หลงหวงสิ่งที่ไม่มีว่ามี

 
เมตตา
วันที่  31 ต.ค. 2567
หมายเลข  48811
อ่าน  276

[เล่มที่ 62] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 718 - 719

พระราชาที่เอาชนะคนซึ่งไม่ควรชนะ ไม่ชื่อว่า เป็นพระราชา เพื่อนที่เอาชนะเพื่อนไม่ชื่อว่าเป็น เพื่อน ภรรยาที่ไม่กลัวเกรงสามีไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา บุตรที่ไม่เลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่แล้วไม่ชื่อว่าเป็นบุตร.

ที่ประชุมไม่มีสัตบุรุษไม่ชื่อว่าเป็นสภา คนพูดไม่ เป็นธรรมไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ คนที่ละราคะ โทสะ โมหะ พูดเป็นธรรมนั่นแลชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ.

บัณฑิตอยู่ปะปนกับพวกคนพาล เมื่อไม่พูด ก็รู้ ไม่ได้ว่าเป็นบัณฑิต แม้พูดก็ต้องแสดงอมตธรรม จึง จะรู้ได้ว่าเป็นบัณฑิต.

พึงกล่าวธรรมให้กระจ่าง พึงยกธงของพวกฤาษี พวกฤาษีมีสุภาษิตเป็นธง ธรรมแลเป็นธงของพวก ฤาษี.


อ.อรรณพ: ท่านอาจารย์ถามว่า หมดสงสัยหรือยังว่า ทำไมไม่รู้จักกิเลสสักที เดี๋ยวนี้เลย? เพราะฉะนั้น แม้ความสงสัยก็เป็นกิเลส ที่เกิดขึ้นสงสัยว่า กิเลสทำไมไม่รู้จักกิเลสในขณะนี้ ก็มีกิเลส คือ วิจิกิจฉา โดยชื่อที่เกิดขึ้น แต่เมื่อท่านอาจารย์เกื้อกูล ก็บรรเทาความสงสัยในขั้นฟังเข้าใจ ที่จะเข้าใจว่า กิเลสนั้นเป็นสภาวะที่เป็นธรรมที่มีจริงที่ลึกซึ้งโดยสภาวะ ยากที่จะรู้ตรงลักษณะของกิเลสอกุศล

เมื่อคืนวานก็มีการสนทนากันว่า อย่างนี้เป็นกุศลไหม หรือเป็นอกุศล ขณะที่ขอบคุณ ขณะที่นั่งรถอยู่ พี่ต้อมบอกว่า รออยู่เมื่อไหร่จะได้ไป แล้วก็มีคนที่ใจดีเขาก็ชลอรถให้พี่ต้อมได้ไป พี่ต้อมก็ขอบคุณเขาในรถ แล้วพี่ต้อมก็สงสัยว่า ขณะนั้นเป็นการที่ขอบคุณไปอย่างนั้นๆ เพราะว่า เป็นธรรมเนียม หรือเป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นจริง หรือว่าเป็นความดีใจที่ได้ทางเข้าไป เพราะฉะนั้น ก็เป็นความลึกซึ้งละเอียดของกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์กล่าวตรงนี้ก็คลายความสงสัยได้ ที่ท่านอาจารย์ถาม อ.คำปั่น ซ้ำว่า ทำไมไม่คลายความสงสัย เพราะในเมื่อเข้าใจว่า กิเลสนั่นแหละลึกซึ้ง

เพราะฉะนั้น เข้าใจว่า กิเลสลึกซึ้ง จึงเห็นในลักษณะของกิเลสได้ยาก จึงไม่สงสัยว่า ทำไมถึงไม่รู้ลักษณะของกิเลสสักที เพราะรู้ว่ากิเลสลึกซึ้ง อันนี้ต้องกราบเท้าท่านอาจารย์ที่บรรเทาความสงสัยที่เป็นกิเลสไปแล้ว เป็นประโยชน์ทุกครั้งเลย

ผมมีอีกประเด็นหนึ่งว่า เราก็พูดกันว่า พลัดพรากจากกิเลส เพราะฉะนั้น ก็อยากที่จะพลัดพรากจากกิเลส เพราะฉะนั้น ก็อยากที่จะพลัดพรากจากกิเลส แต่มันก็ไม่จริงครับ เหมือนว่าเรายังหวงกิเลสทั้งหลายไว้ โลภะนี่หวงแน่ อยากมีโลภะ อยากไปดูหนังฟังเพลง ทานอาหารอร่อยก็เพื่อให้เกิดโลภะอยากให้เกิด ส่วนโทสะ แม้ไม่อยากให้เกิด แต่ก็พอใจที่จะโกรธ โกรธใครก็พอใจที่จะโกรธอย่างนั้น ไม่พอใจเรื่องอะไรก็ไม่พอใจอย่างนั้น แม้ความหดหู่ โงกง่วง เวลานอนก็อยาก ก็มันเป็นไปก็เป็นไปอย่างนั้น เหมือนว่า ยังหวงกิเลส ครับท่านอาจารย์ กราบเท้าท่านอาจารย์ครับว่า ทำไมมันแย่ขนาดนั้นครับ

ท่านอาจารย์: แล้วอะไรที่หวงกิเลส?

อ.อรรณพ: กิเลสหวงกิเลสครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้จักกิเลส จะหมดกิเลสได้ไหม?

อ.อรรณพ: ไม่มีทางครับ

ท่านอาจารย์: จึงต้องเป็นอย่างนั้น หวงกิเลสไปเรื่อยๆ

อ.อรรณพ: หวงกิเลสไปเรื่อยๆ ไม่น่าเชื่อเลยนะว่า จะหวงสิ่งที่ไม่ดี แม้จะคิดว่า กิเลสทั้งหลายควรพลัดพราก โลภะอย่างนี้ ความไม่รู้อย่างนี้ ควรพลัดพรากไป แต่ก็หวงเอาไว้อย่างนั้น

ท่านอาจารย์: เมื่อไม่มีปัญญา ก็ไม่มีหนทางที่จะไม่หวงได้ เพราะเป็นเรา เป็นอัตตาทั้งนั้น ไม่รู้เลยว่า นี่ หลงหวงสิ่งที่ไม่มีว่า มี หลงหวงสิ่งที่ไม่เหลือเลยว่า ยังมีอยู่

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ถ้าขาดความเข้าใจความลึกซึ้ง ไม่มีทางที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่มีทางที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรู้จักพระธรรมไหม โพธิปักขิยธรรม

อ.อรรณพ: ไม่รู้จักครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังธรรมแบบไหน แบบสงสัยไปเรื่อย ไม่ได้รู้เลยว่า ฟังเพื่อเข้าใจทีละน้อยตามกำลังที่ได้ฟัง และเข้าใจ จนกว่าจะหมดกิเลสเพราะประจักษ์ความจริง ถ้ายังไม่ประจักษ์ความจริง ไม่มีทางรู้จักตัวกิเลส แล้วจะไปดับกิเลสได้อย่างไร?

อ.อรรณพ: ไม่ได้เลย เราก็เพ้อถึงการจะดับกิเลส เพ้อเรื่องการจะดับกิเลส ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักกิเลส แล้วที่แย่กว่านั้น คือที่กราบเรียนท่านอาจารย์ หวงกิเลส ยังหวงกิเลส ยังพอใจที่จะโกรธ ยังพอใจที่จะไม่พอใจ หรืออะไรต่อไปอยู่อย่างนี้ โลภะไม่ต้องพูดถึง ยิ่งหวง แล้วอยากให้มีบ่อยๆ ด้วย อยากไปดูหนังฟังเพลงให้โลภะเกิด อะไรต่ออะไร มันหวงด้วยความแบบ ถ้ามีคำที่มากกว่าบรมโง่ ก็คงจะต้องใช้ เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะความไม่รู้ เลยทำให้หวง ผมเลยนึกถึง ที่ท่านอาจารย์กล่าวตามพระไตรปิฎกว่า หวงความเป็นเรา ตระหนี่เอาไว้ที่จะให้มี หวงความเป็นเราไม่อยากจะหมดความเป็นเรา อะไรๆ ก็เรา ตื่นขึ้นมาก็เรา ลึกที่สุดเลย ครับ

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ถ้าไม่ฟัง ไม่มีปัญญา ดับกิเลสไม่ได้

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 2 พ.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ