินทรีย์ ทั้งวจีสัจจะ คือไม่เข้าถึง คุณเหล่านั้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตว์ อันย้อมแล้วด้วยน้ำฝาด คนนั้นไม่ควร นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์นั้นเลย คือไม่สมควรกับผ้านั้น ส่วนคนใด พึงชื่อว่า เป็นผู้ชำระกิเลสได้ เพราะคายกิเลสดุจน้ำฝาดเหล่านั้นเสียได้. บทว่า สีเลสุ สุสมาหิโต ความว่า บุคคลใดเป็นผู้มีศีลและอาจาระตั้งมั่นด้วยดีบริบูรณ์ บุคคลนั้นชื่อว่า ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะนี้.
[สรุป]
ธงชัยของพระอรหันต์คืออะไร?
ธงชัยของพระอรหันต์ คือผ้ากาสาวะ
ผู้ที่คู่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะคือใคร?
ผู้ที่มีศีล มีอาจาระตั้งมั่นบริบูรณ์ คลายกิเลสได้แล้ว เป็นผู้คู่ควรแก่ผ้ากาสาวะ
ขออนุโมทนา