ปัญญาเห็นโทษจึงละได้

 
เมตตา
วันที่  4 พ.ย. 2567
หมายเลข  48842
อ่าน  359

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 264

ข้อความบางตอนจาก

กกจูปมสูตร

[๒๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีด้ามสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้นภิกษุหรือภิกษุณีรูปใด มีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น ภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิตไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายพวกเธอพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล

[๒๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอควรใส่ใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้เนืองนิตย์เถิด พวกเธอจะไม่มองเห็นทางแห่งถ้อยคำที่มีโทษน้อยหรือโทษมาก ที่พวกเธอจะอดกลั้นไม่ได้ หรือยังจะมีอยู่บ้าง ไม่มีพระเจ้าข้า เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงใส่ใจถึงโอวาทอันเปรียบได้ ด้วยเลื่อยนี้เนืองนิตย์เถิด ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์และความสุขแก่พวกเธอสิ้นกาลนาน ดังนี้แล


[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 437

๗. เรื่องพระสารีบุตรเถระ [๒๗๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น พฺราหฺมณสฺส" เป็นต้น.

พระเถระถูกพราหมณ์ตี

ได้ยินว่า มนุษย์เป็นอันมากในที่แห่งหนึ่ง กล่าวคุณกถาของพระเถระว่า "น่าชม พระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา ประกอบแล้วด้วยกำลังคือ ขันติ, เมื่อชนเหล่าอื่นด่าอยู่ก็ตาม ประหารอยู่ก็ตาม แม้เหตุสักว่าความโกรธ ย่อมไม่มี."

ครั้งนั้น พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่ง ถามว่า "ใครนั่น ไม่โกรธ."

พวกมนุษย์. พระเถระของพวกฉัน.

พราหมณ์. บุคคลผู้ยั่วให้ท่านโกรธ จักไม่มีกระมัง

พวกมนุษย์. พราหมณ์ ข้อนั้น หามีไม่.

พราหมณ์. ถ้าเช่นนั้น เราจักยั่วให้ท่านโกรธ.

พวกมนุษย์. ถ้าท่านสามารถไซร้, ก็จงยั่วให้พระเถระโกรธเถิด.

พราหมณ์นั้น คิดว่า "เอาละ, เราจักรู้กิจที่ควรทำ" ดังนี้แล้ว เห็นพระเถระเข้าไปเพื่อภิกษา จึงเดินไปโดยส่วนข้างหลัง ได้ให้การประหารด้วยฝ่ามืออย่างแรงที่กลางหลัง.

พระเถระมิได้คำนึงถึงเลยว่า "นี่ชื่ออะไรกัน" เดินไปแล้ว. ความเร่าร้อนเกิดขึ้นทั่วสรีระของพราหมณ์. เขาตกลงใจว่า "แหม พระผู้เป็นเจ้า สมบูรณ์ด้วยคุณ" ดังนี้แล้ว หมอบลงแทบเท้าของพระเถระ เรียนว่า

"ขอท่านจงอดโทษแก่กระผมเถิด ขอรับ" เมื่อพระเถระกล่าวว่า "นี่ อะไรกัน" จึงเรียนว่า "กระผมประหารท่านเพื่อประสงค์จะทดลองดู."

พระเถระกล่าวว่า "ช่างเถิด, เราอดโทษให้ท่าน." พราหมณ์จึง เรียนว่า "ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านอดโทษให้กระผมไซร้. ก็ขอจงนั่งรับภิกษาในเรือนของกระผมเถิด" ดังนี้แล้ว ได้รับบาตรของพระเถระ. ฝ่ายพระเถระได้ให้บาตรแล้ว. พราหมณ์นำพระเถระไปเรือนอังคาสแล้ว.


[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 881

แม้ผู้มีปัญญาทราม ก็จะนั่งในท่ามกลางแห่งอุปัฏฐากทั้งหลาย กล่าวอยู่ว่า เราย่อมสละปริยัติ ดังนี้ เป็นต้น ด้วยคำว่า เมื่อเราตรวจดูหมวดสามแห่งธรรมอันยังสัตว์ให้เนิ่นช้าในมัชฌิมนิกายอยู่ มรรคนั่นแหละมาแล้วพร้อมด้วยฤทธิ์ ชื่อว่าปริยัติ ไม่เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยยากสำหรับพวกเรา การสนใจในปริยัติ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ดังนี้ ย่อมแสดงซึ่งความที่ตนเป็นคนมีปัญญามาก. ก็เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่า ย่อมทำลายพระศาสนา. ชื่อว่า มหาโจรเช่นกับบุคคลนี้ ย่อมไม่มี เพราะว่า บุคคลผู้ทรงพระปริยัติ ชื่อว่า ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ หามีไม่.


อ.วิชัย: สืบเนื่องจากประเด็นของคุณตู่ ปริญญ์วุฒิ ที่กล่าวถึงเรื่องของชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ก็มีการพบปะบุคคล แล้วก็ประสบกับอารมณืที่ไม่น่าปราถนา ก็เป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจ ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้ให้ความเข้าใจว่า โกรธในอะไร? ซึ่งความเข้าใจในความเป็นธรรม ก็รู้ว่า ขณะที่บุคคลใดก็ตามประพฤติสิ่งที่ไม่ดี ขณะนั้นก็เกิดด้วยอำนาจของอกุศล แต่ว่า ถ้าหากเรามีอกุศลต่อบุคคลอื่น ก็เป็นอกุศลเหมือนกัน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลยครับ ซึ่งการปรุงแต่งของการเข้าใจธรรม ก็มีปัจจัยให้คิดอย่างนี้ครับ

ซึ่งอย่างข้อความใน อาฆาตวินยสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อระงับ หรือกำจัดความอาฆาตครับ อย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า "ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น" ซึ่งจากการที่มีโอกาสได้ศึกษาธรรม ไม่ใช่ว่า พระองค์ตรัสให้ไปทำเมตตาครับ แต่ว่า เป็นการเริ่มเข้าใจในกุศลประการหนึ่งซึ่งก็ต้องอาศัยการสะสมความเป็นมิตรไมตรีต่อบุคคลอื่น ที่จะสะสมความมีเมตตาครับ แต่ประเด็นที่จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ก็คือว่าการที่จะมีการปรุงแต่งของกุศล ไม่ว่าจะเป็นการคิดถึงว่า เป็นธรรม หรือว่าการที่จะมีกุศลที่เป็นไปในเมตตาในบุคคลอื่นๆ นะครับ ไม่ใช่เจาะจงเฉพาะขณะที่เราโกรธในบุคคลนั้น กุศลต่างๆ ที่จะมีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น หมายถึงว่าต้องมีปัจจัยจากการฟังพระธรรมในแต่ละส่วน อย่างในเรื่องของ เมตตาสูตร หรืออะไรต่างๆ ที่จะเป็นเหตุให้กุศลต่างๆ เหล่าเกิดขึ้นครับ กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์: ฟังแล้วเข้าใจใช่ไหม ไม่มีเรา?

อ.วิชัย: ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: แล้วมีอะไร? เห็นไหม? ธรรมฝ่ายดี หรือธรรมฝ่ายไม่ดี เมื่อไหร่จะเข้าใจอย่างนี้ จึงสามารถเพิ่มความเข้าใจว่า ถ้าแม้ ธรรมดี ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ดีก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย แล้วจะสะสมอะไร?

อ.วิชัย: ถ้าเห็นคุณของกุศล ก็เริ่มเข้าใจในกุศล และเห็นประโยชน์ที่จะค่อยๆ อบรมขึ้นครับ

ท่านอาจารย์: ไม่มีหนทางอื่นใช่ไหม นอกจากเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง สัจจธรรม

อ.วิชัย: กราบเท้าท่านอาจารย์ หมายถึงว่าก็ต้องพึ่งพระธรรมที่พระองค์จะแสดง แม้แต่กุศลที่จะอบรมเจริญ ก็ต้องมีความเข้าใจในกุศลเหล่าๆ นั้นด้วยใช่ไหมครับ

ท่านอาจารย์: ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจ ความจริง มั่นคงขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนมีกำลังว่า ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ไม่มีเขา แต่เป็นธรรม

ถ้าเป็นธรรมฝ่ายอกุศลก็ให้โทษ แล้วควรจะสะสมโทษไหม? ใครจะเอาโทษออกไปได้ ในเมื่อโทษนั้นเกิดขึ้นแล้ว

เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่รู้ความจริงว่า ไม่มีเรา เป็นธรรมหลากหลาย และธรรมใดเป็นโทษ ปัญญาเห็นโทษ จึงละได้

อ.วิชัย: ไพเราะมากครับ ปัญญาเห็นโทษจึงละได้ ก็ต้องพิจารณาตนเองว่า ยังไม่มีปัญญาครับ ประเด็นนี้ก็เข้าใจขึ้นครับ กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่..

๑. ปฐมอาฆาตวินยสูตร ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่..

นี่คือการอบรมเจริญปัญญา

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.วิชัย ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 4 พ.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ