กามหมายถึงอะไร [กามสูตร]

 
wittawat
วันที่  6 พ.ย. 2567
หมายเลข  48850
อ่าน  82

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กามหมายถึงอะไร?

คาถาที่ ๑ ของกามสูตร
"ถ้าว่าวัตถุกามจะสำเร็จแก่สัตว์ผู้ปรารถนาอยู่ไซร้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใด ได้สิ่งนั้นแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้มีใจเอิบอิ่มแน่แท้."


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 144
๔. กามชาดก
ว่าด้วยกามและโทษของกาม
[๑๖๓๗] เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ย่อมมีใจอิ่มเอิบแท้.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 148
ท่านเศร้าโศกเพราะเหตุไร ขึ้นชื่อว่า ทรัพย์และข้าวเปลือกของสัตว์เหล่านี้ ถึงคราวเกิดก็บังเกิด ถึงคราวเสียหายก็เสียหาย สิ่งไรๆ ที่ถึงการปรุงแต่ง จะชื่อว่า ไม่มีความเสียหายเป็นธรรมดาน่ะ ไม่มีดอก ท่านอย่าคิดไปเลย
พระศาสดาทรงปลอบเขาด้วยประการฉะนี้ เมื่อทรงแสดงธรรมอันเป็นที่สบายแก่เขา ตรัสกามสูตร เมื่อพระสูตรถึงปริโยสาน พราหมณ์ดำรงในโสดาปัตติผล พระศาสดาทรงทำให้เขาสร่างโศก เสด็จลุกจากอาสนะไปสู่พระวิหาร ...
พวกภิกษุพากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย พระทศพล ทรงทำไมตรีกับพราหมณ์จนคุ้นเคยกัน ทรงแสดงธรรมแก่เขาผู้เพียบแปล้ไปด้วยความโศก ด้วยอุบายครั้งเดียว ทรงทำให้เขาสร่างโศกได้ ให้ประดิษฐานในโสดาปัตติผลได้
พระศาสดา ... ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนเราก็ได้กระทำให้พราหมณ์นี้สร่างโศกแล้วเหมือนกัน ทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 152
กาลนั้น พระโพธิสัตว์เรียนศิลปะสำเร็จจากเมืองตักกศิลา มาสู่สำนักบิดามารดาในพระนครพาราณสี ฟังเรื่องของพระราชานั้น คิดว่า เราต้องถวายการรักษา ...
พระราชาตรัสว่า ถูกต้องละพ่อ เมื่อตรัสสมุฏฐานได้ตรัสเรื่องทั้งหมดตั้งต้นแต่ที่มาณพคนหนึ่งมาบอกว่า จักเอาราชสมบัติในสามพระนครมาให้ แล้วตรัสว่า
แน่ะพ่อ เราเจ็บคราวนี้เพราะตัณหา ถ้าเจ้าพอจะรักษาได้ ก็จงรักษาเถิด มาณพทูลถามว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์อาจได้พระนครเหล่านั้นด้วยการเศร้าโศกหรือ ตรัสว่า ไม่อาจดอกพ่อ กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น เหตุไรพระองค์จึงทรงเศร้าโศก
พระเจ้าข้า ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมละร่างกายของตนเป็นต้น ตลอดถึงสวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์ทั้งหมดไป แม้พระองค์จะยึดครองราชสมบัติในพระนครทั้งสี่ได้ พระองค์ก็เสวยพระกระยาหารในสุวรรณภาชนะทั้งสี่
บรรทมเหนือพระที่ทั้งสี่ ทรงเครื่องประดับทั้งสี่พร้อมกันคราวเดียวไม่ได้ พระองค์ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจตัณหา เพราะตัณหานี้ เมื่อเจริญขึ้น ย่อมไม่ปล่อยให้พ้นจากอุบายทั้งสี่ไปได้ พระมหาสัตว์ครั้นถวายโอวาทพระราชาดังนี้แล้ว เมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชา ได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า.
"เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้น ย่อมสำเร็จได้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ย่อมมีใจอิ่มเอิบแท้" ...


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 693
กามสูตรที่ทรงแสดงกับพราหมณ์เจ้าของนา
กามสูตรที่ ๑
ว่าด้วยเรื่องของกาม
[๔๐๘] ถ้าว่าวัตถุกามจะสำเร็จแก่สัตว์ผู้ปรารถนาอยู่ไซร้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใด ได้สิ่งนั้นแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้มีใจเอิบอิ่มแน่แท้.
ถ้าเมื่อสัตว์นั้นปรารถนาอยู่ เกิดความอยากได้แล้ว กามเหล่านั้นย่อมเสื่อมไปไซร้ สัตว์นั้นย่อมย่อยยับเหมือนถูกลูกศรแทง ฉะนั้น.
ผู้ใดงดเว้นกามทั้งหลาย เหมือนอย่างบุคคลเว้นศีรษะงูด้วยเท้าของตน ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมก้าวล่วงตัณหาในโลกนี้ได้.
นรชนใดย่อมยินดีกามเป็นอันมาก คือ นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส กรรมกร เหล่าสตรีและพวกพ้อง กิเลสทั้งหลายอันมีกำลังน้อย ย่อมครอบงำย่ำยีนรชนนั้นได้ อันตรายทั้งหลายก็ย่อมย่ำยีนรชนนั้น แต่นั้นทุกข์ย่อมติดตามนรชนผู้ถูกอันตรายครอบงำ เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น.
เพราะฉะนั้น สัตว์พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ งดเว้นกามทั้งหลายเสีย สัตว์ละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้เหมือนบุรุษ วิดเรือแล้วพึงไปถึงฝั่ง ฉะนั้น.
จบกามสูตรที่ ๑


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 1
[๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า :-
เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้นย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.

[๒] คำว่า กาม ในคำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ โดยหัวข้อได้แก่กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑.
วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสี ทาสา แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้นชนบท กองพลรบ คลัง และวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วัตถุกาม .
อีกอย่างหนึ่ง กามที่เป็นอดีต กามที่เป็นอนาคต กามที่เป็นปัจจุบัน ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก ชนิดเลว ชนิดปานกลาง ชนิดประณีต
เป็นของสัตว์ผู้เกิดในอบาย เป็นของมนุษย์ เป็นของทิพย์ ที่ปรากฏเฉพาะหน้า ที่เนรมิตเอง ที่ผู้อื่นเนรมิต ที่หวงแหน ที่ไม่ได้หวงแหน ที่ยึดถือว่าของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าของเรา ธรรมที่เป็นกามาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า อันบุคคลพึงใคร่ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา กามเหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม .
กิเลสกามเป็นไฉน? ความพอใจ ความกำหนัด ความพอใจและความกำหนัด, ความดำริ ความกำหนัดมาก ความดำริและความกำหนัด ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย
ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบในกาม ความยึดถือในกาม เครื่องกั้นคือกามฉันทะ ชื่อว่า กาม ... กามเหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม
คำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ มี ความว่า เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจกามอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อปรารถนากามอยู่.

[๓] คำว่า ถ้ากามนั้นย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น มีความว่า คำว่า สัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์.
คำว่า กามนั้น ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ซึ่งเรียกว่า วัตถุกาม . คำว่า ย่อมสำเร็จ สำเร็จโดยชอบ ได้ ได้เฉพาะ. ประสบ พบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น.

[๔] คำว่า ย่อมเห็นผู้อิ่มใจแน่นอน มีความว่า คำว่า แน่นอน เป็นคำกล่าวโดยส่วนเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความสงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความเคลือบแคลง เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองแง่ เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองง่าม เป็นคำกล่าวที่ไม่มีคำประกอบเป็นคำกล่าวไม่ผิด คำว่า แน่นอน นี้ เป็นคำกล่าวกำหนดแน่
คำว่า อิ่ม คือ ความอิ่ม ความ ปราโมทย์ ความเบิกบาน ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความชื่นใจ ความชอบใจ ความเต็มใจ ที่ประกอบพร้อมเฉพาะด้วยกามคุณ ๕.
คำว่า ใจ คือ จิต มนะ มานัส หทัย บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดแต่ผัสสะ เป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า ใจ.
ใจนี้ สหรคต คือ เกิดร่วม เกี่ยวข้อง ประกอบ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน กับด้วยความ อิ่มนี้.
คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจ คือ เป็นผู้มีใจยินดี มีใจร่าเริง มีใจเบิกบาน มีใจดี มีใจสูง มีใจปลาบปลื้ม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อม เป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.

[๕] คำว่า สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว มีความว่า คำว่า ได้ คือได้ ได้แล้ว ได้เฉพาะ ประสบ พบ. คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์.
คำว่า ตามปรารถนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะ. ตามปรารถนา ยินดี ประสงค์ มุ่งหมาย ชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-
เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้นย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.


[สรุป]

วัตถุกามหมายถึงอะไร?
- กาม โดยนัยแห่งข้อความที่ยกมาแสดงจากพระสูตรนี้ หมายถึง วัตถุกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เป็นต้น และ กิเลสกาม ได้แก่ โลภเจตสิก
- วัตถุกาม นี้ แสดงอรรถว่า อันบุคคลพึงใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา หมายถึง เป็นอารมณ์ของโลภเจตสิก
- กิเลสกาม นี้ คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความใคร่ ความหลงในกาม ความติดใจในกาม เป็นต้น ซึ่งหมายถึง โลภเจตสิก
- เมื่อวัตถุกามสำเร็จแก่สัตว์ ซึ่งได้แก่ มนุษย์ เทวดา พรหม เป็นต้น ย่อมนำมาซึ่งความอิ่มใจ หมายถึง นามธรรม คือ ความร่าเริง ยินดี เบิกบาน ชอบใจ ในวัตถุกามนั้น
- เคยได้รับสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่ ขณะนั้นมีสภาพธรรมปรากฏ ทั้งวัตถุกามที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
- มีจิตที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏ มีเจตสิกที่เกิดพร้อมจิตนั้นปรากฏเป็นความยินดี เบิกบานใจ อิ่มใจในวัตถุนั้นที่ปรากฏ
- เมื่อหลงลืมสติ ความจริงที่กำลังมีอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะปรากฏได้
- แต่ถ้าเป็นผู้มีปรกติอบรมเจริญสติ วัตถุกามก็ดี นามธรรมที่รู้วัตถุกามก็ดี สามารถที่จะเป็นอารมณ์ให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้สิ่งที่มีจริงได้

ขอกราบอนุโมทนา


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ