ความจริง คืออะไร?_สนทนาธรรม ณ บ้านรักศรีรักงาม จ.นครสวรรค์

 
เมตตา
วันที่  16 ต.ค. 2567
หมายเลข  48717
อ่าน  278

ท่านอาจารย์: เริ่มรู้จักพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ นโม ตัสสะ แต่ว่า มีที่พึ่ง พึ่งอะไร พึ่งได้เข้าใจ แม้แต่ คำว่า ธรรมคืออะไร? เป็นเบื้องต้น และขณะนั้นเป็นผู้ตรง เริ่มสัจจบารมี อย่างอื่นไม่ได้เป็นจริง ถ้าไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีใครรู้ความจริง นี่คน นั่นดอกไม้ นี่ไมโครโฟน นั่นโต๊ะ ความจริงคืออะไร? ถ้าไม่มีเห็น จะมีสิ่งที่ปรากฏไหม? ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏ ก็จึงต้องมี สภาพที่จำ สิ่งที่ปรากฏลักษณะต่างๆ ด้วย เป็นแต่ละธรรม จึงมีคำว่า จิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งไม่ว่าอะไร และในขณะนั้น จิตก็มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด ไม่มีอะไรที่จะเกิดลอยๆ ตามลำพัง อยู่ดีๆ ก็เกิดได้ แม้แต่ความเข้าใจ ก็ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็เกิดได้ ต้องฟัง ไตร่ตรอง เห็นประโยชน์ และรู้ว่า ความลึกซึ้งมาก เพียงได้ยินแค่นี้ แต่ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเกิดแล้วดับแล้ว สิ่งที่รู้แล้วก็เกิดแล้วดับแล้ว อีกนานเท่าไหร่ ผู้ที่รู้คุณค่า ไม่รีรอที่จะเป็นมิตรกับคนอื่นที่จะให้เขาได้เข้าใจในความจริงด้วย

เพราะฉะนั้น คำว่า เมตตา หมายความว่า เป็นมิตรที่หวังดี ให้สิ่งที่ไม่เป็นโทษเป็นภัยเลย และเป็นประโยชน์สูงสุดในชีวิตในสังสารวัฏฏ์ โอาสที่จะฟังไม่มาก ถ้าไม่ได้ถูกเชิญมา เราคงไม่ได้ฟัง

เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่มาที่นี่ เพื่อประโยชน์ที่อาจจะคิดไม่ถึงว่า จะได้ฟังอะไร แต่ถ้าได้ฟังแล้ว นี่เป็น คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจตามความเป็นจริง แค่ไม่กี่คำในวันนี้ แต่ที่พระองค์ทรงแสดงธรรม ๔๕ พรรษา การเรียนทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถจะไปเข้าใจอริยสัจจ์ ๔ โดยไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไร

เพราะฉะนั้น เวลาฟังสนทนากันเป็นมงคล ถูกต้องไหม? มงคล ๓๘ มีทั้งการฟังธรรม ทั้งการสนทนาธรรม ทั้งหมดเริ่มจากไม่คบคนพาล คนพาล คือคนไม่รู้ความจริง พูดอะไรไม่ตรงกับ คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พูดว่า มงคล ๓๘ แต่รู้ไหม ทำไมจึงเป็นมงคล

ข้อที่ ๑ ไม่คบคนพาล คือคนไม่รู้ความจริง แล้วก็ต้องพาลแน่ เพราะไม่รู้ความจริง พูดธรรมก็ต้องผิดแน่ เพราะไม่รู้จักธรรม

เพราะฉะนั้น การที่จะได้ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นลาภอันประเสริฐยิ่งกว่าลาภใดๆ ทั้งสิ้น ทุกคนต้องจากยศฐาบรรดาศักคิ์ ทรัพย์สินเงินทองหมด เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่ อะไรติดตามไป อกุศลที่ไม่รู้ความจริงเท่าไหร่ แต่ถ้าได้ฟัง ก็ยังมีกุศลที่ได้เข้าใจความจริงติดตามไปเป็นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ปลูกฝังไว้ในจิตที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะทำให้มีโอกาสได้ฟังอีก สนใจอีก เข้าใจอีก รู้ว่า ไม่ใช่เราทำ แต่ความเข้าใจถูกต้องตามลำดับ

ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ไปปฏิบัติธรรมได้อย่างไร? พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เข้าใจความจริงแต่ให้ไปปฏิบัติ มีที่ไหนในพระไตรปิฏก? เพราะปัญญาต้องตามลำดับ

เด็กแรกเกิดให้ไปกระโดดสูงๆ ได้ไหม? จนกว่าจะค่อยๆ โต เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะมีกำลังถึงระดับที่ประจักษ์การเกิดดับเดี๋ยวนี้ ลองคิดดู ไม่ใช่วันนี้แน่ ไม่ใช่ชาตินี้แน่ แต่ว่า ถ้าไม่ฟังต่อไป และทรงแสดงว่า ฟังอย่างไรจึงสามารถจะเข้าใจได้ น่าสนใจไหม ฟังอย่างไร? ก็ฟังมาเรื่อย ฟังทุกอย่าง แล้วฟังอย่างไรจะเข้าใจธรรม ต้องเปลี่ยนนิสัย จากไม่ไตร่ตรองอย่างละเอียด เป็นการที่ ทุกคำ ต้องไตร่ตรองรอบด้าน ถ้าพูดถึงธรรม ต้องเริ่มจาก ธรรมคืออะไร? เดี๋ยวนี้มีไหม? ไม่อย่างนั้นจะศึกษาอะไร ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่มี

เพราะฉะนั้น จึงรู้ความหมายของการศึกษาว่า ถ้าไม่ฟังให้เข้าใจก่อน สามารถจะรู้ตรง แข็ง นี้ได้ไหมว่า ขณะที่แข็งปรากฏ ต้องไม่มีอะไรปรากฏ โลกทั้งโลกหายไปเลยเมื่อความจริงปรากฏ จึงเป็น อนัตตา ไม่ใช่ อัตตา ทีละเล็กทีละน้อย

ค่อยๆ ฟัง ไม่ต้องรีบร้อนไปละกิเลส เพราะว่า ปัญญาเท่านั้นที่ค่อยๆ รู้ความจริง จึงละ อย่างอื่นที่ไม่รู้จะไปละความไม่รู้ ไม่มีทาง ก็ต้องไม่รู้ไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ทุกขณะ

ต้องมีเหตุผล ต้องมีการสนทนาธรรม ไม่คบคนพาล ไม่ได้หมายความว่า ไม่ไปทานข้าวกับเขา ไม่ไปไหนมาไหนกับเขา ญาติเรา พี่น้องเรา เพื่อนเรา มีตั้งเยอะจะไม่ให้ไปคบหรือ แต่ไม่คบกับความเห็นผิดใดๆ ไม่ว่าของใคร เพราะว่า ความเห็นผิด พาล ไม่รู้ความจริงก็ต้องเป็นแบบพาล

เพราะฉะนั้น ทุกคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่คบกับความเห็นผิด เมื่อคบกับความเห็นถูกตั้งแต่ต้น ประโยชน์คืออะไร? ได้ค่อยๆ รู้ความจริงซึ่งคนพาลไม่รู้

ตั้งแต่ต้นที่เริ่มฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปจนถึงมงคลข้อสุดท้าย รู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั่นคือความหมายที่แท้จริงของมงคล ไม่ใช่มงคลแล้วจะเป็นลาภ เป็นชื่อเสียงเป็นเกียรติยศ แต่มงคลทั้งหมดถ้ามีความเข้าใจถูก ลาภ ชื่อเสียง เกียรติยศ ฐานะ เงินทอง สำคัญไหม? แล้วก็ถูกเขาด่า ถูกเขาว่าทุกวัน เพราะไม่ใช่คนดี ใครจะไปกราบไปไหว้คนไม่ดีบ้าง หรือความไม่ดีบ้าง?

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีก็ต้องดีต้องเป็นผู้ตรง สัจจบารมี ตรงต่อความเป็นจริงตั้งแต่เริ่มฟัง และตลอดไปเท่าที่มีปัจจัยที่จะได้ฟัง นิสัยใหม่ คือไตร่ตรอง ธรรมคืออะไร ถ้าตอบไม่ได้แล้วไปปฏิบัติธรรมได้หรือ? ค้านกันอยู่ในตัว ถูกไหม?

เพราะฉะนั้น เป็นคนที่มีเหตุผล เป็นผู้ที่เคารพความจริง เป็นผู้ที่รู้จักคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหนือบุคคลใดทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ใครคิดเปลี่ยน คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับถือพระองค์เคารพพระองค์หรือเปล่า? พระองค์ตรัสว่าอย่างนี้ แล้วพูดอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ในการสนทนาธรรมบางแห่ง พูดภาษาไทย คนแปลแปลไม่ตรง บอกว่าตามพระวินัยปิฎก พระภิกษุไม่รับ และไม่ยินดีในเงิน และทอง คนนั้นรู้ทุกคำในภาษาไทย แต่แปลว่า พระภิกษุไม่ยินดีในกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตรงไหมกับ คำ ที่พระองค์ทรงบัญญัติ? ภิกษุไม่รับ และไม่ยินดีด้วย เพราะว่าบางคนไม่รับจากมือ แต่ไปรับจากคนที่รับให้ แล้วเอาไปเก็บไว้ใต้หมอนแล้วดูว่ายังอยู่หรือเปล่า ไม่รับจริงแต่ยินดีในเงินและทองหรือเปล่า? แล้วภิกษุต่างคฤหัสถ์อย่างไร? ในเมื่อคฤหัสถ์ไม่ต้องบวชเลย อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพระโสดาบัน วิสาขามิคารมารดาเป็นพระโสดาบัน จิตตคฤหบดีเป็นใคร ระดับไหน เป็นพระอนาคามี

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าไปบวชจึงจะศึกษาธรรม รู้ธรรม เข้าใจธรรม คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอด ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร จึงมีพุทธบริษัทที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา มีภิกษุ สมัยนั้นมีภิกษุณีแต่ก็รวมกันในความเป็นภิกษุ และอุบาสก อุบาสิกา

ภิกษุ ภิกษุณีในครั้งโน้น อุบาสก อุบาสิกา แล้วอุบาสก อุบาสิกา พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า ไม่ให้ยินดีในเงิน และทอง เพราะรู้ตัวเองยังต้องมีชีวิตในเพศคฤหัสถ์ตามที่สะสมมา เพราะฉะนั้น ยังมีบ้าน ยังมีข้าวของในบ้าน ยังมีบุตรหลาน ยังมีทรัพย์สมบัติให้บุตรหลาน แต่เมื่อใดเป็นภิษุออกจากบ้านที่บ้าน ไม่มีบ้าน ไปไหน ไปกลางป่าก็ได้ ลอมฟางก็ได้ ที่ว่างก็ได้ อยู่ได้เพราะละชีวิตคฤหัสถ์ ไม่รับ และไม่ยินดีในเงิน และทอง มีชีวิตอยู่ด้วยคำข้าว และสิ่งที่คนอื่นให้ด้วยความศรัทธา เคารพในความที่สามารถละอาคารบ้านเรือนได้ เพื่ออะไร? เห็นไหม?

ถ้าละไป มีเงินเยอะๆ ในพระไตรปิฎกใช้คำว่าอะไร? เศรษฐีหัวโล้น จริงไหม? ต้องตรง ธรรมเป็นเรื่องที่ตรง ถ้าไม่ตรง จะไม่ได้ฟังคำนี้ แล้วจะรู้สึกไหมว่าผิด แต่เมื่อได้ฟังคำนี้เริ่มคิดว่า ตัวเองผิด ไม่เป็นพระอีกต่อไป มาเป็นคฤหัสถ์ตามอัธยาศัย ศึกษาธรรมได้ สนทนาธรรมได้ ปฏิบัติธรรมได้ อบรมเจริญปัญญาได้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็บวช ไม่สามารถจะมีชีวิตแบบคฤหัสถ์ได้อีกต่อไป ถูกไหม จริงไหม ตรงไหม?

พระพุทธบริษัทในครั้งนั้นมีใครบ้าง และไม่ได้บอกว่าคฤหัสถ์ต้องมีศีลแบบภิกษุเลย เฉพาะผู้ที่สามารถสละอาคารบ้านเรือน เพื่อศึกษาพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาในเพศที่ละอาคาร แล้วจะไปปลูกบ้านไหม แล้วจะมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนบ้านไหม?

เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร? ทรงบัญญัติว่าอย่างไร? ผู้ฟังมีความเคารพสูงสุดไม่เปลี่ยนความหมาย เพื่อคนฟังจะได้เรียนรู้ความจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่พระโพธิสัตว์ประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ผิดเลย คือสัจจะ ความจริง บางครั้งบางชาติอาจจะมีความผิดพลาดในเรื่องของศีล แล้วแต่เพศ แล้วแต่พฤติกรรม แล้วแต่สถานะ แต่ว่า สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ขาด คือสัจจะ ต้องตรงตั้งแต่ต้น

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ใดๆ ทั้งหมด จะเป็นความผิดความพลาดประการใดๆ สามารถแก้ได้เมื่อพูดความจริง แต่ถ้าไม่พูดความจริง อย่างไรๆ ก็แก้ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะให้ถูกต้องได้ เพราะไม่พูดความจริง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ และกราบยินดีในความดีของท่านพลโทชัชพัชร์ - คุณกนกรัตน์ แย้มงามเรียบ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ