ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจและประพฤติตาม

 
เมตตา
วันที่  3 พ.ย. 2567
หมายเลข  48834
อ่าน  247

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 92

๗. ทุกกรสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ทำได้ยาก

[๓๖] เทวดากล่าวว่า

ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำได้ยาก ทนได้ยาก เพราะธรรมของสมณะนั้นมีความลำบากมาก เป็นที่ติดขัดของคนพาล.

[๓๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะ สิ้นวันเท่าใด (*) หากไม่ห้ามจิต เขาตกอยู่ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย พึงติดขัดอยู่ทุกๆ อารมณ์ ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลายไว้ในกระดองของตน อันตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ปรินิพพานแล้ว ไม่พึงติเตียนใคร.


[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 581

๓. สังฆาฏิสูตร

ว่าด้วยผู้ประพฤติธรรมอยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้พระองค์

[๒๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิแล้วพึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมเชื่อว่าไม่เห็นเรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิต มีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้น ย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา.


[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 210

ว่าด้วยการประพฤติธรรม

[๓๒๑] พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าว ความประพฤติทั้งที่เป็นโลกิยะ และโลกุตระ ทั้งสองอย่างนี้ คือ ธรรมจริยาและพรหมจรรย์ ว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่อันสูงสุด ถึงแม้บุคคลออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ถ้าบุคคลนั้น เป็นชาติปากกล้า ยินดีแล้วในความเบียดเบียนแสวงหาอยู่ (๒) ความเป็นอยู่ของบุคคลนั้นเลวทราม ย่อมยังกิเลส ธุลีมีราคะเป็นต้นของตนให้เจริญ.

ภิกษุยินดีแล้วในความทะเลาะ ถูกธรรมคือโมหะหุ้มห่อแล้ว ย่อมไม่รู้ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว.

แม้อันเหล่าภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักบอกแล้ว ภิกษุผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ทำตนที่อบรมแล้วให้ลำบากอยู่ ย่อมไม่รู้ความเศร้าหมอง ย่อมไม่รู้ทางอันให้ถึงนรก.


อ.คำปั่น: ก็ซาบซึ้งอย่างยิ่งที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงแม้บุคคลผู้ที่ทำผิดอย่างหนัก ก็คือพระเทวทัต แต่ในท้ายที่สุดท่านก็ได้เห็นโทษ แล้วก็ได้มีการสำนึกผิดในสิ่งที่ตนเองได้กระทำแล้ว อันนี้ก็เห็นชัดเลยว่า แม้บุคคลที่ทำกรรมหนักอย่างนั้น ก็ยังสามารถที่จะสะสมเหตุที่ดีที่จะเป็นปัจจัยในการรู้แจ้งธรรมต่อไป

ในฐานะที่พวกเราได้ศึกษาธรรม ก็คงไม่มีใครทำกรรมหนักอย่างพระเทวทัต ใช่ไหมครับ ก็เป็นโอกาสที่จะได้ ถ้าหากว่าได้กระทำผิด ก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า ถ้าทำผิด แล้วก็เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม ก็คือแก้ไข ซึ่งกระผมก็ซาบซึ้งมาก ก็คือท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า ด้วยความเป็นผู้ตรง ด้วยความเป็นผู้กล่าวคำจริง ตนเองผิดอย่างไรก็รู้ในความผิดอย่างนั้น ไม่ใช่แก้ตัวครับ อันนี้เป็นสิ่งที่ชัดเจนมากเลยครับ ได้เห็นแล้วก็ได้ฟังแล้วก็ได้รับประโยชน์มากเลยครับ เพราะว่า ทุกคนที่ยังมีกิเลสอยู่ โอกาสที่จะกระทำผิดก็ยังมี เป็นไปได้ครับ แต่สำคัญที่ว่า ได้เห็นโทษของตนเองหรือไม่ พร้อมที่จะแก้ไขหรือไม่ แม้พระเทวทัต เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงแล้วนะครับว่า ในท้ายสุดแล้วท่านก็จะได้บรรลุธรรมถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา ซึ่งมีข้อความใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ก็ขอโอกาสกล่าวข้อความใน พระไตรปิฎก อรรถกถา มีช่วงหนึ่งที่พระเทวทัตก่อนที่จะถูกธรณีสูบ มีเหตุการณ์ก็คือว่า พวกสาวกพาพระเทวทัตมาวางเตียงลงริมสระโบกขรณี ใกล้พระเชตวันแล้ว ต่างก็ลงไปเพื่อจะอาบน้ำในสระโบกขรณี แม้พระเทวทัตแล ลุกจากเตียง แล้วนั่งวางเท้าทั้งสองลงบนพื้นดิน เท้าทั้งสองนั่นก็จมแผ่นดินลง เธอจมลงแล้วตามลำดับ เพียงข้อเท้า เพียงเข่า เพียงเอว เพียงนม จนถึงคอ ในเวลาที่กระดูกคางจรดแผ่นดิน ได้กล่าวคาถานี้ว่า

"ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นบุคคลผู้เลิศ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นสารถีฝึกนรชน มีจักษุโดยรอบ มีพระลักษณะเกิดด้วยบุญตั้งร้อย ว่า เป็นที่พึ่ง ด้วยกระดูกเหล่านี้พร้อมด้วยลมหายใจ" นี่คือ คำของพระเทวทัตกล่าวครับ นัยยะว่า พระตถาคตเจ้าทรงเห็นฐานะนี้ จึงโปรดให้พระเทวทัตบวช ก็ถ้าพระเทวทัตนั้นจักไม่ได้บวชไซ้ร เป็นคฤหัสถ์ จักได้ทำกรรมหนัก จักไม่ได้อาจทำปัจจัยแห่งภพต่อไป ก็แล ครั้นบวชแล้ว แม้จะทำกรรมหนักก็จริง แต่ก็สามารถทำปัจจัยแห่งภพต่อไปได้

เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงโปรดให้เธอบวชแล้ว จริงอยู่ พระเทวทัตนั้นจักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า อัฏฐิสสระ ในที่สุดแห่งแสนกัปป์แต่กัปป์นี้

กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ก็ซาบซึ้งอย่างยิ่งครับ

ท่านอาจารย์: ฟังแล้วประพฤติตาม ตามที่ได้สะสมมาแต่ละชีวิต ประโยชน์สูงสุด คือเห็นคุณของพระรัตนตรัย ถ้าไม่มี มีใครจะรู้ว่า ผิดบ้างไหม? ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงโทษ และความเป็นจริงว่า เป็นธรรมทั้งหมด กว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา ชีวิตก็ระหกระเหินไปแต่ละชาติ แล้วแต่ละชาติถ้าไม่มีการได้ฟังพระธรรม มีหรือจะคิดได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์

เพราะฉะนั้น แม้ท่านพระเทวทัตก็ปลาบปลื้มยินดีในขณะที่นึกถึงคุณ ต้องแน่นอน เพราะเหตุว่า พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ให้ท่านบวช ที่ให้ท่านได้เข้าใจพระธรรมเป็นพื้นฐาน เกื้อกูลที่จะให้ชีวิตดำเนินต่อไป หลังจากที่หมดชีวิตในอเวจีมหานรกแล้ว ก็คือว่า สามารถที่จะถึงความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสูงสุด จากการที่ประพฤติผิดต่อพระองค์อย่างมหาศาล

แต่ คำ ของพระองค์ พระคุณของพระองค์มากล้น จนทำให้พระเทวทัตสามารถที่จะได้รู้ความจริงถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ใครจะมีคุณอย่างนี้ต่อใคร จะให้คนนั้นได้ถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทำผิดอย่างร้ายแรงปานใด อยู่ที่ความเข้าใจในความถูกต้องว่า อะไรผิด อะไรถูก ถ้ายังไม่รู้ก็กี่ชาติกี่ชาติก็ต้องประพฤติผิดอย่างนี้ต่อไป ใครก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่า การที่จะพอกพูนความเห็นผิด และการไม่รู้ความจริงว่า อะไรถูกอะไรผิด ไม่สามารถจะทำให้ได้รับประโยชน์ใดๆ แม้ว่า ได้ฟัง คำ ของพระพุทธเจ้า แต่รู้ไหม ประพฤติตามหรือเปล่า? พระองค์ไม่ได้เพียงให้ฟัง แต่คุณค่ามหาศาล คือความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจพระคุณสามารถที่จะทำให้ประพฤติในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้นได้

เพราะฉะนั้น ถ้าใครต้องการเข้าใจธรรม ให้เถิด เท่าที่สามารถจะให้ได้ แต่ละท่าน เป็นการให้สิ่งที่มีค่าที่สุด คือธรรมทาน ให้อะไรก็ยังหมด แต่ถ้าเป็นธรรมทานที่เขาสามารถเข้าใจได้ แม้ประพฤติผิดอย่างนั้นก็ยังสามารถที่จะพ้นผิดได้ เมื่อมีความเข้าใจยิ่งขึ้น จนกระทั่งประพฤติถูก จนกระทั่งหมดความเห็นผิดได้

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

พระเทวทัตเห็นโทษโดยความเป็นโทษ [ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท]

บวชแล้วไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย เป็นโทษอย่างยิ่ง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เฉลิมพร
วันที่ 3 พ.ย. 2567

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 4 พ.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 4 พ.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ