ขอกล่าวถึงบารมี ๑๐ โดยย่อ

 
สารธรรม
วันที่  3 พ.ย. 2567
หมายเลข  48832
อ่าน  176

ท่านบำเพ็ญบารมีที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือเปล่า หรือว่าท่านมีแต่ความปรารถนาที่อยากจะให้สติเกิด อยากจะให้ปัญญารู้ชัด ซึ่งเป็นเพียงความอยากโดยขาดการระลึกถึงบารมี ซึ่งจะเกื้อกูลในการที่จะขัดเกลากิเลส และในการเพิ่มกำลังที่จะทำให้สติ และปัญญาสามารถที่จะละคลายดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท


บารมี ๑๐

๑. ทานบารมี ข้อนี้ก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านจะต้องระลึกศึกษาสภาพของจิตของตนเองว่า ท่านมีมากหรือมีน้อยประการใด และตราบใดที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็ยังไม่สามารถที่จะสละหมดอย่างบรรพชิตได้

๒. ศีลบารมี ผู้ที่ล่วงศีล ขอให้พิจารณาลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า การฆ่า การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม ดูเหมือนว่า บางครั้งท่านมีโลภะ ท่านมีความต้องการ ท่านจึงกระทำอทินนาทาน แต่ว่าท่านจะไม่ทำอทินนาทาน ถือเอาสิ่งของจากบุคคลที่ท่านรัก หรือที่ท่านพอใจ ขณะใดก็ตามที่ท่านมีจิตที่สามารถกระทำทุจริต เอาของบุคคลอื่นมาเป็นของท่านได้ ขณะนั้น บุคคลนั้น ต้องเป็นผู้ที่ท่านไม่มีเมตตารักใคร่ต่อเขา ศีลจึงล่วงไปได้

๓. เนกขัมมบารมี การสละความติดหรือกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ซึ่งสละได้โดยเพศ คือ เป็นบรรพชิต หรือว่าโดยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ละกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตกในขณะใด ขณะนั้นเป็นเนกขัมมบารมี การไม่ตรึกเป็นไปในกาม ในความพยาบาท หรือว่าในการเบียดเบียนบุคคลอื่น

๔. ปัญญาบารมี ทุกท่านคงเห็นคุณประโยชน์ของปัญญาว่า ถึงแม้ว่าจะมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ถ้าปราศจากปัญญาย่อมเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดเห็นคุณค่าของปัญญาจริงๆ ย่อมจะไม่ปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเมื่อเจริญกุศล แต่ว่าปรารถนาที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ถึงความสมบูรณ์ที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น การอธิษฐานที่จะให้ได้สิ่งที่ปรารถนา ก็ควรที่จะรู้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การปรารถนาซึ่งเป็นกุศล ไม่ใช่การปรารถนาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ควรเป็นการปรารถนาที่จะเพิ่มพูนปัญญาให้สมบูรณ์ ให้ถึงความคมกล้าที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

๕. วิริยบารมี ความเพียร ขณะนี้วิริยเจตสิกมีปัจจัยที่จะเกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๖ ดวงเท่านั้น เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะที่เกิดความยินดีพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น วิริยเจตสิกเกิดขึ้นกระทำกิจเพียรพอใจ ยินดีในสิ่งนั้นแล้ว

๖. สัจจบารมี เป็นผู้ที่จริง และตรงต่อสภาพธรรมว่า สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเป็นอกุศล ไม่ว่าอกุศลของใคร ของท่านเอง ของญาติพี่น้อง ของเพื่อนฝูง ของใครก็ตาม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลที่ท่านรัก หรือว่าคนที่เป็นศัตรูก็ตาม กุศลธรรมของบุคคลนั้นก็เป็นกุศลธรรม เป็นผู้ที่จริง เป็นผู้ที่ตรง

๗. อธิษฐานบารมี ไม่ใช่ความต้องการปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะถ้าท่านมัวเมา หลงติด ปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้มาแล้วก็ยังติด ที่เกิดเป็นมนุษย์นี่ เป็นผลของกุศล วันไหนได้ลาภ ติดไหม วันไหนได้ยศ ติดไหม วันไหนได้สุข ติดไหม วันไหนได้สรรเสริญ ติดไหม และยังปรารถนาอีกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ติดอยู่แล้วอย่างมากๆ ติดต่อไปอีก ปรารถนาต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่บารมีที่จะทำให้ละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

บารมีอีก ๓ ประการ คือ ขันติบารมี ๑ เมตตาบารมี ๑ อุเบกขาบารมี ๑ ซึ่งท่านผู้ฟังก็น่าจะพิจารณาดูว่า ในชีวิตประจำวันนี้ ท่านมีมากน้อยแค่ไหนแล้ว หรือว่ายังไม่พอ ควรจะอบรมให้มากขึ้น เช่น ความอดทน คือ ขันติบารมี ไม่ใช่อดทนแต่เฉพาะเวลาที่ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่น ร้อนไปบ้าง หนาวไปบ้าง อาหารไม่อร่อยบ้าง หรือคำพูดอย่างนี้ไม่น่าฟังเลย กิริยาอาการของบุคคลนั้นไม่น่าดู ไม่น่าคบค้าสมาคมด้วยเลย ไม่ใช่ขันติเพียงเท่านั้น แม้แต่อารมณ์ที่พอใจ อาหารอร่อยที่จะไม่ให้เกิดโลภะ ต้องมีขันติ ความอดทนที่จะไม่เป็นอกุศลในขณะนั้น

ขอเชิญรับฟัง

บารมีในชีวิตประจำวัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เฉลิมพร
วันที่ 3 พ.ย. 2567

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ