ชีวิตที่ประเสริฐก็เพราะจิตที่ประเสริฐ

 
nattawan
วันที่  2 พ.ย. 2567
หมายเลข  48820
อ่าน  188

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พูดและเข้าใจคำที่รู้จักด้วย

ปฏิรูป หมายถึงความสมควรและการเปลี่ยนแปลงไปจากของเดิม (สัทธรรมปฏิรูปเป็นสัทธรรมเทียม ไม่ใช่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

ปฏิวัติ หมายถึงความประพฤติเป็นไปและเป็นการทำให้มีความเป็นไปอย่างอื่น

สังคายนา หมายถึงการสวดพร้อมกันเพื่อร้อยกรอง เรียบเรียง รวบรวมหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เป็นระบบ ระเบียบ เป็นหมวดหมู่

สาธยาย หมายถึงการกล่าวเป็นลำดับด้วยดีตามความเป็นจริงของธรรมะฟังแล้วมีการกล่าวทบทวนด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องมั่นคง ความทรงจำก็จะมั่นคงขึ้นและตรงตามความเป็นจริงของพระธรรมที่ทรงแสดงยิ่งขึ้น

สวด หมายถึงการกล่าวเป็นลำดับด้วยดี ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องและมีการตรึกตรองด้วยใจด้วย แล้วแต่ว่าจะมีการเปล่งเสียงออกมาด้วยหรือเปล่า

ถ้าใครจะปฏิรูปพระสัทธรรมผิดแน่นอน เพราะพระสัทธรรมเป็นความจริงถึงที่สุดถูกต้องแล้ว

ถ้าเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงจะไม่มีการปฏิรูป เพราะว่าถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว พุทธบริษัทจะต้องมีความอดทนใส่ใจที่จะฟังและศึกษาให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงตามที่ทรงแสดง ซึ่งสมบูรณ์พร้อมด้วยประการทั้งปวงไม่มีส่วนที่ต้องตัดออกไม่มีส่วนที่จะต้องเพิ่มเข้าไป แต่ว่าผู้ไม่ละเอียด เข้าใจธรรมะผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ธรรมะเทียมจึงเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

ไม่ว่าทรงแสดงด้วยนัยใดก็เป็นธรรมะที่มีจริงทั้งหมดในขณะนี้ แต่ละคำแสดงถึงความเป็นจริงของธรรมะที่มีจริงแต่ละอย่าง

พระธรรมไม่ใช่สำหรับสสดไม่ใช่สำหรับท่อง แต่สำหรับศึกษาให้เข้าใจจริงๆ พระธรรมที่ทรงแสดงมีค่าและประเสริฐอย่างยิ่งควรที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจ

ในชีวิตประจำวันตรึกถึงธรรมะบ้างหรือเปล่า? วันไหนมีบ้างไหมที่จะมีปัจจัยให้คิดถึงสิ่งที่ได้ฟังแล้วและไตร่ตรองตามลำดับ?! เวลาที่มีความเข้าใจและมีการนึกตรึกทั้งหมดตามลำดับด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องบ่อยๆ ..จะลืมไหม??

การฟังธรรมะที่ฟังมาในสังสารวัฏจนถึงวันนี้ จะน้อยจะมากก็อยู่ที่ความเข้าใจที่แต่ละคนสามารถรู้ได้ด้วยตนเอง ปัญญาย่อมนำไปในกิจทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น

ฟังเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะเหตุว่ามีปัจจัยพอที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้หรือยังว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้เนืองๆ จะคลายความติดข้องยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ยังไม่คลายความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

ต้องมีการละคลายความไม่รู้และอกุศลตามลำดับขั้น คือต้องละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมะอย่างมั่นคงเป็นอัตตสัญญา จนกว่าการได้ฟังมีความเข้าใจพอที่จะเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ด้วยความอดทนซึ่งเป็นขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี มั่นคงจริงๆ ในการที่จะรู้ว่าปัญญาไม่ได้รู้อื่น แต่รู้ถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง

เทปบันทึก (๑๙๐๓๒๕๕๗) รายการบัานธัมมะ - วันเสาร์ที่ ๒ พ.ย. ๖๗

🔴 YouTube : www.youtube.com/live/YrD1gRXmV7I?si=5JAacV0xnENskA6B

🔵 Facebook : www.facebook.com/share/v/XWKxPtpQAcQ15YZR/?mibextid=Le6z7H

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 2 พ.ย. 2567

คำศัพท์ธรรมะ

ภวังคจิต หมายถึง จิตที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลในแต่ละชาติไว้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nattawan
วันที่ 2 พ.ย. 2567

สังคายนา หมายถึง การสวดพร้อมกัน เพื่อร้อยกรอง เรียบเรียง รวบรวมพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เป็นระบบ ระเบียบ เป็นหมวดหมู่

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 2 พ.ย. 2567

ชีวิตของบุคคลที่เป็นอยู่อย่างไรจึงจะเป็นชีวิตที่ประเสริฐ? พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาเป็นชีวิตที่ประเสริฐ

เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรมะชีวิตย่อมเป็นไปตามการสะสม จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย มีทั้งกุศลและอกุศลที่สะสมมามาก และถ้าไม่เป็นชีวิตประจำวันตามปกติจะรู้ได้อย่างไรว่าสะสมอะไรมาแค่ไหน? จะพยายามไม่โกรธ ... แล้วดับความโกรธหรือยัง?! แล้วจะไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้น ... ถูกต้องไหม!! เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะเป็นชีวิตที่ประเสริฐได้เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริง

เวลาที่อกุศลเกิดประเสริฐไม่ได้ แต่เวลาที่เป็นกุศลย่อมดีกว่าอกุศลเพราะเหตุว่าไม่เป็นโทษเป็นภัย แต่ถ้าไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถละอกุศลได้ ยังคงมีอกุศลสะสมสืบต่อไปด้วย

ความเข้าใจถูกเป็นสิ่งสำคัญที่ประเสริฐมาก ถ้าไม่มีปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่สามารถเป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาได้เลย

เหตุที่ทำให้ปัญญาเกิดขึ้นเจริญขึ้นคือค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ เป็นการเจริญปัญญา ... ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

หวั่นไหวไปเรื่อยๆ เพราะต้องการปัญญา!!! แต่ขณะที่กำลังเป็นปัญญาไม่หวั่นไหว เพราะเข้าใจตามความเป็นจริงว่าบังคับบัญชาไม่ได้

สภาพนั้นเกิดแล้วเป็นอย่างนั้นแล้วถ้ามีความเข้าใจจริงๆ จะเดือดร้อนไหม ... จะหวั่นไหวไหม? แต่ทั้งวันหวั่นไหวไปด้วยความต้องการปัญญาก็ได้

นักปราชญ์มีชีวิตที่ประเสริฐด้วยปัญญา ถ้าไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร ... ประโยคนี้มีความหมายไหม? ก็กล่าวตามๆ กันจนกว่าจะรู้ว่าปัญญารู้อะไร!! จึงสามารถรู้ความต่างได้ว่าเพราะมีปัญญาชีวิตจึงประเสริฐ แต่ถ้าไม่มีปัญญาชีวิตจะประเสริฐได้อย่างไร เพราะปัญญาเป็นสภาพที่รู้ถูก เห็นถูก เข้าใจถูก เพราะฉะนั้นกว่าจะไปถึงการละความเป็นตัวตนโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย ... เป็นไปไม่ได้!!!

รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นแต่ละหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นและดับไปแล้วจะยึดถือว่าเป็นเราได้ไหม? แต่เพียงได้ฟังเท่านี้ไม่พอ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมะแต่ละคนก็ต่างคนต่างฟัง ต่างคนต่างคิด แล้วแต่ว่าคิดตามที่ได้ฟังมานานและสะสมมานานในสังสารวัฏหรือว่าจะเพิ่งเริ่มคิดก็แล้วแต่ เช่นชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตคือจิต เจตสิก รูปเพราะฉะนั้นแต่ละชีวิตก็ต้องมีจิตเจตสิกและรูป เพราะฉะนั้นประเสริฐที่นี่ รูปประเสริฐหรืออะไรประเสริฐ? หรือว่าจิตที่แต่ละคนเข้าใจว่าเป็นเรา ... ขณะนั้นรู้ไหมว่าดีชั่วระดับไหน ... ต้องเป็นปัญญาจึงจะรู้ได้ ถ้าเป็นเราจะไม่รู้เลย

จิตเป็นจิต จิตจะเป็นสัตว์บุคคลไม่ได้เลย แต่เพราะมีรูปต่างๆ กันจึงมองเห็นว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นนก เป็นคนแต่ละหนึ่งๆ ไปเพราะรูป แต่ถ้าจะเอารูปออกไป เริ่มคิดถึงจิตจริงๆ ธาตุรู้ที่เข้าใจว่าเป็นเรา เป็นของเราตลอดก็เริ่มพิจารณาด้วยความถูกต้องว่าจิตนี้ดีชั่วแค่ไหน? เพราะว่าวันนึงๆ เคยคิดถึงจิตไหม? มีแต่เรื่องอื่น แต่ถ้าฟังดูจะรู้ว่า ชีวิตที่ประเสริฐก็เพราะจิตที่ประเสริฐ ถ้าจิตไม่มีปัญญาจะประเสริฐได้อย่างไร?!

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ