การศึกษาพระไตรปิฎก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ก.ย. 2550
หมายเลข  4870
อ่าน  9,788

เมื่อศึกษาข้อความใดในพระไตรปิฎก ทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ก็จะต้องรู้ว่าเราสามารถมีความเข้าใจในสิ่งที่อ่านนั้นระดับไหน เข้าใจได้เพียงเล็กน้อยเท่านี้ หรือเข้าใจได้อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาแบบทฤษฎีวิชาการ หรือ ศึกษาด้วยคิดว่าความเข้าใจจากการศึกษานั้นจะเกื้อกูลให้ได้เข้าใจธรรมได้ถูกต้องชัดเจน เราก็อ่านกันมามากแล้วทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา แต่เราก็ต้องมาสนทนาธรรม แล้วยังเน้นกันอยู่ต่อไปว่า ธรรมคือเดี๋ยวนี้ ธรรมที่เราได้ฟังมาทั้งหมด คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่ทดสอบความเข้าใจของเราว่า ที่เราเข้าใจมาแล้วทั้งหมดนั้น สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้หรือยัง ส่วนใหญ่มีการเรียน ๒ แบบ คือ แบบท่อง และแบบสอบ อันนี้ตัดไปได้เลย มีบางคนคิดว่าต้องท่อง แต่ท่องนั้นเพื่อจำ ไม่ใช่เพื่อเข้าใจ และการท่องก็ต้องใช้เวลามากด้วยที่จะจำ แล้วก็ลืม เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์ แต่ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ เราเรียนอะไร เราเรียนให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้ เพราะฉะนั้น เราลืมจุดนี้ไม่ได้

จากหนังสือ บทบาท อ.สุจินต์ ในการเผยแผ่พุทธธรรม

โดย พระธนนาถ นิธิปญฺโญ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ย. 2550

บางท่านก็กล่าวว่า เข้าใจธรรมหมดแล้วบางท่านก็บอกว่าธรรมสูงเหลือเกิน ยากที่จะเข้าใจ ท่านที่กล่าวว่าพระธรรมยากเกินไป ลึกซึ้งเกินไปหรือคิดว่าท่านรู้ธรรมแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ไกลจากที่นี่ท่านจะไปเฝ้าฟังพระธรรมไหม ถ้าไปเฝ้าฟังพระธรรมก็ไม่มีอะไรที่ผิดกับพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยบัญญัติที่ได้ทรงแสดงแล้ว พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ที่ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ข้อความไม่ผิดกัน ส่วนความยาก ความลึกซึ้งของพระธรรมนั้น บุคคลในครั้งโน้นฟังและเข้าใจ แต่ถ้าบุคคลในครั้งนี้ศึกษาพระไตรปิฎกแล้วยังสงสัย ยังไม่เข้าใจชัดเจนก็เป็นเรื่องที่บุคคลในครั้งนี้จะต้องพากเพียรศึกษา พยายามที่จะพิจารณาให้เข้าใจถูกต้องชัดเจนเท่าที่จะกระทำได้ และต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่าย ด้วยมีประโยชน์ทุกกาลในเมื่อเป็นผู้ฟังพระธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอคือ ฟังไปๆ ก็ย่อมจะมีปัจจัยที่ทำให้กุศลกรรมเจริญ อกุศลลดคลายลง คุณประโยชน์ของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเปรียบเหมือนวางสิ่งของนับพันอย่าง ลงทุกประตูเรือนที่พระธรรมไปถึง แล้วแต่ผู้ใดจะเปิดประตูรับสิ่งของนั้นๆ ไว้

ฉะนั้น การศึกษาพระไตรปิฎกก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 21 ก.ย. 2550

การศึกษาพระไตรปิฏก เพื่อให้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 21 ก.ย. 2550

ผลย่อมตรงกับเหตุฉันใด การศึกษาพระธรรมวินัย แล้วน้อมนำมาปฏิบัติก็ฉันนั้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
คนส่งสาร
วันที่ 22 ก.ย. 2550

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 285

[๒๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษ บางพวกในพระธรรม วินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ โมฆบุรุษเหล่านั้น เล่าเรียนธรรมนั้นแล้วย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแห่งโมฆบุรุษเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญาโมฆบุรุษเหล่านั้น ข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ หมายเปลื้องคํากล่าว ร้ายของผู้อื่นเป็นอานิสงส์ จึงเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลายย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด โมฆบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้น อันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีความต้องการด้วยงูพิษ เสาะหางูพิษ เที่ยวแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขนหรือที่อวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตายหรือความทุกข์ปางตาย มีการกัดนั้นเป็นเหตุ ข้อนั้นเป็นเหตุเพราะอะไร เพราะงูพิษตนจับไม่ดีแล้ว แม้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย พวกโมฆบุรุษ บางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ ... อัพภูตธรรม อวทัลละ โมฆ บุรุษเหล่านั้น เล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแห่งโมฆะบุรุษเหล่านั้น

ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา โมฆบุรุษเหล่านั้นหมายข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ หมายเปลื้องคํากล่าวร้ายผู้อื่นเป็นอานิสงส์ จึงเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลาย ย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด โมฆบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้น อันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natthaset
วันที่ 25 ก.ย. 2550

งดงาม เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด หาที่ติไม่ได้ !

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ