ผู้ทรงธรรมและไม่ทรงธรรม [ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท]
[เล่มที่ 43] พ ระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 74 - 75
ลักษณะผู้ทรงธรรมและไม่ทรงธรรม
พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมากว่า "เป็นผู้ทรงธรรม" ส่วนผู้ใดเรียนคาถาแม้คาถาเดียวแล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย, ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม" ดังนี้แล้ว ตรัส พระคาถานี้ว่า:-
๓. น ตาวตา ธมฺมธโร ยาวตา พหุ ภาสติ โย จ อปฺปมฺปิ สุตฺวาน ธมฺมํ กาเยน ปสฺสติ ส เว ธมฺมธโร โหติ โย ธมฺมํ นปฺปมชฺชติ.
บุคคล ไม่ชื่อว่าทรงธรรม เพราะเหตุที่พูดมาก ส่วนบุคคลใด ฟังแม้นิดหน่อย ย่อมเห็นธรรมด้วยนามกาย, บุคคลใด ไม่ประมาทธรรม, บุคคลนั้นแล เป็นผู้ทรงธรรม.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวตา เป็นต้น ความว่า บุคคลไม่ชื่อว่าผู้ทรงธรรม เพราะเหตุที่พูดมาก ด้วยเหตุมีการเรียน และการทรงจำและบอกเป็นต้น. แต่ชื่อว่าตามรักษาวงศ์ รักษาประเพณี.
บทว่า อปฺปมฺปิ เป็นต้น ความว่า ส่วนผู้ใดฟังธรรมแม้มีประมาณน้อย อาศัยธรรมะ อาศัยอรรถะ เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม กำหนดรู้สัจจะมีทุกข์เป็นต้น ชื่อว่าย่อมเห็นสัจธรรม ๔ ด้วยนามกาย ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม.
บาทพระคาถาว่า โย ธมฺมํ นปฺปมชฺชติ ความว่า แม้ผู้ใดเป็นผู้มีความเพียรปรารภแล้ว หวังการแทงตลอดอยู่ว่า " (เราจักแทงตลอด) ในวันนี้ๆ แล" ชื่อว่าย่อมไม่ประมาทธรรม, แม้ผู้นี้ก็ชื่อว่าผู้ทรงธรรมเหมือนกัน.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องพระเอกุทานเถระ จบ.