ถ้าเกิดโกรธ ส่วนใหญ่แล้วจะมองคนอื่น
การพิจารณาโทษของตนเอง หรือการไม่สนใจในโทษของบุคคลอื่น ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะไม่ทำให้เกิดความขุ่นเคืองหรือความอาฆาตขึ้น
ถ้าเกิดโกรธ ส่วนใหญ่แล้วจะมองคนอื่น หรือเห็นโทษของคนอื่น แต่ลืมย้อนกลับมาพิจารณาตนเองว่า ตนเองได้กระทำผิดอะไรบ้างหรือไม่แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าตัวท่านเองเป็นผู้ผิด เป็นเหตุให้คนอื่นกระทำกายวาจาอย่างนั้น ถ้าพิจารณาโทษของคนอื่นแล้วโกรธ ไม่เป็นประโยชน์เท่ากับพิจารณาความผิดของตนเองว่า มีความผิดอะไรหรือเปล่า เมื่อเห็นความผิดของตนเอง ย่อมสามารถแก้ความผิดนั้น และไม่โกรธคนอื่นด้วย
ถ้าเป็นความผิดของท่าน ท่านก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพื่อที่จะได้ไม่ทำอีก แต่ถ้าเป็นความผิดของคนอื่นโดยที่ท่านเองไม่ได้เป็นผู้ผิด การโกรธเคืองผู้ทำผิดก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกัน เพราะถ้าท่านโกรธคนอื่นที่ทำผิด ขณะที่โกรธนั้น เป็นความผิดของท่านเองอีกแล้วที่โกรธคนอื่น
ขอเชิญรับฟัง
การโกรธเคืองผู้ทำผิดก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกัน เพราะถ้าท่านโกรธคนอื่นที่ทำผิด ขณะที่โกรธนั้น เป็นความผิดของท่านเองอีกแล้วที่โกรธคนอื่น
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่งค่ะ
กราบขอบพระคุณในธรรมทาน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อากังขวรรคที่ ๓ อาฆาตวัตถุสูตร ข้อ ๗๙ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการ เป็นไฉน คือ บุคคลย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑
ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑
ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑
ย่อมโกรธในที่ไม่ควร ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๙