นาคคือใคร? [วัมมิกสูตร]

 
wittawat
วันที่  1 พ.ย. 2567
หมายเลข  48815
อ่าน  27

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นาคคือใคร?

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 324

๓. วัมมิกสูตร

[๒๘๙] ... สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไปได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาคขอรับ. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่เจ้าอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทําความนอบน้อมต่อนาค. ...

[๒๙๑] ... คําว่านาคนั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ. คํานั้นมีอธิบายดังนี้ว่า นาคจงหยุดอยู่เถิด เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทําความนอบน้อมต่อนาคดังนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้แล.
จบ วัมมิกสูตร ที่ ๓


[อรรถกถา (ปปฺจสูทนี]

ในคําว่า ดูก่อนภิกษุ คําว่า นาค นี้เป็นชื่อของพระขีณาสพนี้ พระขีณาสพท่านเรียกว่านาค ด้วยอรรถใด อรรถนั้นท่านประกาศไว้แล้วในอนังคณสูตร. ในคําว่า นโม กโรหิ นาคสฺส นี้มีเนื้อความดังนี้คือ ท่านจงกระทําการนอบน้อมพระพุทธนาคผู้พระขีณาสพว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสรู้แล้ว ย่อมแสดงธรรมเพื่อความรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงฝึกแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึก พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นสงบแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อสงบ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงข้ามแล้ว แสดงธรรมเพื่อข้าม พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นดับสนิทแล้ว แสดงธรรมเพื่อดับสนิท. พระสูตรนี้ได้เป็นกัมมัฏฐานของพระเถระด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายพระเถระ ทําพระสูตรนี้แล ให้เป็นกัมมัฏฐาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต์. บทว่า อยเมว ตสฺส อตฺโถ ความว่า นี้เป็นใจความของปัญหานั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนทรงถือเอายอดมณีในกองรัตนะ ทรงจบเทศนาตามลําดับ อนุสนธิด้วยประการฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาวัมมิกสูตรที่ ๓


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 396
ผู้ไม่ลําเอียงด้วยอคติทั้งหลาย มีฉันทาคติเป็นต้นชื่อ นาคะ.
ผู้ไม่กลับมาสู่กิเลสที่ละได้ด้วยมรรคนั้นๆ แล้วชื่อว่า นาคะ
ผู้ไม่ทําบาป (ความชั่วที่เป็นเหตุให้กลับมา) มีประการต่างๆ ชื่อว่า นาคะ.
นี้เป็นเนื้อความสังเขปในคําว่า นาคะ. ส่วนความพิสดารพึงทราบตามนัยที่ได้กล่าวไว้ในมหานิเทศนั้นเทอญ. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความในกถานี้อย่างนี้ว่า
ผู้ไม่ทําบาปอะไรไว้เลยในโลก สลัดกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพทุกอย่างและเครื่องผูกทั้งหลายได้ ไม่ต้องอยู่ในภพทั้งมวล เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ผู้คงที่ ท่านเรียกว่า นาคะ เพราะความเป็นอย่างนั้น.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 828
[๓๖๓] ... คำว่า นาค ความว่า ชื่อว่า นาค เพราะอรรถ ว่า ไม่ทำความชั่ว. ชื่อว่า นาค เพราะอรรถว่า ไม่ถึง. ชื่อว่า นาค เพราะอรรถว่า ไม่มา.
บุคคลชื่อว่านาค เพราะอรรถว่า ไม่ทำความชั่ว อย่างไร? ธรรม ทั้งหลายที่เป็นบาปเป็นอกุศล ทำความเศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มี ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นปัจจัยแห่งชาติ ชรา และ มรณะต่อไป เรียกว่า ความชั่ว ...
บุคคลชื่อว่านาค เพราะอรรถว่า ไม่ถึง อย่างไร? บุคคลชื่อว่า นาคย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ ไม่ ถึงด้วยสามารถแห่งราคะ ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งโทสะ ไม่ถึงด้วยสามารถ แห่งโมหะ ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งมานะ ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ ไม่ ถึงด้วยสามารถแห่งอุทธัจจะ ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งวิจิกิจฉา ไม่ถึงด้วย สามารถแห่งอนุสัย ย่อมไม่ไป ดำเนินไป แล่นไป เพราะธรรมทั้งหลาย อันทำความเป็นพวกบุคคลชื่อว่านาค เพราะอรรถว่า ไม่ถึง อย่างนี้ ...
บุคคลชื่อว่านาค เพราะอรรถว่า ไม่มา อย่างไร? กิเลสเหล่าใด อันบุคคลนั้นละได้แล้วด้วยโสดาปัตติมรรค บุคคลนั้นย่อมไม่มา ไม่ย้อน มาไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใดอันบุคคลนั้นละได้แล้วด้วย สกทาคามิมรรค ... .ด้วยอนาคามิมรรค ... .ด้วยอรหัตตมรรค บุคคลนั้นย่อมไม่มา ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก บุคคลชื่อว่านาค เพราะ อรรถว่า ไม่มา อย่างนี้ ...


[สรุป]

นาคคือใคร?
นาค โดยนัยแห่งพระสูตรนี้ หมายถึง พระขีณาสพ
พระขีณาสพ คือ บุคคลผู้ดับกิเลสอาสวะได้สิ้นแล้ว ได้แก่ พระอรหันต์
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า นาค หมายถึง ผู้ไม่ทำบาป สลัดกิเลสเครื่องประกอบ ... เครื่องผูก ... เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ผู้คงที่ เป็นผู้ไม่ทำชั่ว ไม่ถึงอคติ ๔ ไม่ย้อนกลับมาสู่กิเลสอีก
เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เกิดขึ้นเมื่อปัญญาแทงตลอดความจริงจนถึงที่สุดแล้ว ถึงอรหัตมรรค ดับกิเลสจนหมดสิ้นแล้ว ทรงแสดงนาคไว้เป็นปัญหาข้อสุดท้าย
วัมมิกสูตรที่ลึกซึ้งนี้ประกอบด้วยปัญหา ๑๕ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เพื่อความสงบ เพื่อการรู้แจ้งความจริง ซึ่งแท้จริงเป็นสิ่งที่กำลังมีจริง ได้แก่ รูปธรรม นามธรรมที่มีในปัจจุบันนี้เอง

กราบอนุโมทนา


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ