ชิ้นเนื้อคืออะไร? [วัมมิกสูตร]

 
wittawat
วันที่  31 ต.ค. 2567
หมายเลข  48810
อ่าน  63

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชิ้นเนื้อคืออะไร?

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 324

๓. วัมมิกสูตร

[๒๘๙] ... สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไปได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่าชิ้นเนื้อขอรับ. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาสตราขุดดู . ...

[๒๙๑] ... คําว่าชิ้นเนื้อนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ. คํานั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย.


[อรรถกถา (ปปฺจสูทนี]

มํสเปสีติ โข ภิกฺขุ ดังต่อไปนี้ ขึ้นชื่อว่าชิ้นเนื้อนี้ คนเป็นอันมากปรารถนากันแล้ว ทั้งเหล่ามนุษย์ มีกษัตริย์เป็นต้น ทั้งสัตว์ดิรัจฉาน มีกาเป็นต้น ต่างปรารถนามัน สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยอวิชชา อาศัยความกําหนัดด้วยอํานาจความเพลิดเพลิน ต่างก็ปรารถนาวัฏฏะ ชิ้นเนื้อย่อมติดอยู่ในที่วางไว้ๆ ฉันใด สัตว์เหล่านี้ ถูกความกําหนัดด้วยอํานาจความเพลิดเพลินผูกไว้ ก็ติดอยู่ในวัฏฏะ แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่เบื่อฉันนั้น ความกําหนัดด้วยอํานาจความเพลิดเพลิน ย่อมเสมือนชิ้นเนื้อด้วยประการฉะนี้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คําว่าชิ้นเนื้อนี้ เป็นชื่อของความกําหนัดด้วยอํานาจความเพลิดเพลิน. ในคําว่า ปชห นนฺทิราคํ นี้ ตรัสการละความกําหนัดด้วยอํานาจความเพลิดเพลิน ด้วยมรรคที่ ๔.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 94
ตัณหาชื่อว่า นันทิราคะ เพราะเป็นความเพลิดเพลินด้วย เป็น ความกำหนัดด้วย อรรถว่ายินดีด้วย.
ในบทว่า นนฺทิราโค นั้น ตัณหาที่เกิดขึ้นคราวเดียวในอารมณ์ เดียวเรียกว่านันทิ. ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เรียกว่า นันทิราคะ.

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 285
[๑๕๘] ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นไฉน?
ตัณหานี้ใด อันเป็นเหตุเกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
หน้า 353
กามตัณหานี้เป็นชื่อของราคะอันประกอบด้วยกามคุณ ๕ ...
ภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะ (ความยินดี) ในรูปภพ อรูปภพ และความพอใจในฌานที่สหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิซึ่งเกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจปรารถนาภพ ...
วิภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะสหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ.
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 449
บทว่า ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี อันเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ความว่า ตัณหายินดียิ่งในอารมณ์ที่อัตภาพเกิด, หรือยินดีในอารมณ์นั้นๆ มีรูปเป็นต้น คือยินดียิ่งในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์.
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 352
ตัณหาใด ย่อมให้ซึ่งภพใหม่ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อภพใหม่ ย่อมเกิดในภพบ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ตัณหานั้น จึงชื่อว่า โปโนพฺภวิกา.


[สรุป]

ชิ้นเนื้อคืออะไร?
ชิ้นเนื้อ โดยนัยแห่งพระสูตรนี้ หมายถึง นันทิราคะ
ตรัสว่า "ชิ้นเนื้อติดอยู่ในที่ๆ วางฉันใด ... สัตว์เหล่านี้ ถูกนันทิราคะผูกไว้ ก็ติดอยู่ในวัฏฏะ แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่เบื่อฉันนั้น"
นันทิราคะ หมายถึง ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน โดยนัยแห่งปรมัตถธรรม ก็ได้แก่ โลภเจตสิก ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ นั่นเอง
โลภเจตสิก ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในอารมณ์ ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง กำหนัดเพลิดเพลินยินดี ติดข้องเหมือนชิ้นเนื้อ โลภเจตสิกนั้นเองคือ นันทิราคะ
โลภเจตสิกนี้ มีทั้งติดข้องในกาม มีรูป เสียง กลิ่น รส กระทบสัมผัส
โลภเจตสิกนี้ เมื่อเกิดพร้อมความเห็นผิด ก็ติดข้องในความเห็นผิดว่าเที่ยง ว่าสูญ ว่ามีเรา เป็นต้น
โลภเจตสิกนี้ เมื่อเกิดกับมานะ ก็ติดข้องสำคัญตัว เทียบเรา เทียบเขา
ตัณหาเพลิดเพลินยินดียิ่ง รักใครที่สุด ถ้าไม่ใช่รักตนเอง
ตั้งแต่เกิดมาวิถีจิตประเภทแรกท่านก็แสดงว่าเป็นโลภมูลจิต
ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมา ก็มีโลภะ กระพริบตา ก็มีโลภะ จะหยิบของ หาของ จับของ ทำความสะอาดตัว รับประทานอาหาร ก็มีโลภะเกิดขึ้นได้ตลอดในชีวิตประจำวันทีเดียว เห็นดับไปแล้ว ได้ยินดับไปแล้ว ก็ยังมีคิดเรื่องราวต่อด้วยโลภะ ฝันก็ยังมีโลภะ
โลภะมีทั้งที่ติดในของๆ ตัวเอง และยังมีโลภะที่มีกำลังพอที่จะติดในของที่ไม่ใช่ของตัวเอง จนกระทั่งทำทุจริตกรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ
โลภะทั้งกระซิบให้ทำตาม ทั้งซ่านไปในอารมณ์ ทั้งถูกครอบงำ
โลภเจตสิกนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นนายช่างผู้สร้างเรือน (คืออัตภาพนี้) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เพราะว่ายังมีโลภะอยู่ก็ยังต้องเกิดอีกบ่อยๆ

คำว่า "จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย" ท่านตรัสด้วยปัญญาที่เกิดพร้อมกับอรหัตมรรค
พาลปุถุชน กัลยาณปุถุชน มีโลภเจตสิกครบทุกประการ ทั้งโลภะที่เกิดขึ้นพร้อมความเห็นผิด โลภะที่เกิดพร้อมมานะ โลภะที่เกิดขึ้นโดยไม่พร้อมความเห็นผิดและมานะ
พระโสดาบันดับโลภะที่เกิดขึ้นพร้อมความเห็นผิดได้
พระอนาคามีดับโลภะที่เกิดขึ้นยินดีในกามได้
พระอรหันต์ดับโลภะที่เกิดขึ้นยินดีในภพได้ รวมไปถึงโลภะที่เกิดพร้อมกับมานะด้วย
เพราะฉะนั้นหนทางเดียวคือการฟังธรรม และระลึกลักษณะของสิ่งที่มีจริงตามกำลัง และอบรมเจริญคุณความดีทุกประการ
กราบอนุโมทนา


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ