ขันธภาระ เป็นภาระของใคร?

 
เมตตา
วันที่  9 พ.ย. 2567
หมายเลข  48869
อ่าน  300

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 58 - 59

๑. ภารสูตร

ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ

[๔๙] กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระ ผู้แบกภาระ การถือภาระ และการวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน พึงกล่าวว่า ภาระ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน คือ อุปาทานขันธ์ คือ รูป อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา อุปาทานขันธ์ คือ สัญญา อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร และ อุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ.

[๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน พึงกล่าวว่า บุคคลบุคคลนี้นั้น คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ผู้แบกภาระ.

[๕๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การถือภาระเป็นไฉน ตัณหานี้ใดนำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการถือภาระ.

[๕๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการวางภาระ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกในภายหลังว่า

[๕๓] ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล การถือภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้.

จบ ภารสูตรที่ ๑


[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 261

[๒๐๗] ดูก่อน ท่านยมกะ ส่วน พระอริยสาวก ผู้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดใน อริยธรรม ได้รับแนะนำใน อริยธรรม ดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดใน สัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำใน สัปปุริสธรรม ดีแล้ว ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ย่อมไม่เห็นอัตตามีรูป ย่อมไม่เห็นรูปในอัตตา หรือย่อมไม่เห็นอัตตาในรูป ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ย่อมไม่เห็นอัตตามีวิญญาณ ย่อมไม่เห็นวิญญาณในอัตตา หรือย่อมไม่เห็นอัตตาในวิญญาณ เขาย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็น อนัตตา ว่าเป็นอนัตตา ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่งว่าปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่าว่าเป็นผู้ฆ่า เขาย่อมไม่เข้าไปถือมั่นยึดมั่นซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของเรา อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันอริยสาวกนั้นไม่เข้าไปถือมั่นยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน.

ย. ข้าแต่ ท่านสารีบุตร ข้อที่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายของท่านผู้มีอายุทั้งหลายผู้เช่นนั้น เป็นผู้อนุเคราะห์ ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ว่ากล่าว พร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้นแท้ ก็แลจิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่น เพราะได้ฟังธรรมเทศนานี้ของ ท่านสารีบุตร.

จบ ยมกสูตรที่ ๓


[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 67

๘. อภินันทนสูตร

ว่าด้วยผลแห่งความเพลิดเพลินและไม่เพลิดเพลินในขันธ์ ๕

[๖๔] กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเพลิดเพลินรูป ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์.

[๖๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลไม่เพลิดเพลินรูป ผู้นั้นชื่อว่าไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์ได้.

จบ อภินันทนสูตรที่ ๘


อ.คำปั่น: ขันธภาระ ก็มีคำ ๒ คำ ก็คือ ขันธ์ คือสิ่งที่มีจริง ที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า อันนี้คือขันธ์ ซึ่งก็ขณะนี้เองเป็นขันธ์ แล้วก็มีอักคำหนึ่ง ก็คือ ภาระ หมายถึง เป็นสิ่งที่ต้องบริหารให้เป็นไป อันนี้คือความเป็นจริง ขณะนี้หรือเปล่า? ก็เป็นขณะนี้ครับ ซึ่งถ้ากล่าวถึงข้อความใน ภารสูตร ก็จะชัดเจนมาก ข้อความใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ภารสูตร มีดังนี้ครับ

ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระ คือบุคคลเครื่องถือมั่นภาระ เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้ นี่คือพระพุทธพจน์ครับท่านอาจารย์ ก็ยังมีภาระ และก็ยังแบกภาระอยู่ครับ เพราะว่า ยังมีธรรม ยังมีขันธ์ที่ต้องบริหารให้เป็นไปอยู่ซึ่งก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งหมดครับ

กราบเท้าท่านอาจารย์ในส่วนนี้ด้วยครับ เพราะว่า ถ้ากล่าวถึงชีวิตประจำวัน ก็การบริหารชีวิต การบริหารร่างกาย การทำกิจต่างๆ ไม่ได้คิดถึงความเป็นไปของธรรมเลยครับ แต่พอมีคำเตือน มีคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ แล้วที่ได้ฟังเมื่อสักครู่ ความเป็นไปของอกุศลเป็นเรื่องหนัก แต่ถ้าเป็นความติดข้องกับโทสะ ก็เห็นถึงความชัดเจนว่า โทสะนี้มีความหนักเห็นชัดเจน แต่โลภะนี่ ไม่ได้เห็นถึงความหนักเลยครับ กราบเท้าท่านอาจารย์ในความละเอียดตรงนี้ด้วยครับ

ท่านอาจารย์: ขันธภาระ เป็นภาระของใคร?

อ.คำปั่น: เป็นภาระของผู้ที่ยังมีขันธ์อยู่ของแต่ละคนครับ

ท่านอาจารย์: ลองคิดให้ลึกให้ละเอียด เป็นภาระของใคร?

อ.คำปั่น: เป็นภาระของใคร..

ท่านอาจารย์: ขันธภาระเป็นภาระของใคร?

อ.คำปั่น: เป็นภาระของบุคคลครับ

ท่านอาจารย์: ไม่มีบุคคลนะ เห็นไหม? กว่าเราจะเข้าไปถึงความจริงที่เรามักจะลืม เพราะยังไม่มั่นคง ขันธภาระ เป็นภาระของขันธ์

อ.อรรณพ: เป็นภาระของขันธ์ เป็นภาระของโลภะ ของขันธ์เอง ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่มีขันธ์ จะมีภาระไหม?

อ.อรรณพ: ถ้าไม่มีขันธ์ไม่มีภาระ เพราะตัวภาระก็คือขันธ์

ท่านอาจารย์: เหมือนกับว่า ถ้าไม่มีขันธ์ เราไม่มีภาระ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

ขันธภาระ ถ้าไม่มีขันธ์ไม่มีภาระ เพราะฉะนั้น ขันธภาระเป็นภาระของขันธ์ ไม่ใช่ภาระของใครเลยทั้งสิ้น ถูกต้องไหม?

อ.คำปั่น: ต้องชัดเจนครับท่านอาจารย์ เป็นภาระของขันธ์

ท่านอาจารย์: ใช่ ไม่เช่นนั้นเป็นภาระของเรา ขันธภาระ ไม่ใช่ ไม่มีบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

อ.คำปั่น: แม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงโดยความเป็นบุคคล ก็ต้องเข้าใจว่า ก็ต้องเป็นธรรม เป็นขันธ์นั่นแหละ

ท่านอาจารย์: พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยนัยยะของสมมติบัญญัติ แต่ถ้าไม่มีธรรม จะเอาอะไรมาสมมติ บัญญัติเป็นโน่นเป็นนี่

เพราะฉะนั้น ทุกคำมุ่งไปที่ธรรม จึงจะสามารถเข้าใจว่า ไม่มีอะไร นอกจากธรรม ไม่อย่างนั้น ก็ยังมีเราศึกษาเรื่องขันธ์ พอถึงคำนี้ ก็อ้อ เรามีตราบใด ก็มีภาระที่จะต้องเป็นขันธ์รับภาระของขันธ์ไป ไม่ใช่เลย ไม่มีอะไรทั้งสิ้นนอกจากขันธ์ ถูกไหม?

อ.คำปั่น: ถูกครับ

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 219

บัญญัติ ชื่อว่า กาล เพราะอาศัยธรรม นั้นๆ ก็กาลนั้น เป็นเพียงโวหาร (มิใช่ ปรมัตถ์) กองแห่งธรรมมีผัสสะ เป็นต้น พึง ทราบว่าเป็นการพร้อมเพรียง (สมูหะ) . ก็กาลนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นเพียงบัญญัติเท่านั้น เพราะไม่มีสภาวะ (ภาวะของตน) .

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 499

[๘๔๓] บัญญัติธรรม เป็นไฉน? การกล่าวขาน สมัญญา บัญญัติ โวหาร นาม การขนานนามการตั้งชื่อ การออกชื่อ การระบุชื่อ การเรียกชื่อ ของธรรมนั้นๆ อันใดสภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า บัญญัติธรรม

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เมื่อมีขันธ์ ขันธ์นั่นแหละมีภาระ เป็นภาระของขันธ์ที่จะต้องเห็นใช่ไหม?

อ.คำปั่น: ใช่ครับ

ท่านอาจารย์: เป็นภาระของขันธ์ที่ต้องคิด แล้วเอาขันธ์มาเป็นเราได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีเรา แต่มีขันธ์

อ.คำปั่น: ก็ชัดเจน เป็นภาระที่จะต้องบริหารให้เป็นไปครับ

ท่านอาจารย์: ของแต่ละขันธ์

อ.คำปั่น: ของแต่ละขันธ์ ชัดเจนมากๆ เลยครับ

ท่านอาจารย์: กว่าจะเอาเราออกไปได้ต้องละเอียดแค่ไหน ปานใด และตามความเป็นจริงที่จะต้องค่อยๆ ถึงการที่จะรู้ความจริงตามลำดับ ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธะ ต้องตรงกันทั้งหมด

ปริยัติ ไม่มีเราไม่มีเขา ปฏิปัตติ จะมีเราไปปฏิบัติได้อย่างไร?

อ.คำปั่น: วันนี้จะไม่ลืมครับ ขันธ์เป็นภาระของใคร? เป็นภาระของขันธ์ ครับท่านอาจารย์ จะเก็บไว้ในหทัยเลยครับ เตือนให้ได้เข้าใจในความเป็นจริงของธรรมครับ

ท่านอาจารย์: กว่าจะค่อยๆ ไตร่ตรองตรง ค่อยๆ เข้าใจละเอียดขึ้นในความเป็นขันธ์ จนกระทั่งเข้าใจภาระ ไม่มีภาระของใครเลย เพราะไม่มีใคร แต่มีขันธ์ และแต่ละขันธ์ก็มีภาระของขันธ์นั้นๆ

อ.คำปั่น: ซาบซึ้งจริงๆ ครับท่านอาจารย์ครับ

อ.อรรณพ: ดีมากเลยครับ กราบท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็มีภาระกันทั้งวันตลอดเวลาทุกขณะเลยใช่ไหมครับ?

ท่านอาจารย์: ใช่ไหมล่ะ? จริงไหมล่ะ? เราอยู่ไหนล่ะ? เห็นไหม กว่าจะไม่มีเรา

อ.อรรณพ: ถ้าไม่พูดถึงอกุศลที่หนัก แม้กระทั่งกุศล แม้กระทั่ง ปัญญาก็เป็นขันธ์ แล้วก็ต้องเป็นภาระด้วย ใช่ไหมครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ภาระที่จะต้องเข้าใจใช่ไหมถ้าเป็นปัญญา ปัญญาเกิดแล้วไม่เข้าใจได้ไหม?

อ.อรรณพ: ไม่ได้ครับ แต่แม้แต่ปัญญาซึ่ง ปัญญาก็เป็นขันธ์เป็นสังขารขันธ์ที่เลิศ แต่ก็ยังเป็นภาระอย่างไร ครับ

ท่านอาจารย์: จนกว่าจะดับสิ้นไม่มีขันธ์เกิดเลย หมดภาระ

อ.อรรณพ: ก็มีข้อความว่า วางภาระ หรือว่าปลงภาระ กราบท่านอาจารย์กล่าวถึงด้วยครับ

ท่านอาจารย์: วางภาระที่หนัก คือโลภะ ติดข้อง

อ.อรรณพ: ครับ เพราะฉะนั้น หมายความว่า ตัวขันธ์ที่เป็นภาระก็ยังมีความหนักมากน้อยแตกต่างกันอีก

ท่านอาจารย์: ก็เกิดมาทำไม เกิดมาทำหน้าที่อะไร แล้วก็ดับไป

อ.อรรณพ: เกิดมาทำ เพราะฉะนั้น ธรรมนี่หลายระดับหลายชั้นจริงๆ ครับ ตั้งแต่ท่านอาจารย์กล่าวตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ก่อนเมื่อสักครู่ใหญ่ๆ ว่า เรื่องนะ มีเรื่องโน้นเรื่องนี้เรื่องนั้น เรื่องให้ไม่สบายใจบ้าง เรื่องให้กังวลใจ เรื่องปัญหาสารพัดมากมาย แล้วก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความยินดีพอใจ แต่ว่า..

ท่านอาจารย์: ติดข้อง ยินดี พอใจ ก็ต้องติดข้อง

อ.อรรณพ: ติดข้องครับ เพราะฉะนั้น เรื่องให้ติดข้อง เรื่องให้ขุ่นเคือง มีทั้งนั้นเลยครับ เพราะฉะนั้น ก็เห็นเลยว่า เป็นอกุศลขันธ์ หนักจริงๆ แม้กุศลขันธ์ แม้ปัญญาก็จะต้องถึงระดับที่สูงสุดเลย คือวางตรงภาระ ไม่มีขันธภาระ ไม่มีการเกิด ไม่ต้องเกิดอีกแล้ว ปัญญาสูงสุดประมาณ ไม่มีอะไรที่จะสูงสุดเท่านี้ครับ คือหนทางพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผมก็เกิดความแช่มชื่น แต่ก็ยังเป็นภาระที่ต้องเกิดความแช่มชื่น ภาระที่ต้องเกิดการไตร่ตรอง ภาระที่ต้องค่อยๆ เข้าใจ แต่ถ้าไม่อาศัยภาระเหล่านี้ ก็ปลงภาระหนักๆ ไม่ได้

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่..

ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง [นามสูตร]

๑. กุกกุฬสูตร ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นของร้อน

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

ยึดถือขันธ์ ๕ เพราะไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ ว่างเปล่า

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ และ อ.คำปั่น ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 13 พ.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ