พระวินัยปิฎก
พระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพราะอัธยาศัยของคนในโลกนี้ต่างกัน พุทธบริษัทจึงมี๒ พวก คือบรรพชิตพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์พวกหนึ่ง บรรพชิตเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยละอาคารบ้านเรือน แต่ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ที่สะสมอุปนิสัยเป็นผู้ครองเรือน ก็อบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศคฤหัสถ์ พระวินัยส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต แต่คฤหัสถ์ก็ควรศึกษา เพื่อให้รู้ว่าควรปฏิบัติต่อบรรพชิตอย่างไร จึงจะอนุเคราะห์แก่บรรพชิตได้ถูกต้องตามพระวินัย ซึ่งจะเป็นการดำรงพระพุทธศาสนาด้วย เมื่อรู้ว่าการประพฤติอย่างไรเป็นบรรพชิต ประพฤติอย่างไรไม่ใช่บรรพชิต ก็จะรู้ว่ากิจของภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่างกับกิจของคฤหัสถ์อย่างไร แต่ถ้าไม่รู้เรื่องพระวินัย คฤหัสถ์บางคนอาจจะมีความเลื่อมในในภิกษุ ซึ่งไม่ได้ทำกิจของพระภิกษุตามพระวินัย
จากหนังสือ บทบาท อ.สุจินต์ ในการเผยแผ่พุทธธรรม
โดย พระธนนาถ นิธิปญฺโญ
นอกจากนั้นคฤหัสถ์ที่รู้พระวินัย ก็ยังได้ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย เช่น กิริยาอาการทางกาย วาจาที่เหมาะควรแก่บรรพชิตอย่างไร คฤหัสถ์ก็กระทำตามได้แม้ว่าจะไม่ใช่บรรพชิตเพราะเป็นมารยาทที่ดีงามของสังคมทั่วๆ ไป มารยาทที่เหมาะที่ควรนั้นไม่จำกัดเชื้อชาติสิ่งใดที่ดีก็ควรจะประพฤติปฏิบัติตามได้ซึ่งในพระไตรปิฎกนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติความประพฤติทางกายทางวาจาที่เหมาะที่ควรไว้ การศึกษาพระวินัยทำให้เห็นพระบริสุทธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติ ข้อประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม ที่ละเอียดยิ่ง และเมื่อเห็นโทษของสิ่งที่พระองค์ทรงให้ละเว้นแล้ว ก็ย่อมจะทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามและละเว้นสิ่งที่ไม่ดีงามซึ่งก็เป็นอารมณ์ของศีล
ผู้ที่ศึกษาพระวินัยและเห็นประโยชน์ของการน้อมประพฤติปฏิบัติ ก็ทำให้มีกายงาม วาจางาม ศีลงาม ค่ะ
ขออนุโมทนา