จมดิ่งลงไปในโทษที่มองไม่เห็น

 
เมตตา
วันที่  1 พ.ย. 2567
หมายเลข  48816
อ่าน  226

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 396

บทว่า อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี ความว่า ผู้มีปกติเห็นภัยในโทษ ต่างด้วยเสขิยสิกขาบทที่ภิกษุไม่แกล้งต้อง และอกุศลจิตตุปบาทเป็นต้น ชื่อว่ามีประมาณน้อย เพราะมีประมาณเล็กน้อย. จริงอยู่ ภิกษุใดเห็นโทษมีประมาณน้อย กระทำให้เป็นเหมือนขุนเขาสิเนรุสูง ๑๐๐,๐๖๘ โยชน์ ฝ่ายภิกษุใดเห็นอาบัติเพียงทุพภาษิตซึ่งเป็นอาบัติเบากว่าอาบัติทั้งปวง กระทำให้เหมือนอาบัติปาราชิก ภิกษุแม้นี้ ชื่อว่ามีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 48

ท่านผู้ใด ย่อมรู้ย่อมเห็นธรรมทั้งหลายโดย อาการที่แท้จริง ท่านผู้นั้น ชื่อว่าผู้เห็นแต่ความจริง เพราะฉะนั้น ท่านผู้รู้จริงดังว่า จึงเรียกว่าตถาคต.

ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสแต่คำจริง เป็นอย่างไร

ตอบว่า ก็คำใดที่สงเคราะห์เป็นนวังคสัตถุศาสตร์มีสุตตะเป็นต้น อัน พระตถาคตภาษิตดำรัสไว้ตลอดกาลประมาณ ๔๕ พรรษา ระหว่างตรัสรู้และ ปรินิพพาน คำนั้นทั้งหมดเป็นคำแท้ ไม่เท็จเลย ดุจชั่งได้ด้วยตาชั่งอันเดียว. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า

ดูก่อนจุนทะ ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ราตรีใด ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ราตรีใด ในระหว่างนี้ตถาคตภาษิตกล่าว ชี้แจง คำใดไว้ คำนั้นทั้งหมด เป็นคำแท้จริงอย่างเดียว ไม่ เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นจึงเรียกกันว่า ตถาคต.


อ.อรรณพ: เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงแค่ให้อภัย คือเราไม่ถือโทษไม่โกรธเคืองผู้ที่ทำไม่ถูกไม่ดีนั้น แต่ยังมีจิตอนุเคราะห์ที่จะช่วยให้เขาดีขึ้นครับท่านอาจารย์ กราบเท้าครับว่า แม้ใจเราจะไม่เดือดร้อน ไม่ผูกโกรธ เพราะทุกอย่างเกิดแล้วดับแล้ว แต่ก็ยังมีจิตดีงามที่จะช่วยให้เขาได้รู้ตัวในความไม่ดี แล้วก็กระทำคืนในสิ่งที่ดี ตรงนี้ไม่ใช่ง่าย กราบเท้าท่านอาจารย์ช่วยกล่าวตรงนี้ด้วยครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดในสังสารวัฏฏ์ทุกชาติ คือเข้าใจถูกต้องในความเป็นจริง ความจริงคืออะไร ถูกคือถูก ผิดคือผิด ถ้าไม่รู้สามารถที่จะแก้ไขได้ไหม? ยังคงเห็นผิดว่า เป็นถูก

อ.อรรณพ: ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เคารพในความจริง พูดผิด พูดไม่ดี เพราะอกุศลได้กระทำไปแล้ว รู้ตัวหรือเปล่าว่า นั่นผิด ถ้าไม่ผิดไม่มีทางแก้ ใครจะไปบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได้ แต่ต้องเป็นผู้นั้นเองที่ไตร่ตรองคุณประโยชน์มหาศาลของ ทุกคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริงเป็นอย่างไรเปลี่ยนความจริงไม่ได้ ถ้าเห็นผิดเป็นชอบ คิดว่า ไม่ผิด ไม่มีใครจะไปแก้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ทุกชาติจะดิ่งลงไปในการเห็นผิด ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้

คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจธรรม เป็นสัจจวาจา ไม่เห็นประโยชน์ของสัจจวาจาเลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิด จะแก้ไขได้ด้วยสัจจะเท่านั้น ตรงต่อความเป็นจริงทุกประการ นั่นจึงจะแก้ไขได้ ไม่มีใครไม่เคยทำผิด ท่านพระเทวทัตต่อไปจะเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ท่านก็ทำผิดแล้วในชาตินี้ แต่ก็ต้องได้เข้าใจสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ พอที่จะค่อยๆ ระลึกได้ ค่อยๆ เห็นถูก ค่อยๆ แก้ไข ใครก็ช่วยใครไม่ได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถจะทำให้ท่านพระเทวทัตไม่ตกนรกอเวจี แต่ว่า พระองค์ก็ทรงเกื้อกูลตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะกล่าวถึงอะไร สัจจะความจริงของธรรม ทรงแสดงละเอียดยิ่งขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์

เพราะฉะนั้น สัจจธรรมสำคัญที่สุด จะแก้ไขอะไร ก็ต้องด้วยสัจจะอย่างเดียว ตราบใดที่คนนั้นยังไม่รู้สึกว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นสัจจะ และประโยชน์ของสัจจะมีแค่ไหน คนนั้นไม่สามารถที่จะกลับตัว ฟื้นตัว แก้ไขในสิ่งที่ผิดได้เลย เพราะฉะนั้น ก็จมลึกลงไปทุกที ไม่ใช่ให้แก้ตัว แต่ให้รู้ว่า อะไรถูกอะไรผิดด้วยตัวเอง มั่นคงในความเป็นจริง จึงจะเห็นโทษ และค่อยๆ รู้ว่า อะไรผิด ก็แก้เสีย มิเช่นนั้น จะไม่เห็นเลยเพราะยิ่งแก้ไปผิดๆ ตลอด ไม่มีทางที่จะแก้ได้โดยเฉพาะชีวิตของคนนั้น

เพราะฉะนั้น การพูดความจริงเป็นอุปการะสูงสุดที่จะให้คนอื่นได้พิจารณาไตร่ตรอง เห็นประโยชน์อย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า อกุศลมีอะไรบ้าง กุศลมีอะไรบ้าง ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อกุศล มีอะไรบ้าง เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่เห็นอกุศลเป็นกุศล ไม่ใช่ไม่ยอมแก้ไขอะไรเลยทั้งสิ้น แล้วจะนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ? ต้องเคารพในความจริงหนทางเดียว ต้องรู้ว่าอะไรถูก ถูกคือถูก ผิดคือผิด ถ้ายังไม่รู้ไม่มีหนทางแก้ จมดิ่งลงไปในโทษที่มองไม่เห็น เพราะขาดปัญญา

อ.อรรณพ: เตือนใจอย่างยิ่งครับ ท่านอาจารย์บอกว่า แก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว แก้ไขด้วยสัจจะด้วยความตรง เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ส่วนแก้ตัว นี่คือไม่ตรงตามความเป็นจริง ไม่มีความจริงใจ และความตรง ก็แก้ตัวไปเรื่อยๆ ด้วยความไม่ตรง ด้วยความไม่จริงที่จะแก้ตัวไปเรื่อยๆ ไม่ได้แก้ไขด้วยความตรง และจริงใจ

ท่านอาจารย์: แก้ตัว คือไม่รู้โทษ

อ.อรรณพ: แก้ตัว คือไม่รู้โทษ แล้วก็กระทำในสิ่งที่เป็นโทษต่อๆ ๆ ๆ ไปด้วยความไม่ตรงนั้น ยิ่งเห็นความสำคัญของความตรง ซึ่งเป็นบารมีสำคัญ คือสัจจบารมี ผมก็ระลึกถึงพระมหากรุณธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเกื้อกูลแม้เมื่อสักครู่ได้สนทนาต่อจากคุณตู่ว่า ไม่ใช่เพียงเราให้ความไม่มีภัยกับผู้อื่น โดยความที่ตัวเราเองก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับแล้ว แต่ก็มีเหตุปัจจัยให้มีความกรุณาจะให้เขาได้รู้สิ่งที่ผิดนะครับ แล้วก็กระทำคืนอันจะเป็นความเจริญ ความพ้นภัยของบุคคลนั้นเอง นี่คือด้วยความเมตตากรุณานะครับ อย่างสูงสุด ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุเคราะห์ทุกบุคคล แม้ว่าบุคคลนั้นจะทำในสิ่งที่ผิด ผิดมหาศาลขนาดไหน ท่านพระเทวทัตกระทำในสิ่งที่เป็นโทษหนัก เป็นอนันตริยกรรมถึง ๒ ประการ และเรื่อยอื่นๆ อีกเยอะเยะ แต่พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูพระพุทธเจ้า ก็ทรงเกื้อกูลที่จะทำให้พระเทวทัตรู้ในความผิดในวาระสุดท้ายก่อนที่ท่านจะจากโลกนี้ไปสู่อบายภูมิก็ตาม แต่สุดท้ายท่านก็รู้ เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แม้ท่านจะต้องตกนรกหมกไหม้อยู่นานสักแค่ไหน แต่สังสารวัฏฏ์ของท่านก็มีที่สิ้นสุดที่ท่านจะได้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล นี่คือพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะครับ ที่ให้ความไม่มีภัย แล้วก็ยังช่วยให้เขา คือใจของพวกเราเองที่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ไม่โกรธ ไม่ได้เป็นผู้ผูกโกรธ เพราะว่า ทุกอย่างก็เกิดแล้วก็ดับแล้ว ไม่ได้มีเรื่องเหล่านั้นคาอยู่ตลอดเวลา คิดก็มี ไม่คิดก็ไม่มี ถ้าคิดชอบคิดถูก ก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ แต่ก็มีจิตอนุเคราะห์ช่วยให้เขาได้เข้าใจถูก แต่ถ้าเขาไม่ตรง เขาไม่คิดแก้ไข เขาก็คิดแก้ตัวนะครับ ท่านอาจารย์บอกว่า แก้ตัวก็ไม่เห็นความเป็นโทษ

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

เห็นโทษของอกุศล

เห็นโทษแม้เล็กน้อย

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

เป็นดังผ้าเช็ดธุลี ไม่เดือดร้อน

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 3 พ.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณมากค่ะน้องเมตตาและยินดียิ่งในกุศลทุกประการ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ