การฝึกสมถกรรมฐานต้องมีศีลบริสุทธิ์และตัดปลิโพธ 10
ผมเคยฝึกสมถกรรมฐานที่ถูกวิธีกับอาจารย์ท่านหนึ่งคือฌาน ๔ แต่มาวันหนึ่งนั่งมาได้ประมาณ ๑ เดือนกว่าๆ ได้มาเจอกับพระท่านที่วัดหนึ่งท่านให้ดูตำราที่พระไตรปิฏก การที่จะเรียนกรรมฐานนั้น ต้องศีลบริสุทธิ์และตัดปลิโพธ ๑๐ ก่อนจึงจะฝึกกรรมฐานได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นบ้าหรือจิตวิปลาสได้ ผมสงสัยว่า
๑. ผมได้ถามไปยังกัลยามิตรท่านหนึ่งที่เคยฝึกกรรมฐานมาด้วยกัน เค้าบอกว่าก่อนนั่งเราก็วิรัติศีล ศีลก็บริสุทธิ์แล้ว และการตัดปลิโพธ ๑๐ นั้น ก็ให้จิตไปกำหนดที่องค์ภาวนาในที่นี้คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็ถือว่าเป็นการตัดกังวลต่างๆ ได้แล้ว และท่านก็บอกว่าอาจารย์ที่สอนวิธีนี้ก็สอนวิธีที่ถูกต้องแล้ว คือ รู้วิธีการเข้าออก ฌาน ๔ วิธีนี้ ถือว่าปลอดภัยมั้ยครับ? คือกลัวจะเป็นบ้าครับ เห็นมาและฟังมาหลายคนว่านั่งกรรมฐานแล้วเป็นบ้าครับ
๒. และวิธีของพระท่าน ทำไมดูต้องเคร่งขนาดนั้นครับ หรือพระท่านไม่อยากให้ฝึกกรรมฐาน ซึ่งผมเห็นว่าฆราวาสก็น่าจะฝึกสมถกรรมฐานได้นะครับ และก็เป็นบุญใหญ่ด้วยครับ และการจะให้ตัดกังวล ๑๐ คงเป็นไปไม่ได้เพราะต้องอยู่ในโลกของวัตถุที่ยังมีกิเลสอยู่ครับ
ขอผู้รู้ช่วยตอบแสดงความคิดเห็นหน่อยนะครับ ขอบคุณครับ
การนั่งกรรมฐานโดยขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล จิตสงบเป็นอย่างไร ขณะนั้นรู้อะไร การนั่งดังกล่าวไม่ควรทำ
ควรศึกษาพระธรรมคำสอนให้เข้าใจ และศึกษาตามปรกติในชีวิตประจำวัน อนึ่งตามนัยของวิสุทธิมรรคสมาธินิเทศ มีอธิบายลำดับของผู้เจริญสมถภาวนาเพื่อให้ถึงฌานขั้นต่างๆ นั้น ต้องอาศัยพื้นฐานจิตที่ดี คือมีการศึกษาอย่างดี มีความประพฤติทางกาย วาจาที่ดี บริสุทธิ์ ไม่ติดข้องกังวลกับเรื่องทางโลก อาศัยกัลยาณมิตรที่มีปัญญารู้วิธีการบำเพ็ญที่ถูกต้องจึงจะบำเพ็ญให้ถึงฌานขั้นต่างๆ ได้
องค์ธรรมของการบรรลุโสดาบันมี ๔ ข้อ
๑. คบสัตบุรุษ
๒. ฟังธรรมของสัตบุุรุษ
๓. มีโยนิโสมนสิการ
๔. ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขณะที่ทำปัญญารู้อะไร ขณะนี้มีความจริง สนใจที่จะรู้ไหม ขณะที่ต้องการบุญ จิตเป็นอะไร พระพุทธศาสนาสอนให้ละแม้ความต้องการบุญ หรือสอนให้ได้บุญและหนทางที่จะดับกิเลสคืออะไร สมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาครับ ในเว็ปนี้มีไฟล์ธรรมดีๆ ทั้งนั้น ลองฟังดูนะ ถ้าไม่ฟังให้เข้าใจ ทุกอย่างก็อบรมไม่ได้ ขออนุโมทนาครับ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม จาก ...
คำบรรยายของ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ปลิโพธ เป็นความห่วงใย เป็นความกังวล
ขอต่อไปถึงเรื่องของปลิโพธ ซึ่งคำว่า ปลิโพธ เป็นความห่วงใย เป็นความกังวล ผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ย่อมมีความกังวล ย่อมมีความห่วงใย เป็นของที่แน่นอนที่สุด ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เพราะเหตุว่าเรื่องของปลิโพธ มีกล่าวไว้โดยละเอียดใน วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส วิสุทธิมรรค มี ๓ ภาค คือ ศีลนิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทส