กฐินที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ เป็นอย่างไร
๑. กฐินที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ ต้องเป็นอย่างไรครับ
๒. พระสงฆ์จำพรรษาครบ ๓ เดือน ไม่ขาดพรรษา และปวารณาออกพรรษา ในอาวาสเพียง ๑ รูป สามารถรับกฐินได้หรือไม่ครับ (หรือสามารถทำได้โดยการนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นมาร่วมในวันทอดกฐินอีก ๔ รูปให้ครบ ๕ รูป ถูกต้องตามพุทธบัญญัติหรือไม่ครับ)
๓. แล้วกฐินเดาะคืออะไรครับ
ในวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๕ ข้อ ๓๖๓ - หน้าที่ 162-163
มีการนำมากล่าวอ้างว่า ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีมีภิกษุจำพรรษารูปเดียว คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้ถวายผ้าพร้อมกล่าวว่า พวกเราขอถวายแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย! เราอนุญาตผ้าเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียวจนถึงคราวเดาะกฐิน
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมากครับ
ศุภรัตน์ ภู่เจริญ
เพื่อการเผยแพร่สิ่งที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติครับ
คำว่า "กฐิน" แปลว่าไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับเย็บจีวรของพระภิกษุ โดยความหมายถึง ผ้า ผืนใดผืนหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต แก่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาต้น ครบ ๓ เดือน ในอาวาสนั้นแม้จะมีภิกษุอยู่จำพรรษาเพียงรูปเดียว ก็สามารถรับกฐินได้ โดยนิมนต์ภิกษุมีภิกษุอยู่จำพรรษาหลัง ภิกษุผู้มีพรรษาขาด ภิกษุผู้ไม่ได้เข้าจำพรรษา หรือ ภิกษุที่อยู่ในวัดอื่น อีก ๔ รูป มาเป็นคณปูรกะ (ให้เต็มคณะ) เพื่อให้ภิกษุ ๔ รูป เป็นผู้สวดมอบผ้าให้กับภิกษุรูปเดียวนั้น เพราะเหตุว่า สังฆกรรมในการทำกฐิน ต้องมีภิกษุอย่างต่ำ ๕ รูป (ต่ำกว่า ๕ รูปไม่ได้) อย่างมากไม่จำกัดเป็นแสนรูปก็ได้
กฐิน เป็นสังฆกรรมของสงฆ์อย่างหนึ่งที่ภิกษุทุกรูปต้องร่วมกันทำ กิจกรรมทั้งหมดต้องให้เสร็จภายในวันนั้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์ได้กรานกฐินถูกต้องตามวินัย จะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการคือ ได้รับการผ่อนผันทางวินัยบางข้อ เช่น เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา และ ฉันคณะโภชน์ได้ เป็นต้น
คำว่า "กฐินเดาะ" คือ รื้อกฐิน หมายความว่า ไม่ได้รับอานิสงส์ของกฐิน หรือหมดเขตอานิสงส์กฐิน
รายละเอียดโปรดศึกษาใน ...
[เล่มที่ 7] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ กฐินขันธกะ - หน้าที่ 193-240