กิเลสกาม [สัทธัมมปัชโชติกา]

 
wittawat
วันที่  14 พ.ย. 2567
หมายเลข  48910
อ่าน  66

กิเลสกามคืออะไร?
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอกราบระลึกถึงคุณท่านพระอัครสาวกธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 58
พระสารีบุตรเถระแสดงวัตถุกามอย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงกิเลสกาม จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า กตเม กิเลสกามา ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺโท ได้แก่ ความกำหนัดอย่างอ่อนๆ .
บทว่า ราโค ได้แก่ความกำหนัดที่มีกำลังแรงกว่าความพอใจนั้น.
ความกำหนัดทั้งสามเบื้องบน มีกำลังแรงกว่าความกำหนัดเหล่านี้.
บทว่า กาเมสุ ได้แก่ ในกามคุณ ๕.
บทว่า กามจฺฉนฺโท ได้แก่ ความพอใจ กล่าวคือความใคร่ ไม่ใช่ ใคร่เพื่อจะทำงาน ไม่ใช่ใคร่ในธรรม.
ความกำหนัดคือความใคร่ ด้วย อรรถว่าใคร่ และด้วยอรรถว่ายินดี ชื่อว่า กามราคะ ความกำหนัดคือ ความใคร่.
ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ด้วยสามารถแห่งความใคร่ และ ด้วยสามารถแห่งความเพลิดเพลิน ฉะนั้นจึงชื่อว่า กามนนฺทิ ความ เพลิดเพลินคือความใคร่.
ในบททั้งปวงพึงทราบอย่างนี้.
ชื่อว่า กามตัณหา เพราะอรรถว่ารู้ประโยชน์ของกาม แล้วจึง ปรารถนา.
ชื่อว่า กามสิเนหะ เพราะอรรถว่าเสน่หา.
ชื่อว่า กามปริฬาหะ เพราะอรรถว่าเร่าร้อน.
ชื่อว่า กามุจฉา เพราะอรรถว่าหลง.
ชื่อว่า กามัชโฌสานะ เพราะอรรถว่ากลืนกินสำเร็จ.
ชื่อว่า กาโมฆะ เพราะอรรถว่าท่วมทับ คือให้จมลงในวัฏฏะ.
ชื่อว่า กามโยคะ เพราะอรรถว่าประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ.
ความยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิอย่างมั่น ชื่อว่า อุปาทาน .
ชื่อว่า นีวรณะ เพราะอรรถว่ากั้นจิต คือหุ้มห่อจิตไว้.


[สรุป]
กาม หมายถึง สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (บทตั้งต้น หรืออุทเทส)

จำแนก เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ วัตถุกาม และ กิเลสกาม (ขยายความบทตั้งต้น หรือนิทเทส)

กิเลสกาม หมายถึง ความพอใจ (ฉนฺโท หมายถึง ความกำหนัดกำลังอ่อน) (ขยายความนิทเทส หรือปฏินิทเทส)
ความกำหนัด (ราโค หมายถึง ความกำหนัดที่แรงกว่าความพอใจ)
ความพอใจและความกำหนัด (ฉนฺทราโค),
ความดำริ (สงฺกปฺโป)
ความกำหนัดมาก (ราโค)
ความดำริและความกำหนัด (สงฺกปฺปราโค ท่านแสดงว่า ๓ อย่างข้างต้น กำหนัดแรงกว่า ฉนฺโท และ ราโค)
ความพอใจคือความใคร่ (กามจฺฉนฺโท)
ความกำหนัดคือความใคร่ (กามราคะ)
ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย (กามนนฺทิ)
ความปรารถนาในกาม (กามตัณหา เพราะรู้ประโยชน์ของกาม แล้วจึง ปรารถนา)
ความเสน่หาในกาม (กามสิเนหะ)
ความเร่าร้อนในกาม (กามปริฬาหะ)
ความหลงในกาม (กามุจฉา)
ความติดใจในกาม (กามัชโฌสานะ)
ห้วงคือกาม (กาโมฆะ หมายถึง ท่วมทับ จมในวัฏฏะ)
ความประกอบในกาม (กามโยคะ หมายถึง ประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ.)
ความยึดถือในกาม (กามุปาทานํ โดย อุปาทาน หมายถึง ความยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิอย่างมั่น)
เครื่องกั้นคือกามฉันทะ (กามจฺฉนฺทนีวรณ โดย นีวรณะ หมายถึง สภาพที่กั้นจิต คือหุ้มห่อจิตไว้)

กราบอนุโมทนา


กราบเรียน อ. คำปั่น

ข้อความภาษาบาลีที่ท่านพระสารีบุตรแสดงเรื่อง กิเลสกาม จากมหานิทเทส

สุตฺต ขุ. มหานิทฺเทโส - หนาที่ 2

"กตเม กิเลสกามา ฯ ฉนฺโท กาโม ราโค กาโม ฉนฺทราโค
กาโม สงฺกปฺโป กาโม ราโค กาโม สงฺกปฺปราโค กาโม
โย กาเมสุ กามจฺฉนฺโท กามราโค กามนนฺทิ กามตณฺหา
กามเสฺนโห กามปรฬาโห กามมุจฺฉา กามชโฌสานํ กาโมโฆ
กามโยโค กามุปาทาน กามจฺฉนฺทนีวรณ"

มีคำว่า กาโม อยู่ตลอดเลยครับ ไม่ทราบว่า ในที่นี้ กาโม เป็นคำนาม ที่แปลแยกไปเลย หรือว่าพูดเพื่อบอกว่า ฉันทะ เป็น กาม หรือว่าอย่างไรครับ กราบให้ความรู้ด้วยครับ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ยินดีในกุศลวิริยะของคุณวิทวัตอย่างยิ่ง ในการให้ธรรมเป็นทานซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

สำหรับ คำว่า กาโม ที่ปรากฏในบทที่อธิบายกิเลสกาม นั้น จะแปลว่า "เป็นกาม" คือ เป็นกิเลสกาม ซึ่งจะขยายบทที่อยู่ข้างหน้า อย่างเช่นในบทว่า ฉนฺโท กาโม - ความพอใจอย่างอ่อน เป็นกาม (กิเลสกาม) ราโค กาโม - ความใคร่ เป็นกาม (กิเลสกาม) เป็นต้น ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 19 พ.ย. 2567

ภาษาบาลีใช้คำว่า “กาม” เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ความหมายของ “กาม” หมายความถึง สิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ และแม้แต่ ความพอใจนั้นเองก็เป็น กิเลสกาม ซึ่งเป็นกิเลสชนิดหนึ่งที่พอใจติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และสิ่งที่เป็นที่ติดข้อง คือ วัตถุกาม สิ่งที่เป็นที่ตั้งของความพอใจ

ขอเชิญรับฟัง

วัตถุกาม - กิเลสกาม - กับการรู้จักตนเอง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wittawat
วันที่ 20 พ.ย. 2567

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ