เหตุให้เกิดโทสะ ความขุ่นเคืองใจ

 
สารธรรม
วันที่  8 พ.ย. 2567
หมายเลข  48866
อ่าน  227

ถ้าเกิดโกรธ ส่วนใหญ่แล้วจะมองคนอื่น หรือเห็นโทษของคนอื่น แต่ลืมย้อนกลับมาพิจารณาตนเองว่า ตนเองได้กระทำผิดอะไรบ้างหรือไม่ แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าตัวท่านเองเป็นผู้ผิด เป็นเหตุให้คนอื่นกระทำกายวาจาอย่างนั้น ถ้าพิจารณาโทษของคนอื่นแล้วโกรธ ไม่เป็นประโยชน์เท่ากับพิจารณาความผิดของตนเอง


ความโกรธที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ลองพิจารณาถึงสาเหตุว่า มาจากเหตุอะไรที่ทำให้ความโกรธเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ความโกรธที่เกิดนั้นย่อมเป็นไปในบุคคลอื่นทั้งสิ้น เพราะทุกคนย่อมมีทั้งผู้ที่เป็นที่รักบ้าง ย่อมมีทั้งผู้ที่ไม่เป็นที่รักบ้าง

ประการแรก คือ เมื่อบุคคลใดกระทำสิ่งที่ไม่ดีต่อตัวท่านแล้ว เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยทำให้ท่านเกิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธขึ้น เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เวลาที่คนอื่นทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ มีใครไม่โกรธบ้าง ถ้ามี ต้องเป็นบุคคลที่หายาก ซึ่งบุคคลที่ไม่โกรธได้จริงๆ ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้น พระอนาคามีบุคคล

ความขุ่นใจสักเล็กน้อยมีไหม ถ้าผู้อื่นประพฤติสิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่ ไม่ดีไม่ควรต่อท่านแล้ว หรือกำลังทำสิ่งซึ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ท่าน หรือจะกระทำ สิ่งซึ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน ยังไม่ได้ทำ เพียงแต่รู้ว่าจะทำ ขณะนั้นก็เป็นปัจจัย ที่จะให้เกิดโทมนัสเวทนาหรือโทสมูลจิต

นอกจากตัวท่านเอง ยังไปถึงบุคคลซึ่งเป็นที่รักอีกว่า ใครทำสิ่งที่ไม่ดีไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นที่รักแล้วบ้าง ถ้าเขาทำแล้วก็โกรธ หรือเขากำลังทำอยู่ก็โกรธ หรือว่าเขาจะทำก็โกรธ

นอกจากนั้นยังเลยไปถึงผู้ซึ่งไม่เป็นที่รักอีกด้วย ดูลักษณะของความโกรธซึ่ง จะเกิดขึ้น ถ้าใครไม่เป็นที่รักที่พอใจ และคนอื่นทำดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนนั้น บางคนคงจะโกรธ เพราะคนนั้นทำสิ่งที่ดีกับคนที่ท่านไม่ชอบแล้ว ๑ หรือกำลังทำดี ทำประโยชน์กับผู้ที่ท่านไม่ชอบ ๑ หรือจะทำดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ท่าน ไม่ชอบ ๑

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ที่จะพิจารณาความโกรธของตนเองว่า ความโกรธในขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร และควรจะพิจารณาถึงการกระทำของท่านเองด้วย ไม่ใช่เพียงแต่พิจารณาถึงการกระทำของคนอื่น

ถ้าเกิดโกรธ ส่วนใหญ่แล้วจะมองคนอื่น หรือเห็นโทษของคนอื่น แต่ลืมย้อนกลับมาพิจารณาตนเองว่า ตนเองได้กระทำผิดอะไรบ้างหรือไม่แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าตัวท่านเองเป็นผู้ผิด เป็นเหตุให้คนอื่นกระทำกายวาจาอย่างนั้น ถ้าพิจารณาโทษของคนอื่นแล้วโกรธ ไม่เป็นประโยชน์เท่ากับพิจารณาความผิดของตนเองว่า มีความผิดอะไรหรือเปล่า เมื่อเห็นความผิดของตนเอง ย่อมสามารถแก้ความผิดนั้น และไม่โกรธคนอื่นด้วย

ถ้าเป็นความผิดของท่าน ท่านก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพื่อที่จะได้ไม่ทำอีก แต่ถ้าเป็นความผิดของคนอื่นโดยที่ท่านเองไม่ได้เป็นผู้ผิด การโกรธเคืองผู้ทำผิดก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกัน เพราะถ้าท่านโกรธคนอื่นที่ทำผิด ขณะที่โกรธนั้น เป็นความผิดของท่านเองอีกแล้วที่โกรธคนอื่น

เพราะฉะนั้น การพิจารณาโทษของตนเอง หรือการไม่สนใจในโทษของ บุคคลอื่น ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะไม่ทำให้เกิดความขุ่นเคืองหรือความอาฆาตขึ้น

สำหรับเหตุใกล้ที่จะให้เกิดโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ความไม่สบายใจ คือ อาฆาตวัตถุปทัฏฐาโน มีวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาตเป็นปทัฏฐาน

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อากังขวรรคที่ ๓ อาฆาตวัตถุสูตร ข้อ ๗๙ มีข้อความว่า

ขอเชิญรับฟัง

พยาปาทะ เป็นลักษณะของโทสะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
talaykwang
วันที่ 11 พ.ย. 2567

ชีวิตแสนสั้น ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้าจะมาถึงก่อนกัน ไม่ประมาทที่จะเจริญกุศลทุกประการ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลผู้มีคุณทุกท่าน ทุกประการ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ