ยังติดข้องแต่ไม่รู้_สนทนาธรรม ณ บ้านรักศรีรักงาม จ.นครสวรรค์

 
เมตตา
วันที่  20 ต.ค. 2567
หมายเลข  48738
อ่าน  203

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้า 937 - 940

โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร

[๑๐๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์

ครั้งนั้นท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็นกุลุปกะของสกุลหนึ่ง รับภัตตาหาร อยู่เป็นประจำ ของเคี้ยวของฉันอันใดที่เกิดขึ้นในสกุลนั้น เขาย่อมแบ่งส่วน ไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร เย็นวันหนึ่งในสกุลนั้นมีเนื้อเกิดขึ้น เขาจึงแบ่งส่วนเนื้อนั้นไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร เด็กของสกุล นั้นตื่นขึ้นในเวลาเช้ามืด ร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า บุรุษผู้สามี จึงสั่งภรรยาว่า จงให้ส่วนของพระแก่เด็ก เราจักซื้อของอื่นถวายท่าน ครั้นแล้วเวลาเช้าท่านอุปนันทศายบุตร นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปสู่สกุลนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย

ทันใด บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตร กราบแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มี มีเนื้อเกิดขึ้น ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้าส่วนหนึ่ง จากนั้นเด็กคนนี้ ตื่นขึ้นแต่เช้ามืดร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า ผมจึงได้ให้เนื้อ ส่วนของพระคุณเจ้าแก่เด็ก พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วย ทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า เธอบริจาคทรัพย์กหาปณะหนึ่ง แก่เราแล้วหรือ

บุ. ขอรับ ผมบริจาคแล้ว

อุ. เธอจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา

บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตร ในทันใด นั้นเองแล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากบุตรเหล่านี้ รับรูปิยะเหมือนพวกเรา

ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดา ภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อ สิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้รับรูปิยะเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะ เหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่าน พระอุปนันทศากยบุตรว่า ดูก่อนอุปนันทะ ข่าวว่าเธอรับรูปิยะจริงหรือ

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

ทรงติเตียน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำ ของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า การกระทำของเธอนั่น ไมเป็น ไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใส ยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไป เพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็น อย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

ทรงบัญญัติสิกขาบท

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตร โดย อเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็น คนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ

คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความ เป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความ กำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดย อเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม แก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบท แก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความ รับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะ อันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง อย่างนี้ ว่าดังนี้ :-

พระบัญญัติ

๓๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ


[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 437

๑๐. สัยหชาดก

ว่าด้วยการแสวงหาที่ประเสริฐ

[๕๓๘] บัณฑิตไม่พึงปรารถนาพื้นแผ่นดิน มีสัณฐานดุจกุณฑลท่ามกลางสาคร มีมหา-สมุทรล้อมอยู่โดยรอบ พร้อมด้วยการนินทาดูก่อนสัยหะอํามาตย์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด.

[๕๓๙] ดูก่อนพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศการได้ทรัพย์ และความประพฤติเลี้ยงชีวิตด้วยการทําตนให้ตกต่ําหรือด้วยการประพฤติไม่เป็นธรรม.

[๕๔๐] ถึงแม้เราบวชเป็นบรรพชิต ถือภาชนะเที่ยวภิกขาจาร ความประพฤติเลี้ยงชีวิตนั้นแหละประเสริฐกว่า การแสวงหาโดยไม่เป็นธรรมจะประเสริฐอะไร.

[๕๔๑] ถึงแม้เราบวชเป็นบรรพชิต ถือภาชนะเที่ยวภิกขาจาร ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในโลกนั้นประเสริฐกว่าราชสมบัติเสียอีก.

จบ สัยหชาดกที่ ๑๐


อ.วิชัย: ก็มีประเด็นที่ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่นี้เกี่ยวกับเรื่องของภิกษุ อย่างใน โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ ก็มีบัญญัติว่า ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี หรือยินดีในเงิน และทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตนก็ดี เป็นปาจิตตีย์ ก็คือ นิสสัคคิยปาจิตตีย์

ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า การที่ผู้แปลที่ไม่ได้แปลตรงพระบัญญัติ ซึ่งถ้าศึกษาเรื่องของเงินทองก็นำมาซึ่งเบญจกามคุณ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความพอใจครับ แต่ว่าเบญจกามคุณ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นที่ตั้งของความยินดี กับเงินและทองที่เป็นพระบัญญัติที่พระภิกษุไม่รับ และไม่ยินดีที่จะเก็บไว้เพื่อตัวเอง จะมีความต่างกันอย่างไรครับ

ท่านอาจารย์: มีเงินมหาศาลซื้ออะไรไม่ได้ เอามาทำไม? เพราะฉะนั้น มีเงินเพื่ออะไร? ชัดเจนไหม ทุกอย่าง?

ถ้าไม่มีเงิน แต่สามารถที่จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เอาไหม? กับคนที่ไม่มีเงินแต่มีอย่างนั้น กับคนที่ต้องมีเงินเพื่อจะได้สิ่งนั้น ต่างกันแล้วใช่ไหม?

อ.วิชัย: ต่างกันครับ

ท่านอาจารย์: นั่น.. แสวงหาเลย นี่เทวดาไม่ต้องไปซื้ออะไร

อ.วิชัย: ท่านอาจารย์ครับ ก็แสดงละเอียดที่พระองค์เห็นเหตุซึ่งนำซึ่งความติดข้อง อย่างเงินทองสำหรับคฤหัสถ์ ก็ประกาศชัดเจนว่า เป็นผู้ที่ครองเรือน ยังยินดีพอใจในสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่ถ้าเป็นเพศบรรพชิตก็ต้องตรงตั้งแต่แรกที่จะสละตั้งแต่เบื้องต้นครับ

ท่านอาจารย์: ตั้งแต่เริ่มปฏิญาณขอเป็นภิกษุ อยู่ดีๆ เป็นเองไม่ได้ ต้องกระทำตามพระวินัย ไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ ก็เอาผ้ามาคล้องแล้วก็ออกจากบ้าน อย่างนี้ก็ไม่ใช่ภิกษุเลย นี่คือ ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะประกาศตนว่า เป็นผู้ที่เคารพในพระรัตนตรัยที่จะเป็นภิกษุ ไม่เป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ บางคนก็บวชแล้วอยู่บ้าน

อ.วิชัย: ได้ยินถึงความละเอียดยิ่งของความพอใจ ซึ่งปกติเราก็มีเงินทองใช้จ่าย ซึ่งเราก็ไม่ได้เห็นว่า เป็นสิ่งที่เป็นอกุศลครับ แต่ว่า ถ้าเป็นผู้ที่จะขัดเกลาอย่างยิ่ง ต้องเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ทุกคนติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ จะมีเงินหรือไม่มีเงิน ถึงแม้ภิกษุออกจากบ้านแล้วบวชตามพระธรรมวินัยแล้ว แต่ยินดีไหม เป็นผู้ตรงด้วยตัวเอง ภัตตาหารอร่อยไหม หรือบิณฑบาตเป็นอย่างไร ผ้าจีวรละเอียด หรือว่าหยาบ หรือว่าไม่น่าใช้

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของใจ ความติดข้อง รู้ว่า ต้องเป็นไปตามลำดับ บางคนเหมือนกับอยู่ป่าแล้วจะหายติดข้อง เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจความหมายของความตรง สัจจะ ถ้าไม่ตรงอย่างนี้ จะไปรู้แจ้งอะไร

พระองค์ตรัสว่า ภิกษุไม่รับ และไม่ยินดีในเงิน และทอง แต่รับ หมายความว่าอะไร? แล้วก็เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? มีพระองค์เป็นที่พึ่งหรือเปล่า? ต้องตรงทุกคำ

เพราะฉะนั้น คนที่กล่าว คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคนที่เป็นมิตร เป็นคนที่หวังดีหรือเปล่า? ไม่ได้ต้องการให้โทษกับใครเลย แต่ให้รู้ความจริง จะได้แก้ไขให้ถูกต้อง ดีกว่าปล่อยให้เป็นไป จากโลกนี้แล้วไปไหน? นรก แล้วเราไม่ช่วยหรือ?

เราไม่ได้กล่าว คำ ของเราเลยสักคำ แต่กล่าวถึง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงลำดับขั้นของการอาบัติ การไม่ประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติแล้ว มีโทษอย่างไร? หนัก เบา แค่ไหน? ด้วยพระมหากรุณา

และ กล่าว คำ ของพระองค์ กับไม่กล่าว คำ ของพระองค์ อย่างไหนเป็นคนดี? ทำไมไม่พูดตรง ไม่แปลตรงตามที่พระองค์ตรัส เคารพพระองค์หรือ หรือว่าเกรงว่า คนอื่นจะไม่พอใจ เพราะเราพูด คำ ที่เขาไม่ชอบ จะบอกว่า พระภิกษุไม่รับ และไม่ยินดีในเงิน และทอง ก็แสดงอยู่แล้วใช่ไหม? ความเป็นผู้ตรง ไม่ได้ให้โทษ และเป็นมิตร ไม่เดือดร้อน จะว่าเราประการใด แต่เรากล่าว คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความเป็นมิตร ให้เข้าใจให้ถูก อย่าไปลบเลือน อย่าไปเปลี่ยนคำ อย่าไปทำให้เบาด้วยความเขลาของตัวเอง อย่างนั้นหวังดีหรือเปล่า? เขาไปไหน จากโลกนี้ไป เร็ว ทันทีที่จาก ก็ไปแล้ว

เพราะฉะนั้น ทุกคนกำลังไป แต่ว่า ไปไหน? เพราะฉะนั้น ถ้ากรรมที่เป็นโทษ เป็นอกุศลกรรมให้ผล นกก็ได้ แมวก็ได้ ปลาก็ได้ มาจากไหน? ไม่เคยเป็นคนหรือ? ไม่เคยทำไม่ดีหรือ?

แต่ทุกคนจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จำไม่ได้ ทำอะไรไว้ก็จำไม่ได้ แต่กรรมที่ทำไว้ติดตามไป ไม่ได้ไปที่อื่น ไม่ได้ออกนอกจิต เอาไปให้ใครก็ไม่ได้ ต่างคนต่างมีกรรมเป็นของตนเอง

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

สิ่งที่ควรแสวงหาคือปัญญา

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

เห็นลูกเหมือนเห็นแขก

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ และกราบยินดีในความดีของท่านพลโทชัชพัชร์ - คุณกนกรัตน์ แย้มงามเรียบ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ต.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ