พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี [ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ]

 
เมตตา
วันที่  16 พ.ย. 2567
หมายเลข  48923
อ่าน  50

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 339 - 340

ท่านอธิบายไว้ว่าอย่างไร. ท่านอธิบายว่า ภิกษุผู้อยู่ป่า ประสงค์จะบรรลุสันตบทอยู่ หรือบรรลุสันตบทนั้นด้วยโลกิยปัญญาแล้ว ปฏิบัติเพื่อบรรลุสันตบทนั้น ไม่อาลัยในกายและชีวิต ด้วยประกอบด้วยปธานิยังคะข้อ ๒ และ๔ พึงเป็นผู้อาจปฏิบัติเพื่อแทงตลอดสัจจะ กรณียกิจที่ควรทำไรๆ นั้นใด ไม่ว่าสูงต่ำของสพรหมจารี ในการบริกรรมกสิณสมาทานวัตรเป็นต้น และในการซ่อมแซมบาตรจีวรเป็นต้นของตน ก็พึงอาจ พึงขยัน ไม่เกียจคร้านสามารใน กรณียกิจ เหล่านั้น และในกิจเช่นนั้น อย่างอื่นก็เหมือนกัน. แม้เมื่อเป็นผู้อาจ ก็พึงเป็นผู้ตรงด้วยการประกอบด้วยปธานิยังคะข้อที่ ๓. แม้เมื่อเป็นผู้ตรงก็พึงเป็นผู้ตรงด้วยดี ด้วยเป็นผู้ตรงคราวเดียว หรือด้วยเป็นผู้ตรงในเวลายังหนุ่ม ด้วยไม่ถึงสันโดษแต่ทำไม่ย่อหย่อนบ่อยๆ จนตลอดชีวิต. หรือว่า ชื่อว่า ตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่า ตรงดี (สุหุชู) เพราะ ไม่มีมายา. หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่า ตรงดี เพราะละความคดทางใจ. หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่า ตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง. พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี ด้วยอารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน ด้วย สิกขาข้อ ๒ - ๓ ข้างต้น และด้วยปโยคสุทธิและอาสยสุทธิ ด้วยประการฉะนี้.


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ