ทิฏฐิ - ความเห็นผิด
คือ ความเห็นผิด
๑. เห็นว่าอัตตาและโลก เที่ยงแท้
๒. เห็นว่ามีอัตตาและโลก ซึ่งจะขาดสูญ
๓. เห็นว่าการกระทำไม่มีผล
๔. เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุปัจจัย
๕. เห็นว่าไม่มีการกระทำหรือสภาวะ ที่จะกำหนดเอาเป็นหลักได้
ในบางแห่งแสดงทิฏฐิที่ผิดว่า มิจฉาทิฏฐิ ดังข้อความในธรรมสังคณี
[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 14
[๒๙๑] มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือ ทิฏฐิ กันดารคือ ทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือ ทิฏฐิ ความยึดถือความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาสในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น. คำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นไม่มีตามความเป็นจริง
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นคลาดเคลื่อนโดยถือเอาผิด.ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นทิฏฐิอันบัณฑิตเกลียด เพราะนำมาแต่ความฉิบหายบ้าง. แม้ในมิจฉาสังกัปปะ เป็นต้น ก็นัยนี้แหละ. อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้คนเห็นผิด หรือเห็นผิดเองหรือทิฏฐินี้ เพียงเห็นผิดเท่านั้น. มิจฉาทิฏฐินั้นมีการยึดถือมั่นโดยอุบายไม่แยบคายเป็นลักษณะ (อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา) มีความยึดมั่นผิดสภาวะเป็นรส (ปรามาสรสา) มีความยึดถือผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน (มิจฺฉาภินิเวสนปจฺจุฏฺฐานา) มีความไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน (อริยานํ อทสฺสนกามตาทิปทฏฺฐานา) พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง. แม้ในมิจฉาสังกัปปะ เป็นต้น มีความต่างกันเพียงบทว่า มิจฺฉา เท่านั้น. คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวในอธิการแห่งกุศลนั้นแหละ.
พระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ละข้อปฏิบัติผิด ละวิจิกิจฉา ละกิเลสที่เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ หนทางเดียวคือ อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อละกิเลส ละความเห็นผิดค่ะ
ตราบใดที่มีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคลตัวตน (สักกายทิฏฐิ) ก็เป็นเหตุปัจจัยให้มีความเห็นผิดอย่างอื่นได้ครับ ปัญญาที่จะดับกิเลสต้องดับความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์บุคคล ตัวตนก่อน
ขออนุโมทนาด้วยนะ
ขออนุโมทนากัลยาณมิตรทุกท่านที่กรุณาแสดงธรรมโดยละเอียด.
ส่วนการอบรมเจริญปัญญาของผู้ที่ยังเป็นปุถุชนในยุคนี้คือฟังพระธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูก (ขึ้น) ละความไม่รู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรคิดว่ารู้แล้วทั้งๆ ที่ยังอาจจะไม่รู้หรือเข้าใจ แม้แต่เรื่องราวของสภาพธรรมที่ปรากฎในขณะนี้ ไม่ควรคิดข้ามไปที่จะดับ "ความเห็นผิด" ที่ยังดับไม่ได้ ไม่ควรคิดข้ามไป ที่จะอยากให้สติเกิดหากสติไม่เคยเกิด แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมสติก็มีกำลังที่จะเกิดได้เอง ครับ
ขออนุโมทนา