สติปัฏฐาน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางส่วนจากการสนทนาธรรมกับอ.อรรณพ และอ.คำปั่น 9/11/67 www.facebook.com/share/v/XmkdvhdsZMwCxyuE/?mibextid=QwDbR1
สติมีจริงๆ สติเป็นธรรมะที่มีสภาพรู้ระลึกได้ในทางที่ดีงาม ซึ่งมีหลายระดับ (จิตรู้สิ่งใด เจตสิกก็รู้สิ่งนั้นเจตสิกต่างๆ ก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ)
จิตที่ดีงามคือจิตที่มีเหตุที่ดีเกิดร่วมด้วย มีสภาพที่ไม่ติดข้อง (อโลภเจตสิก) ไม่เดือดร้อน (อโทสเจตสิก) เป็นอย่างน้อย หรือมีสติเกิดร่วมด้วย ... จิตที่ดีงามในขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย
สติปัฏฐาน เป็นสติที่ระลึกตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ ที่ไม่ใช่คน ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ต่างจากสติระดับขั้นทานขั้นศีล ขั้นความสงบของจิต แม้มีเมตตาในสัตว์บุคคล ขณะนั้นมีสติด้วย แต่มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ สตินั้นถึงดีงาม แม้มีปัญญาเกิดร่วมด้วยแต่ยังไม่เป็นปัฏฐานะ เพราะยังไม่เป็นสภาพที่ระลึกตรงปัฏฐานะคือปรมัตถอารมณ์ที่ปรากฏ
สติปัฏฐานเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นทางดำเนินของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย (ไม่หวั่นไหวกับสิ่งต่างๆ เพราะเป็นธรรมะไม่ใช่เรา)
ไม่ใช่เราที่จะเจริญสติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐานเจริญเพราะเหตุปัจจัย อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น?ความจำที่มั่นคงจากการฟังและเข้าใจที่มั่นคงตามลำดับเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดได้
สัญญาเป็นสัญญา ปัญญาไม่ใช่สัญญาจึงทำกิจของสัญญาไม่ได้ ... ปัญญาทำกิจของปัญญา สัญญาที่มั่นคงต้องมีปัญญาปรุงแต่ง
สัญญาเจตสิก จำได้ หมายรู้ เป็นเครื่องหมายให้จำได้ (สัญญาที่ทำเครื่องหมายไว้ในความเป็นธรรมะที่ไม่ใช่เรา ตั้งแต่ขั้นปริยัติ สัจญาณรอบที่หนึ่ง ปัญญาที่เข้าใจในความจริงและสติระลึกได้ตามสัญญาจำได้ว่าเป็นธรรมะไม่ใช่ตัวตนจนมั่นคง สิ่งที่กำลังปรากฏๆ ด้วยดี)
สิ่งที่เป็นประโยชน์คือค่อย ฟัง ค่อยๆ ศึกษาธรรมะ ... สิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคง ฟังแต่ละคำที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความเคารพ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ทุกคำล้วนเป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่ใช่ด้วยความอยาก ไม่ใช่ด้วยความต้องการให้สติปัฏฐานเกิด เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางสำเร็จ จึงต้องอาศัยพระธรรมที่ได้ฟังคอยกล่อมเกลาค่อยๆ เข้าใจความจริงยิ่งขึ้น มีความจำที่เป็นไปพร้อมกับความเข้าใจที่ถูกต้องในความจริงของธรรมะ
เข้าใจแค่ไหนก็แค่นั้น เพราะสิ่งที่ควรศึกษา ควรรู้มีมากจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นธรรมะทั้งหมด
ธรรมะคำเดียวแต่ละเอียดมาก หลากหลายมาก ที่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ก็เป็นธรรมะแต่ละหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นการที่จะค่อยๆ ขัดเกลาความไม่รู้ ขัดเกลาการยึดถือในสิ่งที่มีจริงเหล่านี้ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ก็ต้องได้ฟัง ได้สะสมความเข้าใจให้มีความมั่นคงในความเป็นจริงของธรรมะว่าเป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สะสมความเข้าใจไป มีความมั่นคงขึ้น ก็สามารถเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีการระลึกรู้ตรงลักษณะของธรรมะได้ นี่เป็นผลที่ได้อบรมปัญญาตั้งแต่ขั้นต้นซึ่งสำคัญมากคือการฟัง
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลจิตของอ.อรรณพ หอมจันทร์ และอ.คำปั่น อักษรวิลัย
ยินดีในกุศลของทุกท่านค่ะ