Hindi-English 30 October 2024
Hindi-English 30 October 2024
- สิ่งที่กำลังมีปรากฏตามความเป็นจริงชัดเจนหรือยัง ก่อนที่จะมีความเข้าใจปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ศึกษาธรรมไม่ใช่การศึกษาชื่อ แต่เมื่อรู้ว่าเดี๋ยวนี้มีอะไร ก็สามารถที่จะรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น
- เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ลืมคำของพระองค์หรือเปล่า (ไม่ลืม) พระองค์ตรัสว่าอย่างไรจากการที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดงตามที่ได้ตรัสรู้ เราจะได้ยินคำว่าปัจจัยจากไหน ถ้าไม่ใช่จากคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- จากที่ฟังคำสอนมานานมีความเข้าใจลึกซึ้งแค่ไหนในคำนั้นคำเดียว เพราะฉะนั้นยกมา ๑ คำที่พระองค์ตรัส คำนั้นเป็นคำของพระองค์ไม่ใช่คำของคนอื่น เพราะฉะนั้นเพียงคำเดียว ถ้าไม่มีความเข้าใจความจริงของคำนั้นไม่มีวันเข้าใจพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- เพราะฉะนั้นคำเดียวคำนั้นคืออะไร (คุณมานิชตอบว่า มีมากมายหลายคำจากการสนทนา แต่ขอความเข้าใจคำเดียวคือคำว่า ขณะนี้) ไม่ค่ะ ไม่ใช่คำนั้น ไม่มีใครสามารถเข้าใจคำไหนได้ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
- คำนั้นคืออะไร (ธรรม) ถูกต้อง ไม่ว่าอะไรที่มีจริงเป็นธรรม ทุกสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะของตน เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยและดับไปทันที นี่คือสังขารธรรมตั้งแต่เกิดทุกอย่างเป็นธรรม
- ไม่ว่าจะศึกษามามากเท่าไหร่ เรียนมานานแค่ไหน เพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมชัดเจนขึ้นๆ เพื่อเข้าใจความจริง ไม่ลืมว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ ที่ไหน ทุกอย่างเป็นธรรมทั้งสิ้น สิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ เป็นธรรม
- ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีที่เคยเข้าใจผิดว่าเป็นคน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แท้จริงเป็นเพียงธรรมที่มีลักษณะปรากฏให้รู้เท่านั้น เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่ประจักษ์แจ้งความจริงทุกอย่างต้องถึงความเป็นพระอรหันต์
- เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ยังไม่เข้าใจธรรมเพียงพอ ไม่ลืมพระธรรมคำสอนที่ไม่ใช่เพียงจำได้แต่เข้าใจความหมาย ของสิ่งที่มีจริงทีละหนึ่ง เช่น ธรรมคืออะไร
- เพราะฉะนั้นถามแล้วถามอีกว่า ธรรมคืออะไร ถามทุกคนเพื่อให้ไม่ลืม เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ลืมเพื่อค่อยๆ เข้าใกล้ตัวจริงของธรรมเพิ่มขึ้นถามว่า ธรรมคืออะไร (คุณมานิชตอบว่าได้ยิน) แต่ความจริงคือ สิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้สิ่งนั้นเป็นธรรม
- เพราะฉะนั้นธรรมไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น ไม่ใช่ดอกกุหลาบ ไม่ใช่แมว เป็นเพียงสิ่งที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ว่าเป็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นที่เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ แล้วเป็นธรรม
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เพียงกล่าวตามคำแต่เป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าปราศจากการพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบ จะเข้าใจลักษณะของธรรมได้อย่างไร แต่ธรรมยังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง
- เพราะฉะนั้นศึกษาธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบทีละอย่างทีละหนึ่งธรรม ถ้าไม่ไตร่ตรองสิ่งที่กำลังมีอย่างละเอียดรอบคอบตามความเป็นจริงจะมีความเข้าใจที่มค่อยมั่นคงในความจริงตาามความเป็นจริงได้หรือ
- สิ่งต่างๆ ที่มีสามารถศึกษาได้เรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้นจะสนทนาอะไรที่กำลังมีเพื่อค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นอย่างละเอียดรอบคอบ นี้เป็นหนทางเดียวหรือเปล่าที่จะเข้าใจสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
- ความเข้าใจถูกทุกอย่างมาจากการที่ได้ฟังคำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงจึงฟังได้ความเคารพสูงสุดในทุกคน เพราะฉะนั้นเพียงคำเดียวธรรมเดียวที่ศึกษาเพื่อที่จะรู้ว่าคำที่ได้ยินได้ฟังนั้นมีความเข้าใจแค่ไหนในคำนั้นในธรรมนั้น คือคำไหน (ธรรม)
- ทุกอย่างเป็นธรรมเพราะฉะนั้นจะสนทนาถึงธรรมไหน (คุณมานิชตอบว่า ได้ยิน) เพราะฉะนั้นได้ยินเป็นสิ่งที่มีจริงใช่ไหม ดูเหมือนว่าทุกคนรู้จักได้ยินแต่จริงๆ แล้วได้ยินคืออะไร เห็นไหมว่าลึกซึ้งแค่ไหน แทบจะทุกขณะที่ไม่มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังมี อวิชชา เป็นสิ่งที่มีจริงที่ความไม่รู้อะไร
- เริ่มรู้ความจริงว่า ยังไม่มีเข้าใจอะไรเลยตั้งแต่เกิดจนตายถ้าไม่ไตร่ตรองพิจารณาตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อได้ยินเกิดขึ้นกำลังได้ยินเริ่มที่จะค่อยๆ พิจารณาลักษณะของได้ยิน เริ่มที่จะค่อยๆ รู้ความจริงของได้ยินที่กำลังมี และเริ่มรู้ว่าความไม่รู้ในสิ่งที่มีจริงในชีวิตมีมากแค่ไหน
- นอกจากได้ยิน มีเสียงไหม (มี) เห็นไหม ใครรู้ว่า เสียงไม่ใช่ได้ยินถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว (ก่อนที่จะสนทนาธรรมคุณมานิชไม่เคยรู้ว่าเสียงกับได้ยินไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หลังจากที่ได้ฟังท่านอาจารย์เข้าใจขึ้นว่า ธรรม ๒ อย่างนี้แตกต่างกัน)
- แล้วคุณมานิชเป็นอะไร เป็นได้ยินหรือเป็นเสียง (ไม่มีมานิชมีแต่ปัจจัย) เป็นขณะที่เริ่มที่จะเข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
- ถ้ามีคนถามคุณมานิชว่า ธรรมคืออะไร จะตอบว่าอย่างไร (ธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งแต่เขาไม่สามารถจะกล่าวได้มาก เพียงตอบว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ) และนั่นคือปัญญาที่เริ่มต้นเห็นพระปัญญาคุณอันสูงยิ่งของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
- ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าใครจะกล่าวความจริงได้ เพราะฉะนั้นธรรมทุกอย่างที่กำลังมีมีมากมายแต่เริ่มศึกษาทีละหนึ่งแต่ละหนึ่งจนกระทั่งเข้าใจทุกธรรมที่มีที่ปรากฏ
- เพราะฉะนั้นเสียงได้ยินอะไรไหม (เสียงไม่ได้ยิน) ได้ยินได้ยินไหม (ไม่) ได้ยิน ได้ยิน ได้ยิน ได้ยินไหม (ไม่ได้ยิน) ได้ยินอะไร (ทั้งหมดเป็นปัจจัย ถ้าไม่มีเสียงก็ไม่มีได้ยิน) สนทนาถึงสิ่งที่มีจริง เสียงกำลังปรากฏไหม (ขณะนี้เสียงกำลังปรากฏ) ถ้าไม่มีได้ยินเสียงจะปรากฏไหม (ไม่)
- เพราะฉะนั้นได้ยินได้ยินเสียง ไม่ใช่เป็นใครที่ได้ยิน ได้ยินเป็นได้ยิน ถูกไหม (ถูก) เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียง ไม่มีความเข้าใจจึงยึดได้ยินว่าเป็นเราที่ได้ยินเพราะอวิชชาความไม่รู้ในความจริง
- ได้ยินเป็น เรา ได้ยินเป็นแมว หรือได้ยินเป็นงู (ไม่ใช่) ค่อยๆ เริ่มเข้าใจความเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไม่กับมาอีกเลย กำลังสนทนาถึงเห็นที่กำลังหรือเปล่า
- เพระฉะนั้นได้ยินกับเสียงเป็นเพียงสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ได้ยินเป็นเสียงไม่ได้และเสียงไม่ได้ยิน ๒ อย่างนี้ต่างกันไหม (ต่างกัน) ต่างกันอย่างไร (ตอบไม่ได้ว่าต่างกันตรงไหนแต่ตอบได้ว่า ทั้ง ๒ อย่างเป็นธรรม)
- เพราะฉะนั้น ๒ อย่างต่างกันอย่างไร (สรุปว่าคุณมานิชยังไม่เข้าใจ) เราต้องค่อยๆ ให้เขาคิดเอง ให้เขารู้เองเขาจะได้ตอบได้ (รู้ว่าต่างกันแต่ต่างกันอย่างไรยังตอบไม่ได้) ก็ต้องค่อยๆ ให้เขาคิด เราไม่บอกอะไรเลยแต่ถามให้ค่อยๆ คิด ดิฉันกำลังจะถามให้คิด
- แข็งรู้อะไรไหม (แข็งไม่สามารถรู้อะไร) หวานรู้อะไรได้ไหม (ไม่ได้) กลิ่นหอมรู้อะไรได้ไหม (ไม่ได้) กลิ่นเป็นธรรมหรือเปล่า (เป็นธรรม) หวานเป็นธรรมหรือเปล่า (เป็น) เพราะฉะนั้นหวาน แข็ง เค็ม เปรี้ยว กลิ่นเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง เป็นธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรได้
- ได้ยินรู้อะไรไหม (ได้ยินรู้) แข็งรู้อะไรไหม (แข็งไม่รู้) เพราะฉะนั้นสภาพที่เกิดขึ้นรู้กับสภาพที่มีจริงแต่ไม่รู้อะไรต่างกันไหม (ต่างกัน) เพราะฉะนั้นเราจะรวมประเภทของจิตที่ต่างกัน
- เพราะฉะนั้นเห็นเป็นสภาพรู้ ได้ยินเป็นสภาพรู้ จำเป็นสภาพรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นรู้เป็นธรรมประเภทเดียวกันคือเกิดขึ้นรู้ เพราะฉะนั้นต้องรู้ตั้งแต่ธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมแต่ธรรมต่างกันเป็น ๒ อย่างใหญ่ๆ
- เพราะฉะนั้นธรรม ๑ แยกเป็น ๒ เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรอีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่เกิดขึ้นรู้ทั้งหมดเราใช้คำว่า นามธรรม สภาพที่เป็นธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นไม่รู้อะไรเลยแต่เป็นลักษณะที่แข็ง หวาน กลิ่น ฯลฯ พวกนี้เป็นรูปธรรม ธรรมที่เกิดต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่างนี้ ทุกอย่างที่เกิดเป็นธรรมที่เกิดแต่ต่างกันเป็น ๒ อย่างเป็นนามธรรมกับรูปธรรม
- มีมานิชไหม (ไม่มี) แล้วมีอะไร (มีธรรม) มีธรรมอะไร (มีได้ยิน) ไม่มีมานิชแต่มีนามธรรมกับรูปธรรมใช่ไหม มีรถยนต์ไหม (ถ้าตามที่เข้าใจ ไม่มีมานิช ไม่มีรถยนต์) ไม่ใช่ตามที่เข้าใจ ตามที่เป็นจริง (แค่เป็นชื่อที่ตั้งกับสิ่งที่ปราฏ)
- เพราะฉะนั้นชื่อเป็นอะไร (คุณอาช่าตอบว่าเป็นบัญญัติ) บัญญัติคืออะไร (ตอบแล้วว่าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้น) ถูกต้องแต่ความจริงเป็นอะไร ถ้าไม่มีความจริงนี้จะมีบัญญัติไหม เพราะฉะนั้นเรียนธรรมต้องละเอียดให้เขาเข้าใจจนกระทั่งสิ่งที่ยากก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
- (คุณอาช่าตอบว่า ตอนที่เห็นรถก็รู้ว่าเห็นรถยนต์แต่จริงๆ เป็นสีแล้วตั้งชื่อว่าเป็นรถยนต์) ทำไมตั้งชื่อว่าเป็นรถยนต์ (เพราะเคยจำได้ว่าเป็นอย่างนั้น) เพราะฉะนั้นจำอะไร (จำสีที่เห็น) เพราะฉะนั้นจำสีที่เห็นกับจำเสียงต่างกันใช่ไหม (ต่างกัน) เพราะฉะนั้นอะไรเป็นธรรม (สีเป็นธรรม จำเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม)
- เพราะฉะนั้นชื่อเป็นอะไร (บัญญัติเป็นธรรม) ใช้คำว่าบัญญัติหมายความว่าเป็นธรรมหรือเปล่า (ทั้งอาช่าและมานิชตอบว่าบัญญัติเป็นสิ่งที่มีจริง) รถยนต์มีจริงหรือ (รถยนต์ไม่มีจริง) เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจปรมัตถธรรมจึงจะรู้ว่า สิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมก็เป็นบัญญัติ
- เมื่อคืนนี้คุณอาช่าฝันหรือเปล่า (ฝัน) ฝันเห็นอะไร (ตอนที่นอนหลับดูเหมือนเห็นรถ) แต่ไม่ได้เห็น เพราะฉะนั้นคิดดีๆ เห็นรถยนต์แต่ไม่ใช่เห็นรถยนต์ เห็นสิ่งที่จำว่าเป็นรถยนต์ในฝันเพราะฉะนั้นจำสิ่งที่ปรากฏให้เห็น
- (มานิชกล่าวว่าในเมื่อเห็นเห็นสี สีก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่รถเป็นบัญญัติเหมือนตอนที่ฝันว่าเห็นรถแต่ไม่ได้เห็นและรถเป็นสิ่งที่คิดคิดเป็นบัญญัติอย่างหนึ่ง แต่ในฝันไม่มีเห็นมีแต่คิด ส่นอาช่าสับสนเรื่องรูปร่างรูปทรงเรื่องนิมิตบัญญัติ ให้ท่านอาจารย์เกื้อกูลด้วย)
- ให้เขารู้ว่า นี้คือธรรมที่ลึกซึ้งกว่านี้อีกมาก (เข้าใจว่าธรรมลึกซึ้งและละเอียดมาก) นี่เป็นประโยชน์ยิ่งกว่ารู้คำเยอะๆ รู้ปัจจัยแยะๆ แต่ไม่เห็นความลึกซึ้งว่าไม่รู้แค่ไหน มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจความหมายของสัจจบารมีเลย
- (คุณมานิชบอกว่าในฝันก็เห็น) เห็นเหมือนเห็นเดี๋ยวนี้หรือเปล่า (ไม่เหมือน) เพราะฉะนั้นความลึกซึ้งที่จะทำให้เข้าใจตรงนี้ต้องค่อยๆ ฟังละเอียด ไม่ต้องรีบไปไหนเลย ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ก็ไม่เข้าใจความลึกซึ้งของทั้งหมด เพราะฉะนั้นตรงนี้สำคัญมากถ้าไม่เข้าใจตรงนี้จะรู้ไหมว่ากว่าจะเข้าใจตรงนี้ยากแค่ไหน ทุกคนเริ่มฟังตรงนี้ตั้งต้นไตร่ตรองจริงๆ
- ทำไมเห็นเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเห็นในฝัน (คุณอาคิ่ลตอบว่า เห็นเดี๋ยวนี้เห็นสี เห็นเป็นรูปร่างรูปทรงแต่ในฝันคิดถึงสีรูปร่างรูปทรงที่จำไว้ นี่คือ ความต่างระหว่างเห็นเดี๋ยวนี้กับเห็นในฝัน)
- เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ก็เหมือนฝันด้วยใช่ไหม (ตอนนี้ยังไม่สามารถแยกเห็นเดี๋ยวนี้กับเห็นในฝันได้ สองอย่างยังเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ด้วยความเข้าใจพระธรรมที่มีน้อยนิดพอจะรู้ว่า ในฝันไม่มีเห็นแต่เดี๋ยวนี้มีเห็นจริงๆ เข้าใจว่าเป็นธรรมที่ต่างกัน ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียวกันแต่ยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ)
- เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจความต่างของสิ่งที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรมกับสิ่งที่จำเป็นเรื่องราว (มีความต่างระหว่างสิ่งที่จำกับสิ่งที่มีจริงๆ) เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักธรรมแต่ละ ๑ จะรู้ไหมว่าแต่ละ ๑ สั้นมากเกิดดับตลอดเวลา ความจริงคือไม่เหลืออะไรเลย
- เพราะฉะนั้นเป็นเวลาที่จะเริ่มเข้าใจความต่างระหว่างสิ่งที่มีจริงปรมัตถธรรมกับบัญญัติ เพราะฉะนั้นเราอยู่ในของความไม่รู้อะไรเลย (เราถูกห้อมล้อมไปด้วยความไม่รู้ ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย) และอัตตา ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่มีการตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงแต่ละขณะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสุญญตาไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเลย จะมีความเข้าใจความจริงได้อย่างไรว่า ไม่มีใครอยู่ในโลกของบัญญัติ แต่มีความเข้าใจที่รู้ว่า ถ้าไม่มีปรมัตถ์ก็ไม่มีบัญญัติ ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น
- เพราะฉะนั้นขณะที่หลับ ขณะที่กำลังฝัน มีปรมัตถธรรมไหม (ไม่มี) เพราะฉะนั้นความไม่รู้เป็นเหตุให้เสมือนมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความฝันโดยไม่รู้ว่ากำลังฝัน แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วยให้ผูัที่ฟังแล้วเข้าใจความจริงค่ยๆ “ตื่น” จากความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่รู้เลยว่าไม่มีใครเลยมีแต่สภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยต่างๆ หลากหลาย ความไม่รู้ปรุงแต่งให้เกิดความติดข้องและอยากรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ไม่สนใจที่จะเข้าใจความจริงตามความเป็นจริง
- เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังว่า ธรรมทุกประการลึกซึ้งเป็นเป้าหมายที่มีชีวิตอยู่เพื่อเข้าใจความจริง (ต้องเรียนรู้อีกมาก) ใครคะ (อาช่า) อาช่าตื่น (ท่านอาจารย์หัวเราะ อาช่าตอบว่ายังไม่ตื่นเพราะความไม่รู้มีมากแต่ปรารถนาที่จะศึกษาเพื่อตื่นจากความไม่รู้) คำที่ทำให้ตื่นเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- (คุณอาช่ากล่าวว่า ทุกๆ ครั้งที่ได้สนทนากับท่านอาจรย์ ตนเหมือนเด็กน้อยที่มีท่านอาจารย์คอยจูงมือให้ออกจากความไม่รู้และค่อยๆ รู้จักธรรมเพิ่มขึ้น ระลึกถึงคุณของท่านอาจารย์อย่างยิ่งที่กรุณาเกื้อกูลให้เข้าใจ) และนั่นเป็นความจริงใช่ไหม เพราะฉะนั้นความเข้าใจพระธรรมคำสอนเพิ่มขึ้นแม้เล็กน้อยเท่าไหร่ ก็ค่อยๆ ปลุกให้ตื่นจากความไม่รู้เพิ่มขึ้นเท่านั้น
- ถ้าไม่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมีใครสามารถตื่นจากความไม่รู้ด้วยตนเองได้ไหม มีปัจจัยที่จะให้ต้องอยู่ในความฝันจากชาติหนึ่งสู่ชาติหนึ่งไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงรู้คำมากๆ แต่ต้องเข้าใจความลึกซึ้งของแต่ละคำ เป็นหนทางเดียวที่จะเข้าใจด้วยตนเอง ไม่มีทางอื่นเลย ไม่ใช่อยู่ในตำรา จิตมีเท่าไหร่ เจตสิกเท่าไหร่ แต่อะไรที่มีเดี๋ยวนี้
- เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูกค่อยๆ ถูกปลูกฝังเพื่อค่อยๆ เจริญขึ้นทีละน้อยในแต่ละชาติเพื่อเข้าใจความจริง ตระหนักว่าแต่ละคำนั้นจริงอย่างยิ่งเพราะว่าสิ่งที่มีเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไปทันที
- แม้เพียงไม่กี่คำ แต่ทุกคำมากมายหลายคำส่องให้เห็นความจริงของสิ่งที่มีจริงในชีวิตที่ผ่านแต่ละขณะในสังสารวัฏฏ์ และชีวิตก็แสนสั้นใครจะรู้ว่า จะมีโอกาสได้ฟังความจริงอีกเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ ค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นเพื่อละความไม่รู้ และนี้เป็นหนทางที่ลึกซึ้งของอริยสัจจะทั้ง ๔
- เพราะฉะนั้นค่อยๆ เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระธรรมเพิ่มขึ้นจนกระทั่งปัญญาเคารพสูงสุดต่อพระองค์ด้วยความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าอะไรเป็นความจริงสูงสุด อะไรเป็นปรมัตถธรรม และขณะไหนเป็นความจริง
- เพราะฉะนั้นเรากำลังอยู่ในความฝันหรือเปล่า (ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมก็ยังอยู่ในความฝัน) ความเข้าใจรอบที่ ๑ เป็นความเข้าใจในขั้นฟัง ยังเป็นเพียงขั้นฟังคำสอนยังฝันอยู่ เพราะฉะนั้นมีความเข้าใจในขั้นปริยัติ เราสนทนาเรื่องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ชอบ ไม่ชอบที่ดับไปๆ โดยไม่รู้ จนกระทั่งมีธรรมที่เกิดขึ้นระลึกรู้พร้อมเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามที่ได้ศึกษา
- เพราะฉะนั้น ฟังคำของพระองค์ด้วยความเข้าใจสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดบารมีในชีวิตประจำวัน เข้าใจว่า ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้ ก็มีปัจจัยที่อกุศลจะเกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน และปัญญารู้ว่า เพียงหนึ่งขณะที่เป็นความเข้าใจมีค่ามากกว่าอกุศลมากมายที่เกิดขึ้นแต่ละวัน
- ความเข้าใจความจริงเป็นบารมีที่จะปรุงแต่งให้กุศลเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การได้เกิดมาในโลกและมีโอกาสได้ฟังคำสอนเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง และใครจะรู้ว่า ชีวิตจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เร็วหรือช้า ไม่สามารถรู้ได้เลย
- เพราะฉะนั้น ไม่ประมาทที่จะทำความดีและเข้าใจธรรมจะนำไปสู่ความเข้าใจธรรมและทำความดีเพิ่มขึ้น ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่ดีที่สุดหรือเปล่า เป็นชีวิตที่เข้าใจความจริงหรือเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยอกุศล และปัญญาเข้าใจว่า หนทางที่ถูกต้องคือทางไหน
- เพราะฉะนั้นตอนนี้ไม่สงสัยปรมัตถธรรมและบัญญัติแล้วใช่ไหม (ไม่) จึงมีสองคำนี้ปรากฏในคำสอนของพระองค์ มิฉะนั้นถ้าสองคำนี้ไม่สำคัญคงไม่มีอยู่ในคำสอนของพระองค์ แต่ละคำขอพระองค์ช่วยให้ละความไม่รู้เดี๋ยวนี้ไหม (ใช่)
- เพราะฉะนั้นมีคำถามอะไรไหม เราสามารถสนทนากันอย่างรอบคอบ (คุณมานิชสับสนระหว่างสีกับแสงสว่างขณะที่เห็น ขอความเข้าใจเรื่องนี้) อะไรถูกเห็น ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรหรือไม่ต้องใช้คำอะไรเลย สิ่งที่ถูกเห็นก็มีจริงๆ คุณมานิชอยากจะใช้คำไหนก็ได้ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสคำนี้เป็นภาษาบาลีว่า "รูปารมฺมณ" รูปเป็นรูปซึ่งไม่รู้อะไรเลยกับคำว่า อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกเห็น
- โดยทั่วไปคำว่า รูป หมายถึงสภาพธรรมที่ไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นเสียง กลิ่น แข็งไม่สามารถจะรู้อะไรเป็นรูป แต่เมื่อใช้คำว่า “รูปารมฺมณ” ต้องเข้าใจ ตอนนี้เราเข้าใจคำว่า รูป แล้วอารมณ์คืออะไร อะไรก็ตามที่เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นบัญญัติ เป็นเสียง ฯลฯ สิ่งที่ถูกจิตรู้เป็นอารมณ์
- เมื่อเราพูดถึงทางรู้อารมณ์ ยกทางตา สิ่งที่ถูกรู้ทางตาเป็นรูปารมณ์ เพราะฉะนั้นรูปคืออะไร (เป็นธรรมที่ไม่รู้อะไร) เพราะฉะนั้นรูปารมณ์คืออะไร (มานิชขอฟังเพิ่ม อาช่าตอบว่า เห็นรู้สิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ถูกเห็นเป็นรูปารมณ์)
- เมื่อเราพูดถึงรูปารมณ์ เราพูดถึงทวารหรือทางที่สภาพรู้อาศัยเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์ และสภาพรู้ที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์ ภาษาบาลีใช้คำว่า จิต จิตอาศัยทางรู้อารมณ์มีทางทั้งหมด ๖ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
- เพราะฉะนั้นรูปกับรูปารมณ์ต่างกันอย่างไร (ต่างกันนิดเดียว) อะไรคือความต่างกันของรูปและรูปารมณ์ตามที่ทรงแสดง (อาช่าตอบว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นที่วัตถุขณะนั้นเป็นรูปารมณ์) ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นเมื่อเราไม่ได้กล่าวถึงวิถีจิต ไม่ได้รู้อารมณ์ใดๆ เช่น ขณะปฏิสนธิหรือขณะที่หลับสนิท อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ ไม่อาศัยทางรู้อารมณ์ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัส ฯลฯ แม้ขณะที่หลับสนิทก็ไม่ใช่คนตายเพราะมีจิตเกิดดับรู้อารมณ์ที่ไม่ปรากฏเพราะไม่ใช่อารมณ์ที่รู้ทาง ๖ ทวาร
- อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ จิตเกิดขึ้นต้องรู้ จึงต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จิตเห็นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น จิตได้ยินได้ยินเสียง เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน เพราะฉะนั้นอารมณ์หมายถึงสิ่งที่ถูกจิตรู้โดยอาศัยทางรู้อารมณ์หรือโดยไม่อาศัยทางเช่น ขณะหลับสนิท ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่นแต่ต้องมีภวังคจิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ยังไม่ตาย
- (มานิชคิดว่าขณะหลับก็เหมือนคนตาย) ไม่ใช่ค่ะ คนตายไม่ตื่นเพราะเมื่อจิตสุดท้ายของชาตินี้ดับไปเป็นปัจจัยให้จิตแรกของชาติหน้าเกิดขึ้นทันทีเป็นบุคลอื่น คนตายไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ฯลฯ เหมือนท่อนไม้
- (คุณมานิชถามว่า ขณะหลับสนิทมีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ฯลฯ ไหม คุณอาช่าตอบว่า ไม่มีอย่างนั้นแต่ขณะนั้นต้องมีจิตที่เกิดดับคือ ภวังจิต) มีสิ่งที่ต้องศึกษาอีกมากเพราะเป็นความจริง ค่อยๆ เข้าใจอย่างละเอียดรอบคอบในแต่ละขณะ ขณะหลับไม่ใช่คนตาย
- (คุณมานิชเข้าใจว่า ขณะหลับไม่ใช่ตาย) มีจิตไหม มีสิ่งที่มีจริงเป็นสภาพรู้ที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเป็นทางรู้อารมณ์เหมือนขณะที่เกิด เพียง ๑ ขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไปรู้อารมณ์ที่ไม่ปรากฏเพราะว่าไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้
- (คุณมานิชมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น) สนทนากันต่อคราวหน้าได้นะคะ สวัสดีค่ะ
ความเข้าใจความจริงเป็นบารมีที่จะปรุงแต่งให้กุศลเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การได้เกิดมาในโลกและมีโอกาสได้ฟังคำสอนเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง และใครจะรู้ว่า ชีวิตจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เร็วหรือช้า ไม่สามารถรู้ได้เลย
ท่านอาจารย์กล่าวความจริงของธรรม ไพเราะจับใจอย่างยิ่ง
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านที่ร่วมสนทนา
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ อย่างยิ่งที่แปลคำสนทนาของท่านอาจารย์และผู้ร่วมสนทนาซึ่งเป็นประโยชน์มากมายมหาศาล ครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลผู้ร่วมสนทนาธรรมทุกคน
กราบขอบพระคุณ กราบอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นในความอนุเคราะห์ตรวจทานครับ